ยศ จักรพรรด์ เจ้าหญิง เจ้าชาย โชกุน ญี่ปุ่น

 

 

 

 

 

การขัดเลือก นางใน และนางกำนัลจีน 

http://board.postjung.com/741616.html

ฮ่องเต้ องค์ชาย ราชวงชิง

http://board.postjung.com/741243.html

ตำแหน่ง นางใน องค์หญิง มเหสี จีน

http://board.postjung.com/741609.html

 

 

จักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์

 

เทนโน (てんのう, 天皇) จักรพรรดิ
     ญี่ปุ่นนั้นมีจักรพรรดิซึ่งมีความเชื่อ และ ได้รับความเคารพในฐานะร่างอวตารของเทพเจ้า สืบเชิ้อสายมาจากเทดวงอาทิตย์ "อามาเทราสึ" มาปกครองประชาชน เทนโน มีความหมายว่า เทพเจ้าที่มาจากสวรรค์ ซึ่งก็หมายความถึงองค์จักรพรรดิซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดแห่งญี่ปุ่นนั่นเอง 

โทกู (とうぐう, 東宮) หรือ โคไทชิ (こうたいし, 皇太子)องค์ชายรัชทายาท
    องค์ชายรัชทายาท โอรสในองค์จักรพรรดิ ในสมัยเฮอัน ส่วนมากจะเรียกว่า โทกู ซึ่งหมายถึงวังตะวันออก ที่ประทับขององค์ชายรัชทายาท 

โทกูฮิ (とうぐうひ, 東宮妃) หรือ โคไทชิฮิ (こうたいしひ, 皇太子妃)

พระชายาในองค์ชายรัชทายาท
     ตำแหน่งพระชายาในองค์ชายรัชทายาท ในสมัยเฮอัน ส่วนมากจะเรียกว่า โทกูฮิ ที่แปลว่า พระชายาแห่งวังตะวันออก บางครั้งอาจเรียกว่า มิยาซึนโดโคะโระ (みやすんどころ, 御息所) แทนคำเรียกตามตำแหน่งก็ได้

 

ชินโน (しんのう, 親王) ตำแหน่งองค์ชาย
     องค์ชาย ส่วนมากพระโอรสในองค์จักรพรรดิ หรือพระเชษฐาและพระอนุชาในองค์จักรพรรดิ จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งนี้ โดยตำแหน่งพระชายาในชินโน จะเรียกว่า ชินโนฮิ (しんのうひ, 親王妃) หรือเรียกว่า

มิโกะ โน มิเมะ (みこのみめ, 皇子妃) ซึ่งหมายถึง พระชายาขององค์ชาย ชินโนมีระดับตั้งแต่ 1 พิน (一品) ถึงระดับ 4 พิน (四品) หรืออาจจะไม่มีระดับ (無品) ก็ได้ 

 

ไนชินโน (ないしんのう, 内親王) ตำแหน่งองค์หญิง 
      ฮิเมะมิโกะ (ひめみこ, 皇女) คำว่า ไน (内) หมายถึง อยู่ภายใน, ข้างใน ไนชินโนจึงเป็นตำแหน่งองค์หญิง ซึ่งอาศัยอยู่ภายในวังหลวง จนกว่าจะแต่งงาน ส่วนมากพระธิดาในองค์จักรพรรดิ หรือพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาในองค์จักรพรรดิ จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งนี้ มีระดับตั้งแต่ 1 พิน ถึงระดับ 4 พิน หรืออาจจะไม่มีระดับเช่นเดียวกับชินโน

 

