นายดามาโซ มักบูเอล ประธานเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี มองการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีความชอบธรรมแม้จะมีผู้ใช้สิทธิราว 45% หากศาลรธน. ทำให้เป็นโมฆะจะเป็นการไม่เคารพสิทธิประชาชนที่ได้เลือกตั้งไปแล้ว
4 ก.พ. 2557 นายดามาโซ มักบูเอล ประธานเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL/อันเฟรล) ชาวฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงสถานการณ์หลังการสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทั่วประเทศที่กกต. เปิดเผยว่าอยู่ที่ราวร้อยละ 45 นั้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ที่มีความรุนแรงและบรรยากาศความไม่ปลอดภัย ถือว่าค่อนข้างใช้ได้ เนื่องจากมีหลายเหตุผลที่อธิบายจำนวนผู้มาใช้สิทธิลดลงจากปีที่แล้ว จากที่เคยอยู่ที่ร้อยละ 75
นายดามาโซ มักบูเอล ประธานเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี
เขากล่าวว่า นอกจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัยแล้ว ประชาชนจำนวนมากยังตั้งข้อสงสัยกับผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่าจะถูกตัดสินเป็นโมฆะหรือไม่ ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจไม่ออกไปเลือกตั้ง นอกจากนี้ กกต. เอง ยังทำหน้าที่ของตนเองไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการแจ้งหน่วยเลือกตั้งที่ถูกย้าย ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียสิทธิเพราะหาหน่วยเลือกตั้งไม่เจอ
นอกจากนี้ ความไม่มั่นใจของกกต.เองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากไม่อยากออกมา เพราะที่ผ่านมา กกต. ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลย มีแต่การออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าควรจะเลื่อน กลัวจะมีอันตราย ฯลฯ เท่านั้น ต่างจากกกต. ชุดที่แล้วที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าชุดนี้ เขากล่าว
ดามาโซอธิบายถึงการกระทำของผู้ไม่ไปเลือกตั้งของกลุ่มกปปส. ว่า เป็น "การขัดขืนของพลเมือง" (civil disobedience) และการท้าทายกฎหมาย ไม่ใช่ "การใช้สิทธิในการไม่ไปเลือกตั้ง" เพราะกฎหมายของไทยเป็นประเทศไม่กี่ประเทศในเอเชีย กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นการบังคับ (compulsory voting) หากไม่ไปจะมีบทลงโทษ เช่น การตัดสิทธิลงเป็นผู้สมัครในครั้งหน้า เช่นเดียวกับในออสเตรเลีย หรือบราซิล ที่พลเมืองที่ไม่ไปเลือกตั้งจะถูกปรับเป็นเงินค่าปรับ
อย่างไรก็ตาม เขาเรียกการขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนี้ของกลุ่มกปปส. ว่าเป็น “อาชญากรรม”
เมื่อถามถึงเรื่องความชอบธรรมของผลคะแนนจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้ง เขากล่าวว่า ร้อยละ 45 ไม่ได้หมายความว่าผลดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมเพราะน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าหากได้ผลเลือกตั้งน้อยว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นโมฆะ อย่างการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาในสมัย Bill Clinton ก็มีผู้ไปใช้สิทธิร้อยละ 49 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลดังกล่าวขาดความชอบธรรม
“ในกฎหมายระบุว่า ในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว หากได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 20 ก็ถือว่าชนะในเขตนั้น ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน จำนวนร้อยละ 45 ทำไมถึงจะต้องไม่มีความชอบธรรม?” ดามาโซกล่าว
“เท่าที่ผมทราบ ไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนในโลกนี้ที่จะสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้เพราะมีผู้มาใช้สิทธิน้อย”
ในกรณีของบังคลาเทศ ที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีผู้มาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 20 เพราะฝ่ายค้านได้บอยคอตต์ทั้งหมด เขากล่าวว่ากรณีนี้ต่างจากไทย ตรงที่พรรครัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ไม่จัดให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นอิสระ และจัดตั้งกกต. ที่รัฐบาลคุม ดังนั้น การเลือกตั้งในบังคลาเทศครั้งนี้จึงไม่มีความชอบธรรม ต่างจากของไทยที่กกต. เป็นหน่วยงานอิสระจากรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กฎหมายการเลือกตั้งที่ใช้ในปัจจุบัน ก็แก้ไขในปี 2554 โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
ต่อเรื่องการที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดั่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปยื่นว่าขัดหลักที่การเลือกตั้งต้องจัดภายในวันเดียว และขัดต่อมาตรา 68 เขากล่าวว่า การโมฆะผลการเลือกตั้งจะมีวิธีเดียวเท่านั้น คือการเลือกตั้งจะต้อง “ขัดกฎกติกาตามกฎหมายที่ได้วางเอาไว้” เช่น มีการทุจริต หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเข้าข้างรัฐบาล และถ้าหากจะโมฆะ ก็ต้องโมฆะเฉพาะเขตที่มีปัญหา ไม่สามารถโมฆะการเลือกตั้งทั้งประเทศได้ มิเช่นนั้นจะถือเป็นการไม่เคารพคะแนนเสียงคนที่ได้ลงไปแล้ว
นอกจากนี้ ข้อโต้แย้งที่ว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายในวันเดียวได้ จึงควรเป็นโมฆะ เขากล่าวว่า ในกฎหมายการเลือกตั้งได้ระบุไว้อยู่แล้วว่า หากมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ภัยพิบัติ หรือความรุนแรง สามารถจัดเลื่อนการลงคะแนนได้ จึงไม่ได้หมายความว่าจะขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้ออ้างที่ฝ่ายค้านอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง อีกทั้งในหลายจังหวัดภาคใต้ไม่สามารถจัดได้ จึงไม่เป็นการเลือกตั้งที่ใสสะอาดและยุติธรรม และควรจะเลื่อนออกไป ดามาโซกล่าวว่า หากอ้างเช่นนั้น การเลือกตั้งในประเทศในอัฟกานิสถานคงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย
“ถ้ากกต. ของอัฟกานิสถานสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ ผมคิดว่าที่นี่ก็คงไม่ใช่ war zone อะไรขนาดนั้น”
ไรอัน วีลเลอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ของอันเฟรล กล่าวเสริมว่า หากการเลื่อนเลือกตั้งสามารถรับประกันว่าจะยุติการประท้วง ความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามได้ หรือหากพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัคร ก็อาจจะมีเหตุผลให้เลื่อน แต่ก็ไม่มีข้อเสนอจากฝั่งดังกล่าว ดังนั้นแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความให้การเลือกตั้งสามารถเลื่อนได้ แต่การเลื่อนเลือกตั้งก็จะยิ่งทำให้ความรุนแรงยืดเยื้อออกไป