เหตุการณ์สะเทือนพระทัยของพระราชบิดา ในคราสูญเสียพระธิดา2พระองค์



 

เหตุการณ์สะเทือนพระทัยของพระราชบิดา ในคราสูญเสียพระธิดา2พระองค์

 

 

 

 

   
 
 
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี 
 
 
  หลังจากพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี พระธิดาองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์(เจ้าคุณจอมมารดาแพ) สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานน้ำสรงพระศพ และพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพ แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพและเชิญลงพระลองในประกอบพระโกศ กุดั่นใหญ่ แล้วจึงเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานแว่นฟ้า 3 ชั้น ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
 
 
   ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวมีพระราชดำริว่า ต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระองค์ทรงได้พืชพันธุ์มาจากพุทธคยา แล้วทรงเพาะและปลูกไว้ที่วัดนิเวศธรรมประวัติเป็นวันเดียวกับวันประสูติของ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหา โพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติ โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน
 
 
  ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีออกจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ออกไปทางประตูศักดิไชยสิทธิ์ ขึ้นประดิษฐานบนรถพระศพ แล้วประกอบพระลองในด้วยพระโกศทองเล็กห้อยเฟื่อง แล้วจึงเชิญพระศพไปยังสถานีรถไฟเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอินต่อไป
 
 
 
 
 
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เมื่อคราวใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
 
 
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวัง บางปะอินก่อนล่วงหน้า 1 วัน เมื่อพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ รอรับพระศพ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อ เชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอิน การจัดขบวนเรือครั้งนี้ โปรดฯ ให้จัดขบวนเรือยาวอย่างขบวนเรือถวายผ้าพระกฐิน หลังจากขบวนเรือถึงพระราชวังบางปะอินแล้ว เจ้าหน้าที่เชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาววังว่า ใครไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นคนนอกสังคมชาววัง  เนื่องด้วยพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี นั้นเป็นพระธิดาที่ประสูตินอกพระเศวตฉัตร คือ ประสูติในตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระอิสริยยศ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่4 ซึ่งประสูติแต่หม่อมแพ   ดังนั้นจึงเป็นพระธิดาที่รัชกาลที่5 ทรงสนิทเสน่หามาแต่กาลเก่า ถึงกับทรงยกย่องกรมขุนสุพรรณว่า "เป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยาก" จึงได้มีพระราชดำริ ให้มีการจัดงานพระศพอย่างยิ่งใหญ่ดังกล่าว
 
 
ในสี่แผ่นดินกล่าวไว้ว่า "เมื่องานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณที่พระที่นั่งไอสวรรย์ทิพยอาสน์เสร็จลง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินผ่านทางเจ้านายฝ่ายใน พระองค์เสด็จจากที่ประทับด้วยสีพระพักตร์ที่เศร้าหมอง เนื่องด้วยอาลัยถึงพระธิดาที่อยู่ในพระโกศ แล้วพอทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์กลาง ผู้ซึ่งเป็นพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณ พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเข้ามาสวมกอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้น แล้วต่างองค์ก็ต่างทรงพระกรรแสง"  เป็นที่สะเทือนใจยิ่ง
 
 
 
 
พระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี บริเวณวัดนิเวศธรรมประวัติ
 
 
 ต่อมา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพออกจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์นำไปประดิษฐานบน เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ เมื่อถึงวัดนิเวศธรรมประวัติ เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธารยอดพระเกี้ยว ประกอบพระโกศจันทน์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดเพลิงพระราชทานพระศพพระเจ้าลูก เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิลงประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งชลวิมานไชย แล้วจึงเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกทองคำ ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เพื่อบำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ซุ้มเรือนแก้วขึ้นภายในวัดนิเวศธรรมประวัติเพื่อใช้บรรจุพระ อัฐิของพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
 
 
ในงานพระศพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์สีขาว ซึ่งถือว่าเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้อย่าง สูง เนื่องจากโดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์สีขาวเฉพาะงานถวายพระ เพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชบุพการี 
 
 
  ในคราวเดียวกันนี้เหตุการณ์อันวิปโยคก็ได้เข้ามาสุมพระราชหฤทัยอันเศร้าโศกา อาดูรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เพิ่มเป็นเท่าทวีอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระอรรคชายาพระองค์กลาง ซึ่งโดยเสด็จตามพระราชบิดามาในงานพระราชพิธีในครั้งนี้ ก็ทรงพระประชวรถึงขั้นเพ้อตรัสเป็นภาษาฝรั่งและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระอาการไข้พิษ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448  กล่าวกันว่า "ต้องเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งลงมาบางปะอิน แล้วเชิญพระศพของอีกพระองค์ขึ้นไปกรุงเทพฯในการเสด็จพระราชดำเนินคราวเดียวกัน"
 
 
 
 
 
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ 
 
 
ที่มา: pantip , dekdee , wikipedia , เรียบเรียงโดย คุณชายชุน




 

 

Credit: http://board.postjung.com/745405.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...