  ในช่วงต้นของสมัยเฮอันเป็นต้นมา เริ่มมีการใช้ระบบการประกาศแต่งตั้งชินโน และไนชินโนอย่างเป็นทางการ เรียกว่า ชินโนเซนเกะ (しんのうせんげ, 親王宣下) ส่วนมากพระโอรสหรือพระธิดาในองค์จักรพรรดิที่พระมารดามีฐานันดรศักดิ์ตำแหน่งสูงหรือเป็นที่โปรดปราน มักจะได้รับประกาศแต่งตั้ง มีตำแหน่งชินโนหรือไนชินโนได้ ส่วนพระโอรสหรือพระธิดาที่ไม่ได้รับประกาศแต่งตั้ง อาจจะได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งอื่น หรือให้เป็นสามัญชนรับราชการขุนนางหรือทหารและใช้โคชินชิเซย์ (こうしんしせい, 皇親賜姓) นามตระกูลพระราชทาน เพื่อบ่งบอกว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ พระโอรสหรือพระธิดาเหล่านี้เรียกว่า โชโอว (しょおう, 諸王) มีความหมายว่า เหล่าเชื้อพระวงศ์อีกมากมาย สามารถมีชีวิตเป็นของตนเองได้ โคชินชิเซย์ของโชโอวเหล่านี้ได้แก่ เครือตระกูลมินาโมโตะ (みなもとじ, 源氏)

 

 

โอว (おう, 王) เชื้อพระวงศ์ชาย 
     ตำแหน่งเชื้อพระวงศ์ชาย มักแต่งตั้งให้กับพระโอรสในโทกู พระโอรสในชินโน พระโอรสในโอว หรือทายาทชายของลูกหลานในองค์จักรพรรดิ โดยตำแหน่ง พระชายาในโอว จะเรียกว่า โอวฮิ (おうひ, 王妃)  

 

โจโอว (じょおう, 女王) ชื้อพระวงศ์หญิง
     ตำแหน่งเชื้อพระวงศ์หญิง มักแต่งตั้งให้กับพระธิดาในโทกู พระธิดาในชินโน พระธิดาในโอว หรือทายาทหญิงของลูกหลานในองค์จักรพรรดิ

   ประเทศญี่ปุ่นมีการนับถือเทพเจ้าในศาสนาชินโต (神道) มาตั้งแต่สมัยก่อน และจักรพรรดิในสมัยเฮอันได้มีการให้ความสำคัญกับศาสนาเป็นอย่างมาก โดยการแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์หญิงระดับไนชินโนหรือโจโอวที่มีสายเลือดใกล้ชิดจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน เป็นตัวแทนจักรพรรดิในการบรวงสวงและรับใช้เทพเจ้า เรียกว่า ไซโอว (さいおう, 斎王) โดยจะคัดเลือกรัชสมัยละ 2 คน ไซโอวจะต้องเป็นหญิงพรหมจารีย์ ยังไม่แต่งงาน และต้องทำหน้าที่อยู่ที่ศาลเจ้าตลอดจนหมดรัชสมัย เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็จะทำการคัดเลือกคนใหม่ไปแทน ไซโอวคนเก่าก็สามารถกลับมาเมืองหลวงและใช้ชีวิตเช่นเดิมได้

 

ไซกู (さいぐう, 斎宮)
     หรือเรียกว่า อิทสึกิ โน มิยะ (いつきのみや) ตำแหน่งของไซโอวที่เดินทางไปบรวงสวงและรับใช้เทพเจ้าที่ศาลเจ้าใหญ่อิเสะ (伊勢神宮) ซึ่งเชื่อว่า มีเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ผู้ยิ่งใหญ่ อามาเทราสึ โอวมิคามิ (天照大御神) ประทับอยู่

ไซอิน (さいいん, 斎院)
     หรือเรียกว่า อิทสึกิ โน อิน (いつきのいん) เป็นตำแหน่งที่เริ่มมีในสมัยเฮอัน ตำแหน่งของไซโอวที่เดินทางไปบรวงสวงและรับใช้เทพเจ้าที่ศาลเจ้าคาโมะ (賀茂神社) ซึ่งเชื่อว่า มีเทพเจ้าประทับอยู่ 3 องค์ ได้แก่ 1) เทพคาโมะทาเคทสึโนมิ (賀茂建角身命) ผู้เป็นบิดาของ 2) เทพทามะโยริฮิเมะ (玉依姫命) ซึ่งเป็นมารดาของ 3) เทพคาโมะวาเคะอิคาซึจิ (賀茂別雷命)

