จับตาเทคโนโลยีไอทีใหม่ๆ ปี 2014

 

 

 

จับตาเทคโนโลยีไอทีใหม่ๆ ปี 2014

 

ปี 2013 ที่เพิ่งผ่านไปนับได้ว่าเป็นปีแห่งเทคโนโลยีดิจิตอลโดยแท้ เพราะเป็นอีกปีที่เราได้เห็นเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นในทุกด้าน สังเกตได้จากคนรอบตัวผมเองที่เปลี่ยนใจหันมาใช้เครื่องมือทันสมัยในการติดต่อหากันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่ที่ขยัน Line ถามไถ่ความเคลื่อนไหวของลูกชายคนนี้สามเวลาหลังอาหาร เจ้านายที่ทำงาน

(ซึ่งอายุเยอะแล้ว) หันมาใช้สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในการอ่านข่าว หรือการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำให้สามารถระดมมวลชนได้มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ที่ผมเคารพท่านหนึ่งถึงขนาดออกมากล่าวว่า “หากการชุมนุมเมื่อปี 2535 เรียกว่าม็อบมือถือ การชุมนุมในปี 2556 ก็อาจเรียกได้ว่าม็อบโซเชียลมีเดีย”

ปรากฏการณ์การใช้ “สื่อใหม่” ที่กล่าวมาเป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารสมัยใหม่ได้รับการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 3G ในเมืองไทยที่ได้ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีราคาถูกลง Wi-Fi ฟรีตามสถานที่ต่างๆ ทีวีดิจิตอลในเมืองไทยที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะมีผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ตลอดจนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาคุณภาพสูงและราคาไม่แพงได้รับการวางตลาดมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้น่าติดตามต่อไปว่าแนวโน้มเทคโนโลยีไอทีในปี 2014 จะเป็นอย่างไร และจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของเราได้มากน้อยเพียงใด
 
มัลติสกรีน : เมื่อจอเดียวไม่เคยพอ
ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายชิ้นไปพร้อมกันมากขึ้น
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ๆ กันอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและพกพา สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ททีวี ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ ภายในงาน IGNITION 2013 ที่จัดขึ้นโดยเว็บไซต์ Business Insider ได้วิเคราะห์ว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อข้ามไปมาระหว่างอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิดนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนเว็บฯ ในปี 2014 ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การสร้างสรรค์เนื้อหาโดยผู้บริโภค ตลอดจนการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ สิ่งที่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือก็คือปริมาณการใช้งานข้อมูลสารสนเทศบนเครือข่ายไร้สายที่จะเพิ่มมากขึ้น แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนส่วนติดต่อผู้ใช้งานให้ใช้งานได้ราบรื่น ไม่ว่าผู้บริโภคจะใช้งานผ่านอุปกรณ์ลักษณะใดก็ตาม
แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่มีอัตราส่วนการเติบโตสูงมากที่สุดก็คือ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ผลการสำรวจโดย BI Intelligence ซึ่งเป็นแผนกวิจัยของ Business Insider ค้นพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผู้คนใช้เข้าสู่โลกออนไลน์คือ อุปกรณ์พกพา นอกจากนี้ ผลการสำรวจโดย Experian Marketing Services ในเดือนพฤษภาคม 2013 ก็พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมงในการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ขณะที่ผลการสำรวจโดย Google เมื่อเดือนสิงหาคม 2012 ก็พบว่า ผู้บริโภคใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที ในการใช้งานแท็บเล็ตต่อครั้ง
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคจะหันไปใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาในการเข้าถึงเนื้อหาบนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ประกอบการควรจะทิ้งสื่อเดิมอย่างโทรทัศน์ไปเสียเลยทีเดียว ในบทความที่แล้วผมได้สรุปเนื้อหาว่า พฤติกรรมมัลติสกรีนของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในรูปแบบมิลติทาสกิ้งที่จะดูโทรทัศน์ไปด้วยขณะที่ใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ทำงานอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กำลังรับชม จึงหมายความว่า ผู้ผลิตยังพอมีโอกาสสร้างสรรค์เนื้อหารายการให้มีความน่าสนใจพอที่จะดึงสายตาคนดูกลับมาสู่จอโทรทัศน์ได้อีกครั้ง หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องหาช่องทางในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านทางหน้าจอที่กำลังถืออยู่ในมือ
กำเนิดใหม่โซเชียลมีเดีย
เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมามักจะเน้นการให้บริการแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดตสถานะ โพสต์รูป และเนื้อหามัลติมีเดีย หรือแชร์ข้อความต่างๆ เช่น Myspace, Hi5 และ Facebook ผู้ที่จะอยู่รอดได้ต้องมีการพัฒนาลูกเล่นใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยการคิดค้นขึ้นมาเองหรือหยิบยืมมาจากคู่แข่ง และมีพื้นฐานการใช้งานมาจากบนเว็บไซต์ กล่าวคือต้องใช้งานผ่านทางเบราว์เซอร์บนพีซีจึงจะสามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชั่น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของบริการลักษณะนี้ก็คือ หากมีการเพิ่มฟังก์ชั่นเข้าไปมากเกินก็จะเพิ่มความซับซ้อนในการใช้งาน อีกทั้งการที่บริการเหล่านี้พัฒนามาจากพื้นฐานการใช้งานบนเดสก์ท็อปยังขัดกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นับวันจะพึ่งพาแต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพามากขึ้น จึงเกิดช่องว่างให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ “เฉพาะทาง” เกิดขึ้นใหม่มากมาย จุดเด่นของบริการเหล่านี้คือ เน้นให้บริการเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ ส่งข้อความหากัน (Line, WhatsApp) อัพโหลดภาพ (Instagram, Snapchat) หรืออัพโหลดวิดีโอ (Vine, Instagram) อีกทั้งได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานกับอุปกณ์คอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น และมอบทางเลือกในการรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้มากขึ้น
 
Snapchat แอพฯ สุตฮิตที่เพิ่งปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการโดย Facebook
กรณีศึกษาที่น่าสนใจใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ การที่ Snapchat เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้ส่งภาพถ่ายที่จะลบตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่ออีกฝ่ายดู ปฏิเสธการเข้าซื้อกิจการโดย Facebook เพราะเห็นได้ชัดว่าทางผู้พัฒนาเล็งเห็นอนาคตอันสดใสของเครือข่ายสังคมออนไลน์ยุคหน้าที่เคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ สอดรับกับพฤติกรรมของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีแนวโน้มเป็นพวกชอบเปิดเผยตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านทางภาพถ่ายจนเกิดศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า “Selfie” ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า Facebook เริ่มสูญเสียกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นวัยรุ่นไปไม่น้อยเช่นกัน โดยมีรายงานบางฉบับระบุถึงสาเหตุว่า “เพราะพ่อแม่ของพวกเขาหันมาใช้ Facebook นั่นเอง”
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กำหนดแนวโน้มเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปี 2014 จึงไม่ได้เป็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีรายย่อยอื่นที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานเฉพาะทาง ใช้งานสะดวกรวดเร็ว และเน้นรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง
 
Wearable Devices : อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ได้
กราฟจาก BI Intelligence ที่ทำนายว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่จะกลายมาเป็นเทรนด์สุดร้อนในอีกไม่ช้า
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมาแรงในปีนี้และเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วนั่นก็คืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ สายรัดข้อมือ นาฬิกาข้อมือ และแว่นตา โดย IMS Research ได้คาดการณ์ไว้ว่า จะมีการจัดส่งอุปกรณ์ประเภทนี้เพื่อวางขายในตลาดมากถึง 171 ล้านหน่วย ภายในปี 2016 ขณะที่ ABI Research ได้ทำนายว่า ภายในปี 2018 จะมีอุปกรณ์ลักษณะนี้วางขายมากถึง 485 ล้านหน่วยต่อปี
 
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ สายรัดข้อมือไฮเทคที่มักใช้เพื่อตรวจจับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ปริมาณแคลอรี่ที่ถูกเผาผลาญ ประสิทธิภาพในการนอนหลับ และการออกกำลังกาย ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็เช่น จากค่าย Fitbit หรือจากผู้ผลิตอุปกรณ์ออกกำลังกายอย่าง Nike เป็นต้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ได้รับความนิยมก็คือ ราคาที่สมเหตุสมผล ใช้งานง่าย กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันจนผู้ใช้ไม่ต้องฝืนความรู้สึก สามารถติดตามผลได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือในแอพพลิเคชั่น และสามารถแบ่งปันข้อมูลร่วมกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
นาฬิกาข้อมือไฮเทคก็เป็นอีกหนึ่งในอุปกรณ์สวมใส่ที่คาดว่าจะมาแรงในปีนี้ โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดตัวไปบ้างแล้วจากค่ายชั้นนำอย่าง Sony และ Samsung หรือจากผู้ผลิตอินดี้อย่าง Pebble แต่อุปกรณ์ดังกล่าวในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมที่ยังไม่ดีพอ แบตเตอรี่ที่ยังใช้งานได้ไม่นานนักต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง รวมทั้งคุณประโยชน์ที่อาจจะยังไม่ชัดเจนนัก และยังต้องทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน แต่ข่าวล่าสุดระบุว่า Apple อาจเปิดตัวนาฬิกาข้อมือภายในปีนี้ ซึ่งนั่นอาจทำให้เราต้องหันมาจับตาดูตลาดนี้กันอีกครั้งว่า ความไฮเทคจะสามารถต่อกรกับความขลังของแบรนด์นาฬิกาข้อมือดั้งเดิมได้หรือไม่
นาฬิกาข้อมือไฮเทคจาก Apple ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเพียงจินตนาการของนักออกแบบ
สุดท้ายกับแว่นตาไฮเทคที่ได้รับการบุกเบิกโดย Google Glass ซึ่ง BI Intelligence ได้ทำนายว่าภายในปี 2018 จะมีอุปกรณ์ลักษณะนี้วางขายถึง 21 ล้านหน่วยต่อปี แต่อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้นั่นก็คือ ราคาขาย เพราะด้วยราคาที่ Google ตั้งไว้ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐ (ราว 48,000 บาท) นั้นนับว่าสูงมาก อีกทั้งผู้ผลิตยังต้องพัฒนาเครื่องมือที่เอื้อต่อการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพิ่ม รวมทั้งโอกาสและช่องทางในการหารายได้ด้วย เพราะจากการใช้งานที่ต้องสวมใส่อยู่ตลอดเวลานั้นจะให้โฆษณาโผล่อยู่ตลอดเวลาคงไม่เป็นผลดีแน่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องชักชวนให้ผู้บริโภคยอมรับและนำเสนอคุณค่าด้านการออกแบบให้เป็นเสมือนสินค้าแฟชั่น เพราะสิ่งที่แว่นตาแตกต่างจากอุปกรณ์สวมใส่อื่นก็คือ สามารถเห็นได้ชัดเจนและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่ได้ ที่ผ่านมา Google Glass ได้รับการครหาว่าเป็นของเล่นของพวกเนิร์ด เพราะใส่แล้วดูเหมือนหุ่นยนต์จากนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจากการถูกแอบถ่าย และความปลอดภัยขณะใช้งานโดยเฉพาะขณะขับรถ


ที่มา : http://www.marketingoops.com/  

Credit: http://108thinks.blogspot.com/
8 ก.พ. 57 เวลา 11:18 2,029 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...