นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นต่อการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปว่า นิตยสารฉลาดซื้อ เคยทำการสำรวจปริมาณโซเดียมหรือเกลือ อันตรายที่ซ่อนในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า จากการเก็บตัวอย่างจำนวน 32 ตัวอย่าง ฉบับที่ 68 มาทดสอบโดยสถาบันอาหาร เพื่อหาปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในเครื่องปรุงรส พบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมร้อยละ 50-100 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน และมีบางยี่ห้อที่ทำขนาดใหญ่กว่าปกติ ที่เรียกว่าบิ๊กแพ็ค พบว่ามีโซเดียมสูงถึงร้อยละ 112 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคแต่ละวัน
"การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 1 ซองต่อวัน โดยใช้เครื่องปรุงทั้งซอง จะทำให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป เพราะแต่ละวันจะได้รับปริมาณโซเดียมจากเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอส เกลือ สูงอยู่แล้ว ที่ผ่านมา เคยมีการวิจัยถึงปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยในปี 2548 พบว่า มีมากถึง 120,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 9,500 ล้านบาท หากจะเทียบกับซองบะหมี่มาตรฐานที่บรรจุซองละ 60 กรัม หมายความว่าคนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง 2,000 ล้านซองต่อปี โดยปัจจัยสนับสนุนให้คนไทยบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปจำนวนมาก น่าจะเป็นเพราะสินค้านี้มีหลายรส หลายระดับราคาให้เลือก ปรุงได้สะดวกรวดเร็ว" บรรณาธิการนิตยสารฯ กล่าว
นางสาวทัศนีย์ เผยต่อว่า ปริมาณโซเดียมที่แนะนำไว้ในบัญชีสารอาหาร ที่ควรบริโภคในแต่ละวันสำหรับคนไทย อยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ขณะนี้การบริโภคเกินกว่ากำหนด และถือเป็นความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เป็นโรคหัวใจ เพราะฉะนั้น จึงมีการทบทวนปริมาณโซเดียมที่ควรบริโภคต่อวัน โดยปริมาณใหม่ที่แนะนำให้บริโภคจะอยู่ที่ ผู้ชายควรบริโภค 475-1,475 มิลลิกรัม ผู้หญิงควรอยู่ที่ 400-1,200 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ การบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปควรจะใส่ไข่ ผัก หรือเนื้อสัตว์ลงไปด้วย เพื่อเพิ่มสารอาหารและป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ไม่ควรทานบะหมี่สำเร็จรูปดิบ ๆ เพราะเส้นบะหมี่จะไปพองตัวในกระเพาะ อาจทำให้ท้องอืดได้ และไม่ควรทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่าวันละ 1 ซอง เพื่อป้องกันโรคที่เกิดกับไต และโรคความดันโลหิต
ซ้ำขออภัยค่ะ