 โดยปกติลูกหลานขององค์จักรพรรดิจะสืบเชื้อสายผ่านทางเชื้อพระวงศ์ชาย โดยเชื้อพระวงศ์ชั้นที่ 2-5 (ตั้งแต่พระนัดดาในองค์จักรพรรดิเป็นต้นไป) ทั้งหมดจะมีตำแหน่งเป็นโอว หรือโจโอว ซึ่งความเป็นเชื้อพระวงศ์สืบทอดจะสิ้นสุดในชั้นที่ 5 หากมีทายาทต่อในชั้นที่ 6 ก็จะถือเป็นสามัญชน ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์และไม่มีฐานันดรศักดิ์เป็นโอว หรือ โจโอว อีกต่อไป

แต่ตั้งแต่ปลายสมัยนาระตลอดมาจนถึงปลายสมัยเฮอัน ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง พระโอรสและพระธิดาในองค์จักรพรรดิมีมากขึ้น ทำให้เชื้อพระวงศ์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การคลังเริ่มมีปัญหา ที่สำคัญคือความบาดหมางภายในเชื้อพระวงศ์ก็เริ่มมากขึ้น จึงได้เริ่มมีการลดจำนวนเชื้อพระวงศ์ลง ซึ่งเรียกว่า ชินเซคิโคกะ (しんせきこうか, 臣籍降下) โดยการให้เชื้อพระวงศ์ที่มีอายุได้ 15 ปี ซึ่งมีสายเลือดห่างจากจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน หรือเชื้อพระวงศ์ชั้นที่ 2-5 บางกลุ่มลาออกจากฐานันดรศักดิ์มาเป็นสามัญชน ให้รับราชการขุนนางหรือทหาร และใช้โคชินชิเซย์สืบตระกูลต่อ อาจจะเป็นบัญชาจากจักรพรรดิหรือเชื้อพระวงศ์เป็นผู้ขอออกจากฐานันดรศักดิ์เองก็ได้ เชื้อพระวงศ์เหล่านี้เรียกว่า โชโอว ได้เช่นกัน ความเคารพนับถือตามฐานันดรยังมีอยู่เช่นเดิม เป็นการลดอำนาจเชื้อพระวงศ์ลงส่วนหนึ่ง โคชินชิเซย์ที่พระราชทานเมื่อทำชินเซคิโคกะ เช่น
เครือตระกูลมินาโมโตะ (みなもとうじ, 源氏) ส่วนมากพระราชทานให้กับเชื้อพระวงศ์ชั้นที่ 2
เครือตระกูลไทระ (たいらうじ, 平氏) ส่วนมากพระราชทานให้กับเชื้อพระวงศ์ชั้นที่ 3
เครือตระกูลทาจิบานะ (たちばなうじ, 橘氏)
เครือตระกูลอาริวาระ (ありわらうじ, 在原氏)
เครือตระกูลคิโยฮาระ (きよはらうじ, 清原氏) เป็นต้น 

 

 

 

 

เก็นเปย์โทวคิสึ (げんぺいとうきつ, 源平藤橘) หรือเครือตระกูลทั้ง 4 ที่ยิ่งใหญ่ในสมัยเฮอัน ได้แก่ มินาโมโตะ ไทระ ฟูจิวาระ และทาจิบานะ โดยฟูจิวาระเป็นเครือตระกูลเดียวที่ไม่ได้สืบสายจากจักรพรรดิหรือเชื้อพระวงศ์ แต่เป็นเครือตระกูลขุนนางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมีอำนาจมากในราชสำนักและเป็นพระญาติผ่านทางจักรพรรดินีที่ส่วนใหญ่มักเป็นบุตรสาวของเครือตระกูลฟูจิวาระ หลังสมัยเฮอันเครือตระกูลเหล่านี้ได้แตกสายเป็นตระกูลย่อยหรือตระกูลใหม่อีกมากมาย ยกเว้นเพียงเครือตระกูลทาจิบานะที่ไม่มีการแตกสายเป็นตระกูลใหม่อย่างชัดเจน สนใจดูการแตกสายเป็นตระกูลนักรบของแต่ละเครือตระกูลบางส่วนได้

 

