เมื่อสังคมออนไลน์เป็นเป้าใหญ่ภัยบนเน็ต

 

เมื่อสังคมออนไลน์เป็นเป้าใหญ่ภัยบนเน็ต

 

 

ทั้งเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ต่างตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี โดยอาศัยกระแสความนิยม ใช้ในการหลอกลวง เป็นเครื่องมือขโมยข้อมูล....

ขณะนี้ ดูเหมือนกระแสการใช้งานสังคมออนไลน์ เริ่มกลับมาสร้างสีสันให้กับสังคมไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น คนทำงาน ผู้ใหญ่ นักวิชาการ สื่อมวลชน ศิลปิน ดารานักร้อง ไปจนถึง นายกรัฐมนตรี นักการเมือง ที่ขยับจากการใช้เครือข่ายเพื่อนออนไลน์อย่าง ไฮไฟว์ ได้ขยับปรับกลุ่มมาสู่เฟซบุ๊คที่โดดเด่นด้วยเกมแอพลิเคชัน และแอดออนที่เชื่อมเข้ากับ เว็บสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนคอนเทนท์ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ รูปภาพ หรือวิดีโอ รวมไปถึงความคิดเห็นส่วนตัว ที่ไปปรากฎบนหน้าสถานะ

ขณะเดียวกันเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ยังใช้งานผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพา เช่น สมาร์ทโฟน รุ่นใหม่ๆ อาทิ แพลตฟอร์ม ซิมเบียนโฟน วินโดวส์ โมบายล์ ไอโฟน แอนดรอยด์ และ แบล็กเบอรี่ ที่กำลังคู่คี่สูสีแย่งฐานผู้ใช้งานกันอยู่ เนื่องจากสามารถใช้งานไมโครบล็อกกิ้ง ทวิตเตอร์ ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ด้วยการที่สื่อสารกันผ่านตัวอักษร และเสริมการเชื่อมโยงอัลบัมภาพออนไลน์ และเว็บไซต์เฟซบุ๊ค ทำให้ไปเข้าตาเหล่าแฮกเกอร์ผู้ไม่หวังดี ที่มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ จากการหลอกลวง หรือ ล้วงความลับข้อมูลส่วนตัวผ่านสังคมออนไลน์

นายนพชัย ตั้งไตรธรรม ที่ปรึกษาทางเทคนิค บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึง รายงานสถานการณ์อีเมล์ขยะประจำเดือน ก.ค.2552 ว่า ปริมาณอีเมล์ หรือ สแปมเมล์ ขยะยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90% นอกจากสแปมเมอร์เกาะกระแสเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็คสัน วันชาติของสหรัฐฯ มาใช้จุดประเด็นความสนใจของผู้ใช้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่สแปมเมอร์ได้นำเทคนิคใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับสแปมรูปมา และยังอาศัยกระแสนิยมของ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น เฟซบุค หรือ ทวิตเตอร์ มาใช้ในการล่อลวงและแพร่กระจายหนอนไวรัส เพื่อหลอกล่อผู้ใช้งาน หรือ ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกเป็นเหยื่อ พร้อมขโมยเอาข้อมูลส่วนตัว

ที่ปรึกษาทางเทคนิค บ.ไซแมนเทคฯ อธิบายต่อว่า สแปมเมอร์จะใช้ทวิตเตอร์มาหลอกล่อเหยื่อให้ติดกับการโจมตีด้วยวิธีการส่งข้อความหลอกลวง หรือ ฟิชชิ่ง และเมื่อเร็วๆ นี้ ไซแมนเทคสังเกตเห็นการจู่โจมลักษณะเดียวกันในระลอก 2 ครั้งนี้เป็นการแอบอ้างชื่อทวิตเตอร์ เพื่อส่งอีเมล์เชิญชวนที่มาพร้อมหนอนไวรัส ที่พร้อมแพร่กระจายโดยการส่งอีเมล์จำนวนมาก โดยข้อความที่ไซแมนเทคสังเกตพบนั้น ถูกส่งโดยบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ แต่สิ่งที่แตกต่างจากการส่งข้อความบนทวิตเตอร์ของจริง คือ ในข้อความเชิญชวนนั้น จะไม่มีลิงค์เชิญชวนปรากฏอยู่ในเนื้อหา 

