10 ปรากฏการณ์ดังในรอบทศวรรษของเมืองไทย

 

 

 

10 ปรากฏการณ์ดังในรอบทศวรรษของเมืองไทย

 

นับจากปี พ.ศ.2544 หรือ รอบสิบปีที่ผ่านมานี้ เหมือนจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่มันก็ผ่านไปแล้วอย่างรวดเร็ว ถ้าเรามองย้อนกลับไป ในเมืองไทยของเราก็มีเรื่องต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เราลองมาดูกันว่าในรอบทศวรรษนี้มีอะไรเด่น ๆ เกิดขึ้นกับเราบ้าง…




1. เมืองไทย กับ วิกฤติศรัทธา


สังคมไทยเป็นสังคมแห่งพิธีกรรมและความเชื่อ คนไทยนำความเชื่อหลาย ๆ อย่างมาปนกัน จนบางครั้งแยกไม่ออกแล้วว่าสิ่งที่นับถือนั้นและปฏิบัติอยู่นั้นคือศาสนา พุทธ ฮินดู พราหมณ์ หรืออะไรกันแน่

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยภาวะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลกระทบต่อคนไทยด้วย เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม ค่าครองชีพ ความไม่แน่นอนในชีวิต ทำให้ผู้คนแสวงหาที่พึ่งทางใจ เป็นบ่อเกิดของกระแสความศรัทธาในสิ่งต่าง ๆ มากมาย

หนึ่งในนั้นที่โด่งดังที่สุดก็คือ “จตุคามรามเทพ” วัตถุมงคลทรงกลมที่ประกอบด้วยมวลสารไม่กี่ชนิด สร้างขึ้นครั้งแรกโดย พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจตงฉิน ผู้เลื่องลือในด้านคาถาอาคม และพยายามหากุศโลบายในการลดจำนวนอาชญากรรม แต่กลายมาเป็นกระแสร้อนแรงแบบฉุดไม่อยู่กันเลยทีเดียว และทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในบทบาทของวัดและพระสงฆ์ตามมา


2. เมืองไทย กับ โซเชียลเน็ตเวิร์ก


ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก พบว่าปัจจุบันมีการใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยราว 10 ล้านคน การสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 พบว่าไทยติดอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีการเติบโตของผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก คือ มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นราว 374,600 คนต่อสัปดาห์ ส่วนข้อมูลจากสถิติของไมโครซอฟต์ประเทศไทยในปี ค.ศ. 2009 พบว่า ผู้ใช้งาน MSN ในไทยติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก (ก่อนหน้านั้น กระแส Hi5 ในไทย ก็ขยายตัวอย่างสูงไม่แพ้กัน)


3. เมืองไทย กับ สถาบันกษัตริย์


ทศวรรษที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับพระราชวงศ์ไทยหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เริ่มด้วยการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่เมื่อเดือน มิถุนายน 2549 สำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทำให้พสกนิกรได้เป็นพระราชพิธีที่หาชมได้ยากยิ่งหลายอย่าง และได้ต้อนรับพระประมุขและพระราชวงศ์ของประเทศต่าง ๆ ถึง 25 ประเทศที่เสด็จมาร่วมถวายพระพรชัย

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2548 ชาวไทยก็ได้ยินดีกับการประสูตรของเจ้านายองค์น้อย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยก็ได้สูญเสียพระราชวงศ์อันเป็นที่รักพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวไทยทั้งปวง

และก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 คุณพุ่ม เจนเซน โอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ก็ถึงแก่อนิจกรรมจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ


4. เมืองไทย กับ ความร้อนแรงทางการเมือง


ทศวรรษนี้ คือ ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริง เริ่มจากรัฐบาลภายในการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีจาก “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” ว่าทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ มีการประท้วงยาวนานจนเกิดการรัฐประหารในที่สุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้ทักษิณต้องหลบหนีไปต่างประเทศ

หนึ่งปีให้หลังได้มีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ พรรคพลังประชาชนซึ่งมีฐานเดิมจากไทยรักไทยซึ่งถูกสั่งยุบได้รับเลือกและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ แต่ก็มีความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่กดดันจนต้องยุบอีกครั้ง

รัฐบาลใหม่ต่อจากนั้นมีแกนนำเป็นพรรคประชาธิปปัตย์ แต่ก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลนี้ โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ เกิดการสร้างวาทกรรมทางชนชั้นมากมาย ประชาชนแบ่งออกเป็นสองสีสองฝ่าย ประทุเป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อม มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ทำลายภาพลักษณ์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก


5. เมืองไทย กับ หมีแพนด้า


ปี พ.ศ.2546 หมีแพนด้า “ช่วงช่วง” และ “หลินฮุ่ย” มาถึงประเทศไทย สร้างกระแสความคลั่งไคล้แพนด้าขึ้น และในปี พ.ศ.2552 การถือกำเนิดของ “หลินปิง” โดยการผสมเทียมของนักวิจัยไทย ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แพนด้าฟีเวอร์” ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่สามารถทำการผสมเทียมแพนด้าได้สำเร็จ (หลังจากจีนและสหรัฐฯ)

