สกู๊ปพิเศษ : บันทึก "ความรุนแรง" ข้อมูลสำคัญประวัติศาสตร์ โดย พงษ์ผกา ภวภูตานนท์ฯ

เมื่อใดที่เกิดความรุนแรงซึ่งนำไปสู่การสูญเสียขึ้นในสังคม เมื่อเวลาผ่านไปและเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นประวัติศาสตร์ การจะนำข้อมูลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์มาศึกษา หรือใช้เป็นหลักฐาน ย่อมไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ครอบคลุม เพราะต่างฝ่ายต่างคงยืนยันความถูกต้องชอบธรรมของฝ่ายตน ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลในทุกแง่ทุกมุมเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยความจริงย่อมเป็นสิ่งจำเป็น

โครงการเรียนรู้อาเซียนในมิติวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) จัดเสวนาในหัวข้อ "การบันทึกและการเข้าถึงประวัติศาสตร์ของความรุนแรงในอาเซียน" ขึ้น โดยมี น.ส.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมาให้ทัศนะ

อ.ฮาเบอร์คอร์นกล่าวว่า การเข้าถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรงมีหลายหนทางคือ 1.เอกสารของรัฐ ซึ่งประชาชนไม่ควรคิดว่ารัฐไม่บันทึกไว้ แต่ให้ตั้งคำถามว่ามันยากจะเข้าถึงหรือไม่

2.เอกสารของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มอำนาจอื่นที่พยายามรวบรวมชุดข้อมูลขึ้นมา ปกปิดข้อมูลจากรัฐ

3.คำบอกเล่า การส่งต่อความรุนแรงจากคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น 

และ 4.เรื่องสั้นและนวนิยาย งานศิลปะ ภาพยนตร์ ความเงียบ ซึ่งมีบทบาทผลักดันให้สังคมเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ที่ยังคลุมเครืออยู่

การเข้าถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์ อ.ฮาเบอร์คอร์น ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอาเซียนที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามเย็นขึ้นมา 3 กรณี ได้แก่ เหตุการณ์เผาบ้านนาทราย อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ในประเทศไทย เมื่อปี 2517 พบว่ามีความขัดแย้งของข้อมูลบันทึกระหว่างรัฐกับประชาชนจนต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาค้นหาความจริง

ถัดมา เหตุการณ์เรือนจำ S-21 หรือเรือนจำตวลสเลง ยุคเขมรแดง ปี 2522 ซึ่งมีการคุมขังและทรมานนักโทษ สะท้อนออกมาในงานเขียนชื่อ เงาแห่งฝน ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ซึ่งเป็นมรดกจากการเผชิญหน้าและความรุนแรงในสังคมกัมพูชา

และสุดท้าย เหตุการณ์สังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ที่ถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มเรื่อง The Act of Killing ปี 2555 กำกับโดย โจชัว โอปเพนไฮเมอร์ เป็นต้น

เหล่านี้เป็นตัวอย่างแหล่งที่มาของหลักฐานสำหรับการศึกษาความรุนแรงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือจากรัฐ

สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงในรัฐไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ความรุนแรงนอกระบบและกฎหมาย และการมีส่วนร่วมในโครงการสิทธิมนุษยชนต่อรัฐไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ความร่วมมือสิทธิสากล

อ.ฮาเบอร์คอร์นกล่าวว่า เราต้องตั้งคำถามว่าเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน อย่าคิดว่าไม่มีการบันทึก เพราะแม้รัฐจะบอกว่าไม่มีบันทึกไว้ แต่ความจริงแล้วรัฐต้องบันทึกการใช้ความรุนแรงไว้เสมอ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง อยู่ที่ว่าใครจะเข้าถึงเอกสารเหล่านั้นได้หรือไม่

"เราต้องตั้งคำถามจนกว่าจะมีหลักฐานพอสำหรับคำตอบ" อ.ฮาเบอร์คอร์นกล่าว 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...