ปริศนาเข็มแห่งคลีโอพัตรา

เรื่องนี้มิได้ เกี่ยวกับพระนางคลีโอพัตรา จะเย็บเสื้อปักผ้าอะไรเลย แต่เข็มคลีโอพัตราในที่นี้ หมายถึงเสาอนุสรณ์ ยอดแหลมของอียิปต์ ที่เรียกว่าโอเบลิสค์ (OBELISK)

ในสมัยอดีตกาลนานโพ้น ฟาโรห์จะสร้างเสาโอเบลิสค์เหล่านี้ขึ้น จารึกเรื่องราวพระเกียรติพระยศ ของพระองค์ไว้บนเสา แล้วนำไปประดิษฐานเป็นคู่ๆ ตามหน้าวิหารต่างๆ รวมแล้วในอียิปต์ก็มีอยู่หลายสิบต้น แต่หลังจากที่อียิปต์ถูกโรมันลากไป ฝรั่งเศสลากมา อังกฤษฉุดไปอีกช่วง เสาโอเบลิสค์เหล่านี้ ก็กระจัดกระจายพรายพลัด ถูกผู้รุกรานยกกลับ ไปไว้บ้านตัวเสียหลายต้น ปัจจุบันทั่วอียิปต์เหลืออยู่ไม่ถึง 6 ต้น แต่ที่โรมแห่งเดียวมี 13 ต้น ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก อีกแห่งละต้น

โอเบลิสค์ที่ลอนดอนและนิวยอร์กนี่แหละค่ะที่เรียกกันว่า เข็มคลีโอพัตรา (CLEOPATRA'S NEEDLES) ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับราชินีผู้เลอโฉมองค์นั้นเลย เสา 2 ต้นนี้ถูกนำออกจากอียิปต์ในปลายทศวรรษ 1870 และนับเป็นคู่สุดท้ายที่ถูกนำออกจากแผ่นดินลุ่มนํ้าไนล์


เข็มคลีโอพัตราทั้ง 2 ต้น เดิมอยู่หน้าวิหารแห่งสุริยเทพที่เฮลิโอโปลิสใกล้ไคโร สร้างขึ้นโดยฟาโรห์ทุทโมสิสที่ 3 (1504-1540 B.C.) บนเสาทั้งสองมีภาพของพระองค์ ขณะถวายเครื่องบูชาแด่ เทพเจ้ากับมีจารึกยอพระเกียรติ อีก 2 ศตวรรษต่อมา ฟาโรห์รามิเซสที่ 2 ทรงแทรกจารึกสดุดี ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เข้าไปบนนั้นอีก สมัยโรมันครองเมือง หลังรัชกาลของคลีโอพัตรา พวกโรมันได้นำโอเบลิสค์ 2 ต้นนี้มายังเมืองอเล็กซานเดรีย ประดิษฐานไว้หน้าซีซาเรียม (CAESARIUM) วิหารที่สร้างขึ้นอุทิศแด่จูเลียส ซีซาร์ ผู้ได้รับการยกย่องประหนึ่งเทพเจ้า


คำเรียกโอเบลิสค์ 2 ต้นนี้ว่า เข็มคลีโอพัตรา นั้น น่าจะมาจากบันทึกของ อับด์ เอล ลาทิฟ (ABD-AL-LATIF) แพทย์ชาวอาหรับ ในสมัยศตวรรษที่ 12 ที่เรียกโอเบลิสค์ทั่วไปว่า PHAROAH'S BIG NEEDLES (เข็มใหญ่ของฟาโรห์) และเรียกสองต้น ที่อเล็กซาเดรียว่า CLEO PATRA'S NEEDLES โดยพระนางไม่รู้ไม่เห็นด้วยเลยสักนิด เพียงแต่พระนางมีวัง อยู่ที่อเล็กซานเดรียเท่านั้น แต่ชื่อนี้ก็เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันต่อๆ มา


เมื่อคราวอังกฤษรบชนะ ทัพนโปเลียนในการรบ แห่งอเล็กซานเดรีย เมื่อปี 1801 นั้น อังกฤษก็เคยคิดจะนำโอเบลิสค์ต้นใดต้นหนึ่งใน 2 ต้นนี้กลับบ้านเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในการรบและเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์อยู่เหมือนกัน ครั้งนั้นบรรดาทหารก็เห็นชอบด้วย ถึงกับยอมสละเบี้ยเลี้ยงรายวันหลายวัน เพื่อเป็นทุนดำเนินการ แต่อุปสรรคอยู่ที่ไม่มีเรือใดๆ จะใหญ่พอบรรทุกเสาสูง 69 ฟุต หนัก 200 ตัน ทำด้วยหินแกรนิตนี้ได้ ทั้งยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดชักลากออกจากที่ตั้งไปได้ ความคิดของอังกฤษครั้งนั้นก็เลยเป็นหมันไป