ขุนนางสมัยเฮอันของญี่ปุ่น

 สภาของราชสำนักญี่ปุ่นนั้นเรียกว่า ไดโจวคัน (だいじょうかん, 太政官) ซึ่งขุนนางระดับสูงที่มีอำนาจในไดโจวคันหรือที่เรียกว่า คุเกียว (くぎょう, 公卿) นั้น จะต้องมาจากคุเกะ (くげ, 公家) หรือเครือตระกูลชนชั้นสูง (เก็นเปย์โทวคิสึ ก็เป็นหนึ่งในนั้น) และต้องเป็นโดโจวเคะ (どうじょうけ, 堂上家) ซึ่งเป็นคุเกะที่สามารถนั่งบนพื้นร่วมกับองค์จักรพรรดิได้ คุเกียวและตำแหน่งขุนนางระดับสูงที่สำคัญมีดังนี้

 

จักรพรรดินี พระชายา และพระสนม

 โคคิว (こうきゅう, 後宮) หรือวังหลังของจักรพรรดิญี่ปุ่น ในวังหลังของญี่ปุ่นนั้นไม่มีมหาดเล็กหรือขันทีเหมือนเกาหลีหรือจีน การงานต่างๆ ทั้งหมดในวังหลังเป็นหน้าที่ของนางข้าหลวง ดังนั้นถ้าไม่นับพระโอรสหรือพระธิดาที่ยังไม่ได้แต่งงานแล้ว ผู้ที่อยู่ในวังหลังนี้จะเป็นสตรีทั้งหมด

 

 

ไทโคไทโกว (たいこうたいごう, 太皇太后) พระอัยยิกา
     ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 2 ขั้น หรือเป็นพระอัยยิกาในจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน อาจจะมีฐานะเป็นพระอัยยิกาแท้ๆ หรือพระอัยยิกาเลี้ยงของจักรพรรดิก็ได้

 

 

โคไทโกว (こうたいごう, 皇太后) พระมารดาในจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน 
     ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 1 ขั้น หรือตำแหน่งพระมารดาในจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ถ้าจักรพรรดิองค์ปัจจุบันไม่ได้เป็นพระโอรสที่เกิดแต่จักรพรรดินีองค์ก่อน พระมารดาจะมีตำแหน่งเป็นโคไทฮิ (こうたいひ, 皇太妃) หรือโคไทฟูจิน (こうたいふじん, 皇太夫人) ก่อน ซึ่งส่วนมากมักจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นโคไทโกวในภายหลัง ในรัชสมัยนั้นก็จะมีโคไทโกวเป็น
2 พระองค์ มีกรณีพิเศษเพียงครั้งเดียวในสมัยจักรพรรดิโกเรเซย์ ทรงมีจักรพรรดินีพร้อมกัน 3 พระองค์ จึงใช้โคไทโกวเป็นตำแหน่งจักรพรรดินีองค์แรกสุด

 

 

โคโกว (こうごう, 皇后) ภรรยาเอกซึ่งมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน 


     ตำแหน่งจักรพรรดินีของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน เป็นภรรยาเอกซึ่งมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน ใช้เรียกจักรพรรดินีในช่วงต้นสมัยเฮอัน ภายหลังหากรัชสมัยจักรพรรดิใดทรงมีจักรพรรดินีพร้อมกัน 2 พระองค์ โคโกวจะเป็นตำแหน่งจักรพรรดินีที่แต่งตั้งก่อน

 

จูกูว (ちゅうぐう, 中宮) ตำหนักกลาง 
     จูกูว หมายถึง ตำหนักกลาง ซึ่งเป็นที่ประทับของจักรพรรดินี ตำแหน่งจักรพรรดินีของจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเช่นเดียวกับโคโกว เป็นภรรยาเอกซึ่งมีศักดิ์ในการปกครองฝ่ายใน ในตอนแรกเป็นคำเรียกแทนโคโกวเท่านั้น ต่อมาใช้เรียกจักรพรรดินีในช่วงกลางสมัยเฮอันเป็นต้นไป ภายหลังหากรัชสมัยจักรพรรดิใดทรงมีจักรพรรดินีพร้อมกัน 2 พระองค์ จูกูวจะเป็นตำแหน่งจักรพรรดินีที่แต่งตั้งทีหลัง 

 

 

