การ "อาบนํ้า" กิริยาอาการของ การชำระร่างกาย ให้เกิดความสะอาด เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทั่วโลกมานานนักหนา เรื่องของการอาบนํ้าในทรรศนะของคนไทย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความที่เราเป็นเมืองร้อน แต่โชคดีที่มีแม่นํ้าลำคลองมากมาย นึกอยากอาบนํ้าก็วิ่งลงลำธาร หรือแม่นํ้า กันจนเคยชิน การอาบนํ้าของคนไทย จึงดูเป็นเรื่องเล็ก และเราเองก็ไม่ เห็นว่าสำคัญจนน่าเอามาพูดถึงตรงไหน
อันนี้ต่างจากผู้คนอีกซีกโลกโดยสิ้นเชิงเลย การอาบนํ้าของผู้คนในแถบยุโรป ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ ก็เนื่องจากภูมิอากาศที่หนาวเย็นของเขา และยิ่งถ้าดูลึกเข้าไปถึง ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว คนที่ยกย่องเชิดชูการอาบนํ้าและวิธีการอาบจนเป็นเรื่องใหญ่ ของชีวิต น่าจะมีอยู่สองแหล่ง ที่แรกก็คือการอาบนํ้าของพวกตุรกี ที่เราเรียกว่า เตอร์กิช บาร์ธ หรือต้นแบบการอาบ อบ นวด ในเมืองเราทุกวันนี้ กับอีกที่ก็คือ การอาบนํ้า และวิธีการอาบนํ้า ของชาวโรมัน หรือ "สปา" ที่พวกเรารู้จักนั้นเอง
ชีวิตที่ติดกับความหรูหราของชาวโรมัน ทำให้สถานที่อาบนํ้าของชาวโรมค่อยๆ ขยายตัว จากความธรรมดาสู่ความหรูหรายิ่งขึ้นตามสไตล์ สถานที่อาบนํ้าสาธารณะแบบที่ดีที่สุดเรียกว่า เธอเม่-thermae ซึ่งมีทั้ง ห้องร้อน-laconicum ห้องอาบนํ้าร้อน-caldarium ห้องเย็น-tepidarium ห้องอาบนํ้าเย็น-frigidarium ครบครัน
เวลาคนโรมันจะอาบนํ้า พวกเขามักเริ่มต้นด้วยการเล่นเกมบอลเพื่อออกกำลังกาย ในห้องบันเทิงพิเศษให้เหงื่อออกเสียก่อน จากนั้นก็เข้าไปไล่เหงื่อให้ออกมากขึ้นในห้องร้อน แล้วก็ล้างผิวด้วยนํ้ามัน จากนั้นก็เดินไปอาบนํ้าด้วยนํ้าร้อนในห้องอาบนํ้าร้อน เดินต่อไปในห้องเย็น ปล่อยให้ตัวเย็น ก่อนจะต่อด้วยการลงแช่นํ้าเย็นในอีกห้องหนึ่ง เป็นอันครบเครื่อง มองดูแล้วคล้ายกับผสมผสานยิมเนเซียม เตอร์กิช บาร์ธ เซาน่า และสระว่ายนํ้าสาธารณะเข้าไว้ในที่เดียวกัน
ไปๆ มาๆ เธอเม่ ของโรม ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับศูนย์การค้าของบ้านเราเดี๋ยวนี้ รัฐของโรมและคนร่ำรวยทั้งหลายนิยม ที่จะสร้างเอาไว้บริการคนแทบทุกมุมเมือง ทั้งในโรมและเมืองเล็ก เมืองน้อย ที่เป็นบริวาร ยิ่งกว่านั้น เธอเม่ เป็นที่นิยมทั้งคนร่ำรวย ที่มีปัญญาสร้าง ห้องนํ้า ไว้ใช้เอง (ห้องอาบนํ้าส่วนตัว balneum คล้ายกับ สระนํ้าที่มีขนาดเล็กกว่า ห้องนํ้าอย่างที่เรา คุ้นเคยเป็นปกติ) และคนยากจน เพราะความเป็นศูนย์รวม ไม่ว่าจะยากดีมีจนปานไหน ก็สามารถใช้บริการที่นี่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็น และเป็นเป้าให้ได้เห็น ทุกคนต้องการพบปะพักผ่อน และรับความบันเทิง กันทั้งนั้น
เธอเม่ ที่ว่า ปกติจะสร้างหรูหราพอๆ กับพระราชวังเลยล่ะ มีทั้งเสาหินอ่อน เพดานโค้ง พื้นประดับหินโมเสกอย่างหรู ติดตั้งทั้งนํ้าพุและรูปปั้น ว่ากันว่า เธอเม่ ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งคือ คาราคัลลาในโรม กินเนื้อที่ถึง 28 เอเคอร์ และสามารถรองรับ คนที่มาใช้ บริการในคราวเดียวกันถึง 1,500 คน แต่ใหญ่ ขนาดนั้นแล้ว ก็ยังสู้เธอเม่ของจักรพรรดิ ไดโอคลิเชี่ยน ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางของโรมไม่ได้!