70 กว่าปีต่อมา อียิปต์อยู่ในสภาพถังแตก เคดิฟ อิสมาอิล สุลต่านแห่งอียิปต์ ต้องการทั้งเงิน ความช่วยเหลือ และเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก จึงเสนอยกเข็มคลีโอพัตราให้อังกฤษ 1 ต้น แลกกับสิ่งที่ขาดแคลนดังกล่าว ซึ่งอังกฤษ ก็รับข้อเสนอด้วยความยินดี เมื่อปี 1871 เกิดแผ่นดินไหว เข็มคลีโอพัตราล้มลงมาต้นหนึ่ง แต่คงจะเป็นการล้มที่นุ่มนวลมาก จึงไม่เกิดการแตกหักเลย อังกฤษก็เลือกโอเบลิสค์ต้นนี้ล่ะง่ายกว่า เพราะไม่ต้องหาทางนำลงมาจากฐานให้เสียเวลา

และแล้ว เมื่อ 13 กันยายน 1878 เข็มคลีโอพัตราต้นหนึ่งก็ถูกยกขึ้นตั้ง ริมแม่นํ้าเทมส์ในลอนดอน

แม้จะได้ความช่วยเหลือ จากอังกฤษบ้างแล้ว อียิปต์ก็ยังไม่พ้นภาวะร่อยหรอทางการเงินอยู่ดี ปี 1869 ในการเปิดคลองสุเอซ อิสมาอิลจึงเจรจาเสนอ จะยกเข็มคลีโอพัตราอีกต้นให้นิวยอร์ก โดยทาบทามกับวิลเลียม เฮิร์ลเบิร์ต (WILLIAM HURLBERT) บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิร์ลด์ เฮิร์ลเบิร์ต ใช้เวลาเตรียมการอยู่ถึง 8 ปี จนปี 1877 จึงเรียบร้อย โดยมีวิลเลียม แวนเดอร์บิลท์ มหาเศรษฐีบุตรชายเจ้าของกิจการรถไฟ บารอน คอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลท์ รับเป็นผู้อุดหนุนเงินทุน แล้วเฮิร์ลเบิร์ตก็เปิดประมูล หาผู้ดำเนินการรื้อถอนเคลื่อนย้าย และขนส่งเข็มคลีโอพัตรา จากอเล็กซานเดรียมานิวยอร์ก ซึ่งในที่สุดก็ได้เฮนรี่ โฮนีเชิร์ช กอรินจ์ (HENRY HONYCHURCH GORRINGE) นาวาโทแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ มาเป็นผู้ดำเนินการในโครงการนี้


การชะลอเสาโอเบลิสค์เดินทางมานิวยอร์กไม่ใช่งานง่ายๆ เริ่มตั้งแต่ หาวิธีนำลงจากฐาน, การบรรทุก, การหาพาหนะที่จะบรรทุกให้เหมาะสมทั้งทางบกและทางทะเล ฯลฯ การยกขึ้นประกอบ และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ เงินจำนวนมหาศาลในการขนย้าย ฯลฯ

วันที่ 22 มกราคม 1881 เป็นเวลา 8 ปีเต็ม งานชะลอโอเบลิสค์เข็มคลีโอพัตราอันยากเย็น แสนเข็ญก็สำเร็จลงด้วยความสามารถ สติปัญญา ประกอบกับความอดทนเยือกเย็น ของชายหนุ่มผู้มีนามว่า เฮนรี่ โฮนีเชิร์ช กอรินจ์

ความรู้เรื่องโอเบลิสค์

ในยุคดึกดำบรรพ์ ชาวอียิปต์บูชาก้อนหิน รูปทรงสูงเรียวที่เรียกว่า เบนเบน (BENBEN) อันเป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา ที่โผล่ขึ้นท่ามกลางความยุ่งเหยิง ของสรรพสิ่งเมื่อครั้งโลกก่อกำเนิดขึ้น ก้อนหินเบนเบนนี้ คือที่มาของเสา รูปเรียวปลายแหลม เมื่อชาวกรีกเข้ามาเห็นเสานี้เข้าก็เรียกมันว่า โอโบลอย (OBOLOI) อันหมายถึงไม้เสียบเนื้อย่าง