ฮิ (ひ, 妃) ภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 2 
     ตำแหน่งภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 2 รองจากจักรพรรดินี เทียบเท่าพระชายา ตำแหน่งนี้มีได้ 2 คน ถ้าได้เป็นพระมารดาในจักรพรรดิองค์ต่อไป จะมีตำแหน่งเป็นโคไทฮิ ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งฮิ จะต้องเป็นพระธิดาในจักรพรรดิองค์ก่อนๆ (ไนชินโน ระดับ 4 พินขึ้นไป) เท่านั้น แต่ก็มีบางครั้งที่เชื้อพระวงศ์หญิงระดับโจโอว ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งฮิ แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น 

 

ฟุจิน (ふじん, 夫人) ภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 3
     ตำแหน่งภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 3 ในสามรัชสมัยแรกสมัยเฮอัน ตำแหน่งนี้มีได้ 3 คน ถ้าได้เป็นพระมารดาในจักรพรรดิองค์ต่อไป จะมีตำแหน่งเป็นโคไทฟุจิน ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งตำแหน่งฟุจิน จะต้องเป็นธิดาของขุนนางระดับคุเกียว ภายหลังตำแหน่งนี้ถูกยกเลิก

 

 เนียวโงะ (にょうご, 女御) ภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 3 เทียบเท่าพระสนมเอก

     ภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 3 เทียบเท่าพระสนมเอก เนียวโงะ หมายถึง สตรีผู้มีเกียรติในองค์จักรพรรดิ เดิมเป็นอีกหนึ่งชื่อเรียกตำแหน่ง ฮิน (ひん, 嬪) ซึ่งเป็นตำแหน่งภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 4 ในช่วงต้นของสมัยเฮอัน แต่เมื่อตำแหน่งฟุจินถูกยกเลิก เนียวโงะจึงเป็นตำแหน่งขั้นที่ 3 แทน ถ้าได้เป็นพระมารดาในจักรพรรดิองค์ต่อไป จะมีตำแหน่งเป็นโคไทฟุจินเช่นเดียวกัน ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งเนียวโงะ มักจะเป็นธิดาของคุเกียวระดับเสนาบดี และเชื้อพระวงศ์หญิงระดับโจโอว โดยโจโอวที่ได้ตำแหน่งนี้จะเรียกว่า โอวเนียวโงะ
(王女御) บางรัชสมัยองค์จักรพรรดิอาจจะไม่ได้รับไนชินโนมาเป็นพระชายา ตำแหน่งฮิก็จะว่างไว้ ดังนั้นจึงมีหลายรัชสมัยที่เนียวโงะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจรองจากจักรพรรดินีได้

 

 

โคอิ (こうい, 更衣) เทียบเท่าพระสนม  

     ตำแหน่งภรรยาในจักรพรรดิขั้นที่ 4 เทียบเท่าพระสนม เดิมเป็นชื่อเรียกนางข้าหลวงที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานพระภูษาของจักรพรรดิ
โคอิ หมายถึง การผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องใกล้ชิดกับองค์จักรพรรดิมากที่สุด ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งโคอิ มักจะเป็นธิดาของคุเกียวระดับที่ปรึกษาราชสำนัก รวมถึงธิดาขุนนางขั้น 4 ลงมา และเชื้อพระวงศ์หญิงระดับโจโอว ตำแหน่งโคอิ เรียกอีกอย่างได้ว่า
มิยาซึนโดโคะโระ (御息所, คำเดียวกับที่ใช้กับโทกูฮิ) ในที่นี้มีความหมายถึง พลับพลาสำหรับพักผ่อนของจักรพรรดิ มิยาซึนโดโคะโระ จึงใช้เรียกพระสนมขั้นโคอิที่เป็นที่โปรดปรานในองค์จักรพรรดิ เปรียบเหมือนกับเป็นพระสนมที่สามารถเป็นที่ผ่อนคลายสบายใจให้พระองค์ได้ 

 

นางข้าหลวงสูงศักดิ์และฝ่ายงานในวังหลัง

 

