กระดูก เป็นแกนของร่างกาย เป็นโครงสร้างหลักของร่างกายที่มีความสำคัญในการค้ำจุนอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงท่าทางการยืน การเดิน และการทรงตัว ภก.ภาคภูมิ ตรีสิงหวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากเมก้า วีแคร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีดูแลกระดูกไว้อย่างน่าสนใจว่า โครงสร้างกระดูกที่แข็งแรงเกิดจากการทำงานภายในกระดูกที่สมดุล คือมีทั้งการทำลายกระดูกเก่า และสร้างกระดูกใหม่ทดแทนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่ออายุขึ้นเลข 3 กระบวนการสร้างกระดูกใหม่กลับลดลง ทำให้กระดูกบางมากขึ้น ความสามารถในการรับน้ำหนักตัวลดลง และเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในระยะยาว
อันตรายจากโรคกระดูกพรุน เปรียบเสมือนตัวอิจฉาในละคร ที่เรียบร้อยเป็นคนดีในตอนต้น แต่กลับร้ายกาจในตอนจบ ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่า ในช่วงที่กระดูกเริ่มบางนั้น ร่างกายจะไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นเลย แต่หากละเลยไม่ดูแลกระดูก กระดูกจะมีความบางมากขึ้นจนเข้าขั้นที่เรียกว่า “โรคกระดูกพรุน” ซึ่งเกิดความผิดปกติต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ทำให้หลังโก่ง ไหล่งุ้มกว่าปกติ พุงยื่น มีอาการปวดหลัง และส่วนสูงลดลง
ส่งผลทำให้การทำงานของอวัยภายในช่องท้อง และช่องอกลดลง เกิดปัญหาต่อระบบย่อยอาหาร และการหายใจติดขัด ที่สำคัญที่สุดคือ กระดูกแตกหักได้ง่าย กระดูกที่มักพบปัญหาการแตกหักคือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ
โดยผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกแตกหัก พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตใน 1 ปีแรกสูงถึง 20% เนื่องจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และอีกกว่า 50% ของผู้ป่วยกลุ่มเดียวกัน ไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีเหมือนเดิม ทำให้ส่งผลเสียต่อทั้งด้านสุขภาพ และบุคลิกภาพของตัวผู้ป่วยเอง
สำหรับเทคนิคง่าย ๆ ในการดูแลกระดูก มี 3 ข้อ คือ
- เสริมแคลเซียม เป็นแร่ธาตุหลักของโครงสร้างกระดูก เพราะคนเราจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุแคลเซียมวันละ 800 -1,200 มก. ต่อวัน แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมคือ นม โยเกิร์ต ถั่ว งา และผักใบเขียว
- เสริมวิตามินดี เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อกระบวนการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย การขาดวิตามินดีจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ นอกจากนี้ วิตามินดียังช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่มัดกล้าม
จากการศึกษาในผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับวิตามินดีเสริม จะทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง และลดโอกาสการล้มได้ถึง 22% และยังเสริมฤทธิ์กับแคลเซียมในเรื่องของการป้องกันโรคกระดูกพรุน
- การวิ่ง ช่วยสร้างมัดกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และส่งเสริมให้แคลเซียมเข้าไปสะสมที่กระดูกได้อย่างเต็มที่ ในผู้สูงอายุอาจเลือกการเดินอย่างต่อเนื่องวันละ 40- 60 นาที ทดแทนการวิ่ง ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรงได้