ทึ่ง บราซิลปฏิรูปศึกษาพร้อมไทยแต่ไปไกลกว่าหลายก้าว

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์กรุงเทพฯ มีการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาครั้งที่ 7 เรื่อง “การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศบราซิล”จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ซึ่งดร.ไกรยสภัทราวาท ผุ้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.กล่าวว่า บราซิลเริ่มปฏิรูปการศึกษาในปี2542 พร้อมกับไทย แต่บราซิลมีพัฒนาการทางการศึกษาอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากคะแนนสอบพิซ่า(PISA)ที่เพิ่มเกือบ 40 คะแนนในเวลา 10 ปี ถือว่าเร็วเป็นอันดับหนึ่งจาก 65ประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ในขณะที่คะแนนของเด็กไทยกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบราซิลยังเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาไม่มากแต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาถึง 1 ใน 4ของงบประมาณประจำปี ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกแต่ผลสัมฤทธิ์กลับไม่สัมพันธ์กับเงินที่ทุ่มลงไป ซึ่งหากยังเป็นอยู่เช่นนี้เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีบราซิลคงวิ่งไปไกลจนเราตามไม่เห็นฝุ่นอย่างแน่นอน

 

 

“ เครื่องมือสำคัญที่ทำให้บราซิลประสบความสำเร็จคือการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ Basic Education Development Index : IDEB ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งผูกติดกับข้อมูลของเด็กเป็นรายบุคคลแบบไม่มีหลุดหายแม้แต่คนเดียวและเป็นข้อมูลที่ตรงไปตรงมา ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะถูกส่งต่อตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงรัฐบาลกลางเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างๆทำให้สามารถบริหารจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะเด็กแต่ละคนก็มีปัญหาต่างกัน วิธีแก้ไขปัญหาก็ต้องมีอย่างหลากหลายด้วย ”ดร.ไกรยส กล่าว

 

 

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากม.นเรศวรกล่าวว่า บราซิลไม่ได้มองว่าการเพิ่มงบฯด้านการศึกษาเป็นวิธีเดียวในการซื้อความสำเร็จแต่จะมุ่งไปที่การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งอีเด็ป(IDEB) เป็นการวัดมาตรฐานคล้ายโอเน็ตของไทยแต่จะแตกต่างที่เป็นการประเมินโดยไม่ได้นำไปเทียบเคียงกับคนอื่นแต่จะเป็นการสู้กับตัวเองโดยให้แต่ละโรงเรียนกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะทำให้ได้สูงกว่าคะแนนของปีก่อนเท่าใดแล้วก็ให้รางวัลตามผลที่ได้ และที่สำคัญมีการเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายทั้งนักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย โรงเรียนรวมถึงผู้ปกครองหันมาสนใจเรื่องของคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะจะทำให้โรงเรียนเกิดการแข่งขันพัฒนาคุณภาพการศึกษากันมากขึ้นทั้งนี้ข้อมูลจะเป็นตัวช่วยให้การกำหนดนโยบายอย่างมีเหตุมีผลเหมือนภาคธุรกิจที่จะทำอะไรก็ต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเสมอแต่ภาครัฐกลับยังไม่ค่อยใช้เท่าที่ควร

 

 

“ ระบบของบราซิลเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลจะไม่เป็นตราบาปแต่จะมีระบบเข้าไปให้การช่วยเหลือเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น นอกจากนี้อีเด็ปยังเป็นข้อมูลที่ใช้ในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนที่มีพัฒนาการดีและโรงเรียนที่ต้องปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงมีการให้เงินอุดหนุนตรงแก่ครอบครัวของผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่อาจหลุดออกจากระบบอีกด้วยโดยเฉพาะเด็กในครอบครัวยากจนที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เหมือนเป็นการซื้อเด็กมาอยู่ในระบบการศึกษาแทนที่จะต้องออกไปทำงานหาเงินช่วยครอบครัว” ดร.วรลักษณ์ กล่าว

 

 

นายเกชา เดชา ผอ.รร.อนุบาลกำแพงเพชร กล่าวว่า ตนมองว่าการสอบโอเน็ตของไทยในปัจจุบันยังไม่ใช่การสอบเพื่อพัฒนาเด็กหรือเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน แต่เป็นแค่การพัฒนากระบวนการติวซึ่งบางโรงเรียนก่อนสอบโอเน็ต 2 เดือน เด็กแทบไม่ได้เรียนกันเลย เพราะมัวแต่เข้าค่ายติวการสอบโอเน็ตนอกจากนี้การเมืองก็มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนนโยบายตลอด ทำให้ขาดความต่อเนื่องดังนั้นถ้าเราอยากเห็นการศึกษาไทยสามารถพัฒนาคุณภาพคนได้จริงควรมีสถาบันที่ดูแลเรื่องของการศึกษาโดยตรงและที่สำคัญต้องหนีห่างจากการเมืองเพราะตนมองว่าการเมืองไทยยังอีกนานกว่าจะพัฒนาได้

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...