     เนียวคัน (にょかん, 女官) หรือ นางข้าหลวง เรียกได้อีกอย่างว่า นางใน เป็นข้าราชสำนักฝ่ายในของสตรีในวังหลัง คอยทำหน้าที่รับใช้องค์จักรพรรดิ จักรพรรดินี พระชายาและพระสนมต่างๆ รวมถึงจัดการงานต่างๆ ทั้งหมดภายในวังหลัง บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางน้อยใหญ่ มักจะส่งธิดาเข้ามาเป็นนางข้าหลวงในตำแหน่งต่างๆ เพื่อฝึกฝนกิริยามารยาท รวมถึงเพิ่มโอกาสให้ธิดาสามารถใกล้ชิดจักรพรรดิมากขึ้นเพื่อเลื่อนฐานะต่อไปได้ ผู้ที่มาเป็นนางข้าหลวงมีทั้งเชื้อพระวงศ์หญิงระดับโจโอว ธิดาขุนนางและข้าราชสำนักทั้งสูงต่ำ รวมถึงภริยาของขุนนางก็สามารถเข้ามาถวายการรับใช้ในวังหลวงได้ โดยนางข้าหลวงมีรายละเอียดตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

 

1) ตำแหน่งนางข้าหลวงที่ถวายตัวกับ จักรพรรดิ

 
    

 ตำแหน่งนางข้าหลวงที่เมื่อหากได้รับแต่งตั้งแล้ว เท่ากับมีสิทธิ์ได้ถวายตัวอย่างไม่เป็นทางการ มีอยู่ 3 ตำแหน่ง เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ถวายงานใกล้ชิดองค์จักรพรรดิในหน้าที่เลขานุการ ได้แก่ ไนชิโนคามิ, ไนชิโนสุเกะ และ ไนชิโนโจว (尚侍, 典侍, 掌侍) ตำแหน่งนางข้าหลวงระดับหัวหน้า รองหัวหน้า และผู้ช่วยกองเลขานุการภายในตามลำดับ หากได้รับความโปรดปรานนางข้าหลวงทั้งสามตำแหน่งนี้อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมหรือสูงกว่านี้ได้ แต่หากไม่ได้รับการแต่งตั้ง ก็ยังถือเป็นสตรีในองค์จักรพรรดิ เป็นนางข้าหลวงสูงศักดิ์ และสามารถถวายงานจักรพรรดิต่อไปได้ 

นางข้าหลวงตำแหน่งอื่นๆ หากได้รับความโปรดปรานและได้ถวายตัวกับองค์จักรพรรดิ ถือเป็นนางข้าหลวงสูงศักดิ์ มักจะได้รับการเรียกอย่างให้เกียรติต่อท้ายชื่อตระกูล บ้านเกิด ชื่อสถานที่หรือตำหนักว่า ซึโบเนะ (つぼね, 局) หรือ โดโนะ (どの, 殿) เช่น 
โทสะ โน ซึโบเนะ (土佐局), ซันโจ โน ซึโบเนะ (三条局), โบมอน โดโนะ (坊門殿) เป็นต้น

 

2) ตำแหน่งนางข้าหลวงต้นห้อง

 เนียวโบ (にょうぼう, 女房) หรือ นางข้าหลวงต้นห้อง นางข้าหลวงคนสนิทที่ติดตามรับใช้ข้างกายเจ้านายฝ่ายในของตนอย่างใกล้ชิด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองงานวังหลัง เนียวโบ ถือ เป็นนางข้าหลวงระดับกลางไปจนถึงระดับสูงในวังหลวง ทำหน้าที่คอยรับใช้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ดูแลกิจวัตรประจำวันของเหล่าเจ้านายฝ่ายใน รวมถึงเป็นเพื่อนคอยพูดคุยในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนในการรับส่งจดหมายและติดต่อกับผู้อื่น หากมีคนมาขอเข้าพบก็ต้องเป็นคนจัดตารางเข้าพบและทำการต้อนรับ หากมีจัดงานพิธีหรืองานหลวงก็เป็นผู้ช่วยจัดการตระเตรียมข้าวของต่างๆ แทนเจ้านายฝ่ายในของตน เนียวโบแต่ละตำหนักสามารถแบ่งตามศักดิ์ได้ 3 ระดับ คือ

