"คอบร้าโกลด์"ขยายวง มิตรภาพและแสนยานุภาพ

การฝึกร่วมผสมทางทหารประจำปีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก "คอบร้าโกลด์" มีเจ้าภาพคือกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นแปซิฟิก เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของกองทัพไทย ในการจัดกำลังไปปฏิบัติภารกิจ ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธ ศาสตร์การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง

ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 33 "คอบร้าโกลด์ 14" มีทหารไทยราว 4,000 นาย ทหารอเมริกัน 9,000 นาย

ที่น่าสนใจคือมีประเทศเข้าร่วมการฝึกถึง 7 ประเทศ อยู่ในอาเซียน 4 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อีก 3 ประเทศคือ สหรัฐ เจ้าภาพ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ พันธมิตรหลักของสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีนายทหารฝ่ายเสนาธิการผสมนานาชาติจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี บรูไน บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล มองโกเลีย และฟิลิปปินส์

ส่วนประเทศที่ส่งนายทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก 11 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า ลาว เวียดนาม จีน แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ยูเครน รัสเซีย ปากีสถาน และอังกฤษ

ปรากฏการณ์ที่น่าจับตาคือ "จีน" จัดผู้สังเกตการณ์ 17 นาย เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์เป็นครั้งแรก

พล.ท.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เจ้ากรมยุทธการทหาร ปฏิบัติ หน้าที่ผู้อํานวยการฝึกคอบร้าโกลด์กล่าวว่า การฝึกนี้ช่วยนำประสบการณ์ของแต่ละประเทศมาแบ่งปันกัน ทำให้มิตรประเทศใกล้ชิดกันในทุกมิติทางการทหาร

การฝึกไม่ได้เน้นการรบเพียงอย่างเดียว ยังมีการฝึกในด้านการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปีนี้จีนเข้าร่วมเป็นครั้งแรกด้านบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการฝึกในโครงการช่วยเหลือประชาชน การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สําหรับชุมชน และโครงการแพทย์เคลื่อนที่เข้าให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง การ กําหนดสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ให้ผู้เข้ารับการฝึกร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจะสรุปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติจริงต่อไป

"ประเด็นที่ว่าจีนจะเข้าร่วมครั้งต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประชุมเตรียมการฝึกที่ฮาวาย และอินโดนีเซียในปี 2558" พล.ท.ธารไชยยันต์กล่าว

ผลงานของจีนครั้งนี้ได้รับความชื่นชมจากสหรัฐ จ่าสิบเอกเจมส์ มัสนิกคี ผู้วางแผนการประสานความร่วมมือด้านสุขภาพยกย่องทักษะและความทุ่มเทของวิศวกรทหารจีน

"จีนสนับสนุนทั้งผู้ชำนาญการพิเศษและผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต้องใช้ในสนามรบจริง พวกเราประสานความร่วมมือกันด้วยดี กระทั่งเกิดมิตรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พวกเราเฝ้ารอว่าจะได้ทำงานร่วมกับทหารจีนอีกในการฝึกปีหน้า" ผู้บัญชาการทหารอเมริกันกล่าว

ด้านนายหยาง ปิน เจ้าหน้าที่แพทย์กองทัพจีนกล่าวว่า ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของการฝึกดังกล่าวคือการทำลายกำแพงระหว่างประเทศและใช้รูปแบบการฝึกแบบผสม

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมอง ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่า การฝึกของสหรัฐในเอเชียเป็นการส่งสัญญาณเตือนจีน และการเชิญจีนเข้าร่วมเป็นความพยายามของทุกฝ่ายที่หวังกลบเกลื่อนประเด็นดังกล่าว เพราะจีนเพิ่มงบประมาณด้านการทหารปีละกว่าร้อยละ 10

สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์วิเคราะห์ว่า หลังจากสงครามในตะวันออกกลางกินเวลานานกว่า 10 ปี มาถึงวาระนี้สหรัฐปรับยุทธวิธีทางการทหารและนโยบายต่างประเทศ มุ่งให้ความสำคัญกับเอเชียเป็นครั้งแรกเพื่อคานอำนาจจีน

สหรัฐกลัวพันธมิตรจะได้รับผลกระทบเนื่องจากจีนแผ่ขยายอิทธิพลทางทหาร ทั้งพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีพิกัดยิงถึงกองเรือของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเต็มที่กับการกับฝึกครั้งนี้

ขณะที่จีนมองอย่างไม่สบายใจถึงการที่สหรัฐส่งกองทัพเข้ามาในภูมิภาคนี้ เป็นการหวนกลับมายึดครองเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐในรอบ 60 ปี

พันเอกแมตต์ แม็กฟาร์ลีน ของสหรัฐกล่าวว่า การฝึกนี้เป็นการส่งสารถึงพันธมิตรให้ทราบว่าสหรัฐมีศักยภาพในการสู้รบ และส่งสารปรามใครก็ตามที่เป็นภัยต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

ด้าน นายพลแจ๊ก คีน นักวิเคราะห์ความมั่นคงแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐซึ่งปลดเกษียณแล้วกล่าวว่า มันเป็น สารที่ทรงอิทธิพล สหรัฐร่วมฝึกทั้งพลราบและพลร่ม เพื่อสาธิตให้จีนเห็นว่าสหรัฐมีประสิทธิภาพเพียงใดในการช่วยเหลือพันธมิตรเอเชีย ซึ่งอยู่รอบจีนไล่ตั้งแต่อินเดีย ไปจนถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ด้านนายทหารจีนคนหนึ่งเผยว่า ผลกระทบทางทหารนี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่จีนตอบรับเข้าร่วมการฝึกเป็นครั้งแรก

จีนพัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือรบอย่างเงียบๆ ซึ่งมีศักยภาพยิงเครื่องบินสหรัฐและเรือรบอื่นๆ ในรัศมี 2,000 ก.ม. โดยวิ่งด้วยความเร็ว 4-5 ก.ม.ต่อวินาที และไปถึง เป้าหมายได้เร็วที่สุดในเวลาไม่ถึง 12 นาที ซึ่งกองเรือรบสหรัฐไม่มีอาวุธทรงพลังมารับมือ จึงผลักดันให้รัฐสภาเห็นชอบให้พัฒนาระบบสกัดกั้นใหม่ออกมาให้ได้โดยเร็ว

ผู้นำด้านการทหารสหรัฐต่างตระหนักดีว่ากองทัพจีนพัฒนาไปไกลขนาดไหน โดยเฉพาะพิสัยการโจมตี

22 ก.พ. 57 เวลา 10:12 4,207 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...