โรคประสาท โรคจิตหลอน.. มาดูอาการของคนที่เป็นโรคนี้กัน
น้าชาติคะ
หนูสนใจเกี่ยวกับเรื่อง จิตวิทยาค่ะ อนาคตอยากเรียนทางนี้ ตอนนี้หนูสงสัยเกี่ยวกับเรื่องที่คนป่วยเป็นโรคประสาทหลอน ที่คิดจินตนาการไปเอง ได้ยินเสียงเอง ว่าเกิดจากอะไร ทำไมถึงเกิดกับคนๆ นั้น เป็นเพราะกระทบกระเทือนจิตใจหรือไม่ และรักษาหายหรือไม่ รบกวนน้าชาติให้ความกระจ่างด้วยค่ะ / โบว์
ตอบ
ผู้เชี่ยวชาญจากกรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลมาว่า อาการ จิตหลอนเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตที่เรียกว่า จิตเภท ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Schizophrenia (สคิสโซฟรีเนีย) ผู้ป่วยจะขาดการติดต่อกับสิ่งแวดล้อมหรือมีบุคลิกภาพที่แตกแยก
โรคจิตเภทเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งในสมอง เกิดจากสารเคมีชนิดหนึ่งในสมองที่เรียกว่า "โดปามีน" (dopamine) มีภาวะไม่สมดุล .. สารโดปามีนเป็นสารที่ส่งผลต่ออารมณ์ของบุคคล มีความ ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยจิตเภท จะเกิดจากสารโดปามีนในสมองสูงเกินไป
จิตเภทถือเป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการควบคุมพฤติกรรมบางอย่างที่จะกระตุ้นให้อาการเลวร้ายลง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน การอดนอน
หากตนเองหรือคนรอบข้างสังเกตพบสัญญาณผิดปกติ ก็จะรักษาให้หายเป็นปกติ หรืออาการดีขึ้นได้
การรักษาที่สำคัญคือ กินยาอย่างต่อเนื่อง ควบคุมพฤติกรรมที่จะกระตุ้นอาการ คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน และการอดนอน และจำเป็นต้องออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะหากขาดยาเพียง 2-6 เดือนอาการของโรคก็จะกำเริบขึ้นอีก
อาการสำคัญของผู้ป่วยจิตเภท ได้แก่
- หูแว่ว เช่น ได้ยินเสียงคนพูดคุย ได้ยินเสียงคนพูดตำหนิ นินทา ใส่ร้าย และพูดโต้ตอบเสียงนั้นเพียงคนเดียว ทางวิทยาศาสตร์สรุปว่า หากเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น จะป่วยด้วยโรคจิต เภทหลงผิด เช่น คิดว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ เวทมนตร์ หรือคิดว่ามีคนจ้องทำร้ายร่าง กายตลอดเวลา
- ความคิดผิดปกติ เช่น พูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว พูดไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ตามปกติ
- พฤติกรรมผิดปกติ เช่น อยู่ในท่าแปลกๆ หัวเราะหรือร้องไห้ สลับกันเป็นพักๆ
- แต่งตัว หรือใช้ชีวิตผิดปกติไปจากเดิมมากๆ
การแสดงออกของผู้ป่วยอาการหนักแต่ละ รายจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์เดิม รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการหวาดกลัวและไม่เป็นอันตรายต่อ ผู้อื่น
การวินิจฉัยของแพทย์จะพิจารณาจากอาการ ของผู้ป่วย ว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่ ป่วยเรื้อรังหรือไม่ ความสามารถในการดำรงชีวิตเสื่อมถอยหรือไม่ เช่น ทำงานไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ เมื่อป่วยแล้วไม่หายเป็นปกติเหมือนก่อนป่วยหรือไม่
ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนต่างจัด หายารักษาโรคจิตเภท ในราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรับยาได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น และส่งผลดีต่อการรักษา
ประชาชนทั่วไปทดสอบความผิดปกติทางจิตได้ หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1667 หรือจิตแพทย์
ในยุคนี้การพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่า อาย เพราะแสดงว่าบุคคลนั้นทราบปัญหาของตนเอง รู้จักสำรวจตนเองและยอมรับความจริง พร้อมพยายามหาทางแก้ไข ซึ่งหากทราบความผิดปกติตั้งแต่ต้นจะทำให้การรักษาง่ายขึ้น รู้เร็วรักษาก่อน หายได้ไม่ยาก
ที่มา นสพ.ข่าวสด