+ โจโร (じょうろう, 上臈) เป็นเนียวโบระดับสูง เนียวโบที่เป็นธิดาของคุเกียวระดับเสนาบดีจะจัดอยู่ในขั้นโจโร ไนชิโนคามิและไนชิโนสุเกะก็จัดอยู่ในขั้นโจโรเช่นกัน ส่วนเนียวโบที่เป็นธิดาของคุเกียวระดับอื่นจะจัดอยู่ในขั้น โคะโจโร (こじょうろう, 小上臈)
+ จูโร (ちゅうろう, 中臈) เป็นเนียวโบระดับกลาง เรียกอีกอย่างว่า เมียวบุ (みょうぶ, 命婦) โดยเนียวโบที่เป็นธิดาของข้าราชสำนักขั้น 5 ขึ้นไป เรียกว่า ไนเมียวบุ (ないみょうぶ, 内命婦) ส่วนเนียวโบที่เป็นภริยาของข้าราชสำนักขั้น 5 ขึ้นไป เรียกว่า เงะเมียวบุ (げみょうぶ, 外命婦) ทั้งหมดจัดอยู่ในขั้นจูโร ไนชิโนโจวก็จัดอยู่ในขั้นจูโรเช่นกัน  
+ เงะโร (げろう, 下臈) เป็นเนียวโบระดับล่าง เรียกอีกอย่างว่า เนียวคุโรโดะ (にょくろうど, 女蔵人) เป็นเนียวโบที่เป็นธิดาของตระกูลซามูไรหรือธิดาของข้าราชสำนักประจำศาลเจ้า ทั้งหมดจัดอยู่ในขั้นเงะโร เนียวคุโรโดะมีหน้าที่รับคำสั่งจากเนียวโบระดับสูงกว่า

 

 

3) ตำแหน่งนางข้าหลวง สิบสองกองงานวังหลัง

  โคคิวจูนิชิ (こうきゅうじゅうにし, 後宮十二司) หรือสิบสองกองงานฝ่ายในแห่งวังหลัง แต่ละกองมีหน้าที่จัดการงานในด้านต่างๆ ทั้งหมดของฝ่ายใน นางข้าหลวงที่ไม่ได้เป็นเนียวโบจะอยู่ประจำในกองงานเหล่านี้ โดยแต่ละกองงานส่วนมากจะมีนางข้าหลวงระดับหัวหน้าอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ หัวหน้า (尚) รองหัวหน้า (典) และผู้ช่วย (掌) ซึ่งตำแหน่งนางข้าหลวงทั้งสิบสองกองงานมีรายละเอียดดังนี้

นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 3 ชั้นเอก ลงไป คือ กองพระคลัง (蔵司)
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 3 ชั้นรอง ลงไป คือ กองเลขานุการภายใน (内侍司) 
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 4 ชั้นเอก ระดับบน ลงไป คือ กองห้องเครื่อง (膳司), กองภูษาเย็บปัก (縫司)
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 6 ชั้นเอก ระดับบน ลงไป คือ กองน้ำจัณฑ์ (酒司)
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 6 ชั้นรอง ระดับบน ลงไป คือ กองงานอักษร (書司), กองโอสถ (薬司), กองพระราชดำเนิน (殿司)
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 7 ชั้นเอก ระดับบน ลงไป คือ กองศาสตราวุธ (兵司), กองทวารบาล (闈司)
นางข้าหลวงประจำกองงานมีตั้งแต่ขั้น 7 ชั้นรอง ระดับบน ลงไป คือ กองพระตำหนัก (掃司), กองงานน้ำ (水司)

 

 

  นอกจากนี้ยังมี เนียวจู (にょじゅ, 女嬬) ซึ่งเป็นนางข้าหลวงระดับต่ำคอยรับคำสั่งทำงานต่างๆ ประจำอยู่ในแต่ละกองงาน ยกเว้นกองห้องเครื่องและกองงานน้ำ จะมี อุเนเมะ (うねめ, 采女) นางข้าหลวงระดับต่ำที่ถวายการรับใช้ในเวลาเสวยพระกระยาหารประจำอยู่ในกองงานแทน ส่วนกองน้ำจัณฑ์ไม่มีทั้งเนียวจูและอุเนเมะประจำอยู่

 

 

ยุคโชกุน 

Credit: http://board.postjung.com/744679.html
12 ก.พ. 57 เวลา 12:17 4,122 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...