นายนพชัย อธิบายเสริมว่า สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นไฟล์แนบในรูปของ .zip แทน ที่ชวนให้ผู้รับเข้าใจว่าเป็นการ์ดเชิญแนบมาด้วย และการ์ด .zip นี่แหละ คือ การคุกคามจากหนอนไวรัสประเภท W32.Ackantta.B@mm ที่มีการตรวจพบเป็นครั้งแรกในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเป็นไวรัสประเภทอีการ์ด โดย W32.Ackantta.B@mm โดยจะแพร่กระจายด้วยการส่งอีเมล์จำนวนมาก จากเครื่องที่ติดไวรัส อีกทั้งยังแพร่กระจายด้วยการทำสำเนาตัวเอง ไปอยู่ในไดร์ฟที่มีผู้นำมาต่อกับเครื่อง รวมถึงในโฟลเดอร์ที่มีการใช้งานร่วมกัน

ขณะที่ ศูนย์วิจัย เทรนด์ แล็ปส์ บริษัทเทรนด์ ไมโคร อิงค์ ได้รายงานระบุว่า เว็บไซต์ไมโครบล็อกกิ้งทวิตเตอร์ (www.twitter.com) ยังคงได้รับความนิยมในบรรดาผู้เล่นสังคมออนไลน์ต่อไป บรรดาผู้ใช้งานก็ยังคงได้รับคำเชิญ และอีเมล์อัพเดทต่างๆ จากผู้อื่น และบรรดาสแปมเมอร์ก็จะยังคงใช้ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายเชิงสังคมต่างๆ ที่ได้รับความนิยม เป็นช่องทางในการล่อลวงต่อไป โดยในกรณีที่อาชญากรไซเบอร์ไม่ได้ใช้ช่องโหว่ซีโร่เดย์ในการโจมตี พวกเขาจะเลือกใช้ความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นของทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือมากกว่า 



รายงานของเทรนด์ แล็ปส์ อธิบายอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่า หนอนอินเทอร์เน็ต KOOBFACE ที่ตรวจพบในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พุ่งเป้าโจมตีไปที่ทวิตเตอร์ และในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่าการโจมตีในลักษณะนี้กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก 

รายงานของเทรนด์ แล็ปส์ อธิบายด้วยว่า จากการศึกษาล่าสุดพบว่า หนอนในตระกูลนี้ได้รับการพัฒนาให้ยากต่อการกำจัด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอันตรายของ การทวิต หรือ ข้อความที่ส่งขึ้นไปบนทวิตเตอร์ ที่จะมีการแสดงข้อความการลงทะเบียนซอฟต์แวร์บำรุงรักษา ที่คล้ายกับโปรแกรมป้องกันไวรัสลวง และจากการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบด้วยว่าเว็บไซต์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่เก็บซอฟต์แวร์ปลอมแล้ว ยังมีเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้ส่งทวิตได้ในปริมาณมากอีกด้วย



นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนสำหรับผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในการใช้งานเว็บไซต์ชื่อดังทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เพราะยิ่งได้รับความนิยมมีจำนวนผู้ใช้งานมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่หมายปองของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ และแฮกเกอร์ ที่มุ่งขโมยข้อมูลส่วนตัว และแพร่กระจายมัลแวร์ร้ายต่างๆ ไปฝังตัวอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการใช้เพื่อดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์ หรือหวังในทรัพย์สิน และการที่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของใหม่ การป้องกันของโปรแกรมระบบความปลอดภัย อาจจะยังตามไม่ทัน จึงควรใช้งานอย่างระมัดระวัง และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ จะเป็นการดีที่สุด...      

Credit: http://www.bcoms.net/article/detail.asp?id=890
#ภัยในเน็ต
wansopa
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
9 เม.ย. 53 เวลา 20:15 1,739 3 36
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...