มนุษย์เงินเดือน ยื่นภาษีอย่างไร ให้ถูกใจสรรพากร

ช่วงนี้ถือเป็นเทศกาลยื่นภาษี สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเสียภาษีเพิ่มจากที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็คงยังไม่อยากจะคิดเรื่องนี้ และคงจะยื่นภาษีใกล้ ๆ วันสุดท้ายก่อนวันครบกำหนดเป็นแน่ แต่หากใครที่มีรายการลดหย่อนเยอะ เมื่อคำนวณแล้วสามารถขอคืนได้ก็คงอยากยื่นเพื่อจะได้รับเงินคืนมาจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนเพื่อให้เงินออกดอกออกผลต่อไป แต่หลายคนก็มักพบความยุ่งยากในการยื่นภาษี ซึ่งวันนี้เรามีข้อแนะนำเพื่อขจัดความยุ่งยากที่เคยเกิดให้หมดไปค่ะ

อย่างแรก ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเรามีเงินได้ประเภทใดบ้าง หากมีเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เพียงอย่างเดียว เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งจะต้องยื่นภาษีในแบบ ภ.ง.ด.91 แต่ถ้าหากมีเงินได้ประเภทอื่นๆ เข้ามาในระหว่างปีภาษี ไม่ว่าจะเป็นค่านายหน้า ค่าเบี้ยประชุม ดอกเบี้ยจากเงินฝาก เงินปันผลจากหุ้น เงินได้จากค่าเช่า รวมถึงเงินได้จากการขายกองทุนรวม RMF และ LTF ซึ่งเงินได้เหล่านี้หากมนุษย์เงินเดือนมี ไม่ว่าจะมีเพียงรายการเดียวหรือมากกว่า ก็ต้องเปลี่ยนแบบการยื่นภาษี จากแบบภ.ง.ด. 91 เป็น ภ.ง.ด. 90 ถึงแม้เงินได้ที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ต้องรวมคำนวณภาษีก็ตาม

อย่างที่ 2 นำค่าลดหย่อนที่มีทั้งหมดมากรอกในแบบ ภ.ง.ด. สำหรับคนที่มีคู่สามารถเลือกยื่นภาษีได้ 3 แบบด้วยกัน

-ยื่นเฉพาะของตัวเอง หากคู่สมรสและตนเองมีรายได้ไม่ต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการยื่นเฉพาะของตัวเอง หรือรวมยื่นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแยกยื่นเฉพาะเงินเดือนส่วนเงินได้ที่เหลือก็นำไปรวมกับคู่สมรสได้ค่ะ สำหรับการเลือกยื่นแบบนี้ จะต้องลองคำนวณว่าแบบไหนประหยัดภาษีได้มากที่สุดก็เลือกยื่นแบบนั้นค่ะ

-รวมยื่นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้รวมน้อยกว่า แต่มีสิทธิลดหย่อนมากกว่า

-แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน เหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีเงินเดือนสูง แต่มีรายได้อื่นไม่มาก การแยกยื่นเฉพาะเงินเดือนจะช่วยลดฐานภาษี หากเงินเดือนมากกว่ารายได้รวมของคู่สมรสบวกกับรายได้ประเภทอื่น

อย่างที่ 3 คือการรวบรวมเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสลิปเงินเดือน หนังสือรับรองดอกเบี้ย หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หนังสือรับรองการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม RMF และ LTF หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน หนังสือรับรองการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แนะนำให้รวบรวมเอกสารให้ครบก่อนยื่น เพราะบ่อยครั้งเมื่อยื่นภ.ง.ด. ไปแล้ว ทางสรรพากรจะเรียกขอดูเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้น หากเรามีเอกสารไม่ครบถ้วน ก็อาจทำให้การขอคืนภาษีเกิดความล่าช้าได้ค่ะ

สุดท้าย คือการเลือกว่าจะยื่นภาษีผ่านช่องทางใด โดยสามารถเลือกยื่นด้วยตนเองที่สรรพากรพื้นที่ หรือยื่นผ่านออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 นี้ค่ะ พยายามอย่ายื่นเกินระยะเวลาที่กำหนดนะคะ เพราะอาจจะทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เนื่องจากยื่นไม่ทันกำหนดค่ะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการยื่นแบบภาษีเงินได้มนุษย์เงินเดือน สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...