เหตุการณ์นี้สร้างรายได้และปลุกกระแสอนุรักษ์สัตว์ แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคลั่งไคล้เกินเหตุจนไม่ใส่ใจสัตว์อื่น ๆ และมีผู้ทำ จระเข้แพนด้า สุนัขแพนด้า และช้างแพนด้า ขึ้นมาประชดและเรียกร้องความสนใจ


6. เมืองไทย กับ ภัยพิบัติ


ช่วงปลายปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้ประสบภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและสึนามิ หลังแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ เกิดขึ้นทางตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์พัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย มีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันได้ราว 5,500 คน (จากยอดเสียชีวิตรวมทั้งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียกว่า 200,000 คน)


7. เมืองไทย กับ โรคใหม่ ๆ


การเกิดขึ้นของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส เพราะมีความสามารถในการปรับตัวและกลายพันธุ์สูง โรคที่สร้างความตื่นตระหนกให้ทั้งโลกรวมถึงเมืองไทย คือ โรคซาร์ส (SARS) หรือโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งระบาดหนักในประเทศจีน

ต่อจากนั้นก็มีโรค “ไข้หวัดนก” ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยก็พบการระบาดในภาคกลาง มีการแจกจ่ายยาต้านไวรัส ควบคู่กับการระมัดระวังในการบริโภคสัตว์ปีก

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการระบาดของเชื้อ H5N1 ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ในนามของ “ไข้หวัด2009″ ซึ่งในประเทศไทยก็มีผู้ติดเชื้อหลายล้านคน แต่ส่วนมากร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ มีการฉีดวัคซีน และรณรงค์สวมผ้าปิดปาก ล้างมือ และพ่นยาฆ่าเชื้อในเขตชุมชน


8. เมืองไทย กับ วิกฤติอาหารและพลังงาน


ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯระบุว่า ทุกวันนี้โลกบริโภคน้ำมันราว 84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 342,000 บาร์เรล คิดเป็นอันดับที่ 36 ของโลกเลยทีเดียว แต่เราผลิตน้ำมันเองได้เพียงวันละ 144,000 บาร์เรล ซึ่งนั่นหมายถึง เราต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเกินครึ่ง คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วมากกว่ารายได้จากการส่งออกข้าวและยางพารารวมกันทั้งปีเสียอีก

ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นพรวดพราดในปี พ.ศ. 2551 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของกองทุนน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง มีการสนับสนุนให้ปลูกพืชที่สามารถนำมาผลิตพลังงานทดแทนจำพวกไบโอดีเซล ทำให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับพืชพลังงานมากกว่าพืชที่ใช้เป็นอาหาร ก่อให้เกิดการเบียดบังพื้นที่ผลิตอาหารเดิม ทั้งเกิดอุทกภัยทำลายพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้นในหลายพื้นที่


9. เมืองไทย กับ วิกฤติทางการเงิน


หลังจากเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 การล้มละลายของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่เก่าแก่กว่าร้อยปีในสหรัฐฯ อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อปี 2551 ก็เป็นสัญญาณเดือนว่าวิกฤติการเงินครั้งใหม่กำลังจะเกิดขึ้น

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กลายเป็นโดมิโนขบวนยาวที่ล้มต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ ลุกลามมาถึงประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ 70 และวิกฤติครั้งนี้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น

สินค้าและบริการที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อชนชั้นสูงน้อยมาก เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางจนถึงชั้นล่าง ความเหลื่อมล้ำในสังคมได้แรงส่งจากทรัพยากรที่ถูกถือครองโดยคนไม่กี่กลุ่ม แม้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะระบุว่า ตลอดสิบปีของการเก็บข้อมูล (ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2549) พบว่าคนจนในประเทศไทยลดน้อยลงอย่างมากจนเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรเท่านั้น (วัดตามรายได้ต่อเดือน ผู้ที่ถือว่ามีรายได้น้อยกว่า 16,620 บาทต่อปี จะถือว่าเป็นคนยากจน) แต่เรื่องรายได้ก็ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ใช้ตัดสินเรื่องโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร


10. เมืองไทย กับ ไฟใต้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


นับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง ที่นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 มาจนถึงเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและอำเภอตากใบ ความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ก่อความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2547-2551 รัฐบาลใช้งบประมาณราวปีละ 109,000 ล้านบาทในการแก้ปัญหาภาคใต้ แม้หลายฝ่ายจะยืนยันว่าตัวเลขการก่อเหตุจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น

นักวิชาการด้านความมั่นคงระบุว่า การละเลยมิติทางวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง การเคลื่อนไหวของมุสลิมหัวรุนแรง ยิ่งตอกย้ำทัศนคติด้านลบที่คนทั้งประเทศมีต่อมุสลิมมากขึ้น จนเกิดความไม่เข้าใจและสิ่งที่เรียกว่า “อคติ”

เป็นไปได้ว่าความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสาเหตุที่สั่งสมมานานกว่าร้อยปี ทั้งความอยุติธรรมของภาครัฐ และความเหลื่อมล้ำอาจส่งผลในด้านความคิด และพัฒนาไปสู่ความรุนแรง แม้บางฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจเป็นความคิดของผู้ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจมืดบางประเภทในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีใครพบหลักฐานที่ว่านี้
 
Credit: http://108thinks.blogspot.com/
6 ก.พ. 57 เวลา 14:17 3,277 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...