บานรับเดือนแห่งความรัก ดอกชมพูภูคา ที่จังหวัดน่าน

หนึ่งเดียวในโลก ดอกชมพูภูคา ที่จังหวัดน่าน   

           ชมพูภูคา เป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราช ดำริฯ
                             

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก สำหรับคนที่มีความรักหลายๆคนคงจะมีโลกที่สดใสมองเห็นอะไรเป็นสีชมพูไปหมด 

สำหรับ ที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน ช่วงนี้ก็มีสีชมพูโดดเด่นเช่นกัน แต่ว่าหาใช่สีชมพูที่เกิดจากความรัก หากแต่เป็นสีชมพูที่เกิดจากการผลิบานของดอก 

"ชมพูภูคา" (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE) 

ต้นไม้พันธุ์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีรายงานการค้นพบในโลกเพียงที่เดียวคือที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 

โดย เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเคยมีรายงานการสำรวจพบต้นชมพูภูคาทางตอนใต้ ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบต้นไม้ชนิดนี้อีกเลย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปแล้ว จนในปี พ.ศ. 2532 ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์ ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ชมพู ภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าดงดิบ ตามไหล่เขาสูงชันที่มีความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นของอากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีค่อนต่ำ 

สำหรับลักษณะทั่วไปของ "ต้นชมพูภูคา" จะมีเปลือกเรียบสีเทา ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว 

ส่วนดอกเมื่อบานจะมีลักษณะคล้ายรูประฆัง กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ โดยปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็จะช่วยให้ต้นไม้ชนิดนี้ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา 

สำหรับ "ดอกชมพูภูคา" จะออกดอกเบ่งบานระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งผู้ที่สนใจก็สามารถไปชมดอกชมพูภูคา ได้ที่ "อุทยานแห่งชาติดอยภูคา" 

 ผู้สนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลปัว โทรศัพท์ 0 5479 1495 และ ททท. สำนักงานแพร่ 0 5452 1118 หรือที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทรศัพท์  054-701 000 






Credit: http://variety.teenee.com/foodforbrain/59590.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...