แต่ก็มีคนโรมอีกบางส่วนไม่ค่อยชอบใจ พวกเขาเห็นว่า การอาบน้ำเห็นจะเป็นการชักนำ เข้าไปสู่ความเสื่อมเสีย มากกว่า จะได้รับความชื่นใจในการอาบน้ำแต่เพียงอย่างเดียว การอาบน้ำแบบ รวมกันผู้หญิงผู้ชาย เป็นเหตุให้มีโสเภณี เข้ามาแฝงตัวขายสินค้าคู่โลก สถานอาบน้ำบางแห่ง ก็มีภาพรวมดีกว่าซ่องหน่อยเดียว บางแห่งความแน่นของผู้หญิงผู้ชาย ที่เข้ามาเปลือยกายรวมกันอยู่ในห้องอบความร้อน ทำให้เกิดปัญหาการมีชู้ และการเปลี่ยนคู่นอน ขัดกับศีลธรรม ในสังคมโรมอันที่เขียนเป็นหนังสือไว้อย่างจัง
ความมึนเมาก็เป็นอีกปัญหาที่ตามมาจากการใช้ เธอเม่ อันที่จริงอันนี้ก็น่าเห็นใจ เนื่องจากความร้อนในห้องอบ กับความร้อนจากการออกกำลัง ทำให้คนกระหายง่าย และชาวโรมก็หนีไม่พ้นการระงับอาการคอแห้งด้วยไวน์สักเหยือก ดับร้อนไปมา ในที่สุดก็เมา ผลสุดท้ายพาไปสู่การทะเลาะทุ่มเถียงการล่อลวงและฉกชิงทรัพย์สิน
ไหนจะปัญหาคนเมา ปัญหาระหว่างหญิงชาย ปัญหาพวกเสียงดัง โดยเฉพาะที่น่าหมั่นไส้มากที่สุดเห็นจะเป็นพวกเศรษฐีชอบอวดรวย มาอาบน้ำทีต้องเอาทาสมาคอยรับเสื้อผ้า ราคาแพงระยับ มีทาสมาคอยนวดน้ำมันเพื่อจะเอาที่ขัดขี้ไคล (strigil) ทำด้วยโลหะมีค่าออกมาอวด ดูแล้วเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับการอาบน้ำ ซึ่งมีจุดประสงค์ เดิมคือ การรักษาร่างกายให้สะอาดเอาเลย ชาวโรมส่วนนี้จึงอ้างว่า การอาบน้ำสาธารณะน่าจะพาคนโรมให้ออกห่างจากวิถีชีวิตที่ดีงามเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราได้แต่นึกถึงความรุ่งเรืองของโรมในอดีต ท่ามกลางซาก ปรักหักพัง ซึ่งครั้งหนึ่งกลาย เป็นสถานที่หรูหรารุ่งเรือง ซากอดีตพวกนี้บอกเราได้ดีว่า พวกเขาเจริญทางวัตถุกันมากเพียงใด ที่อาบน้ำสาธารณะนับเป็นงานชิ้นเอก อย่างหนึ่งของชาวโรมัน ไม่ว่าความสวยงามในการก่อสร้าง ความสำเร็จด้านวิศวกรรม คนโรมันรักการอาบน้ำ ยอมรับมันเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ขนาดที่มีคำกล่าวไว้ว่า
"อาบน้ำ ไวน์ และผู้หญิงมักชักพาไปในทางชั่วเสมอ แต่มันก็ทำให้ชีวิต เป็นชีวิต"