ดูเหมือนว่าชาวกรีก มักจะเรียกอนุสรณ์สถาน ด้วยคำจากแวดวงอาหารเสมอๆ อย่างพีระมิดก็มาจากคำเรียกขนมชิ้นเล็กๆ ผสมนํ้าผึ้งชนิดหนึ่งที่มีรูปทรงนี้ พีระมิดแสดงถึงความสามารถ อันมหัศจรรย์ทางด้านการก่อสร้างและการคำนวณ ส่วนเสาโอเบลิสค์ก็มีความมหัศจรรย์ในตัวอยู่เช่นกัน เพราะแม้ในปัจจุบัน เราก็ไม่รู้แน่ว่าถึงวิธีการที่ชาวอียิปต์โบราณยกเสานี้ตั้งขึ้นได้อย่างไร


เสาโอเบลิสค์ในอียิปต์ล้วนมาจาก เหมืองหินแกรนิตเหมืองเดียวกัน ที่อัสวาน ปัจจุบันที่เหมืองดังกล่าว ยังมีซากเสาโอเบลิสค์ ที่ไม่เสร็จทิ้งค้างไว้ เป็นหลักฐานอย่างดี ให้ศึกษาวิเคราะห์ได้ว่า ชาวอียิปต์ทำเสานั้นขึ้นมาอย่างไร เสาที่ทิ้งค้างไว้นี้ต้นหนึ่งหนักถึงประมาณ 1,000 ตัน ถ้ายกขึ้นตั้งได้สำเร็จ มันก็จะเป็นโอเบลิสค์ต้นใหญ่ที่สุด แต่ปรากฏว่ามันร้าวขณะยกขึ้นจากเหมือง จึงถูกปล่อยให้นอนอยู่ในเหมืองเช่นนั้น

จากการสำรวจวิเคราะห์เสา ไม่พบรอยสิ่วเลย จึงสันนิษฐานว่ามันถูกตอกกะเทาะ เป็นรูปเป็นร่างด้วยหินโดเลไรท์ (DOLERITE) ที่ทำเป็นลูกกลมๆ หินชนิดนี้แข็งกว่าหินแกรนิต ลูกหินโดเลไรท์ที่พบทิ้งอยู่ หนักลูกละประมาณ 8 ปอนด์ (เกือบ 3 กก.) คนงานคงจะยืนเรียงเป็นแถวเอาลูกหิน โดเลไรท์ทุบหินแกรนิตให้กะเทาะออกมาเป็น แท่งยาว แล้วจึงนำมาตกแต่งให้เรียบอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การกะเทาะหินออกมาเป็นแท่งก็ยังไม่ยากเท่าการเคลื่อนย้ายและยกตั้งขึ้น

ในวิหารของราชินีฮัทเชปสุต (1498-1483 B.C.) ที่เดียร์ เอล บารี ในหุบผากษัตริย์ มีภาพจารึกภาพหนึ่ง แสดงถึงการชะลอ โอเบลิสค์คู่ที่อยู่หน้าวิหาร ของพระนางมาบนเรือ ที่ลากด้วยเรืออื่นอีก 27 ลำ ส่วนการยกตั้งขึ้นนั้น คงจะใช้วิธีลากโอเบลิสค์ขึ้นไปบนยกพื้นลาด แล้วเลื่อนให้โคนเสาขยับเข้าตรงที่ จากนั้นก็ใช้นั่งร้านกับเชือกดึงให้โอเบลิสค์ ตั้งตรงขึ้น สิ่งเดียวที่ทำให้เสาโอเบลิสค์ ตั้งอยู่บนฐานได้ก็คือแรงดึงดูดของโลก อันเป็นความมหัศจรรย์ ของความสามารถทางการ คิดคำนวณและสร้างสรรค์ ของชาวอียิปต์โบราณโดยแท้


แต่ไม่ว่าพวกเขาจะใช้วิธีอย่างไร วิธีนั้น ก็คงมิได้สะดวกง่ายดายนัก ไพลนี ผู้เฒ่านักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน บันทึกไว้ว่า ฟาโรห์พระนามว่ารามเสส ถึงกับลงทุนผูกพระโอรสองค์หนึ่งไว้ที่ปลายเสาโอเบลิสค์ ขณะคนงานดึงเสาให้ตั้งขึ้น เป็นการบอกกล่าวยํ้าเตือนให้คนงานรู้ว่าต้องใช้ ความระมัดระวังอย่างที่สุดในการดึงเสา ถ้าดึงแรงไป เสาหัก พระโอรสเป็นอะไรไปละก็...ฮึ่ม!

แต่เอ! เมื่อตั้งเสาสำเร็จแล้ว พระโอรสจะเสด็จลงมาอย่างไรล่ะ?!

Credit: นสพ.ไทยรัฐ และhttp://www.artsmen.net
10 เม.ย. 53 เวลา 23:49 3,666 7 1,034
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...