อาจารย์ท่านดูเป็นคนใจดี จริงใจ เป็นคนทำงาน จึงเอาภาพท่านที่อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมาทำมีม หลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดนาน 3 ชั่วโมง มีคนให้ความสนใจดาวน์โหลดไปมากกว่า 1,500 โหลด
แอพพลิเคชั่นโมโลมี (Molome) ของเนย สิทธิพล พรรณวิไล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีทีโอของบริษัทโมโลมี เปิดให้บริการนานเป็นปีแล้ว แต่วันนี้มีผู้คนพูดถึงค่อนข้างมาก หลังจากให้ดาวน์โหลด มีม (Meme) รูปภาพที่ใส่ข้อความได้เอง เพื่อให้ดูตลก และสติกเกอร์ โดยนำคาแรกเตอร์คนดัง ๆ มาเป็นมีม
มีมคนแรกของไทย คือใคร?
สิทธิพล เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจเกิดขึ้นหลังจากไปเข้าค่ายในต่างประเทศ จึงค้นพบว่า อยากให้แอพพลิชั่นโมโลมี เป็นแอพที่ทำอะไรได้มากกว่าการทำตกแต่งภาพให้สวยงามเหมือนที่ผ่านมา จึงทำมีม หรือ Meme และสติกเกอร์ ซึ่งในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว โดยจะเน้นไปที่คนดัง ดาราที่มีบุคลิกโดดเด่น แต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ เมื่อลงมือครั้งแรก ตัดสินใจเลือกภาพและบุคลิกของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการ รมว.คมนาคม เพราะทุกคนชื่นชอบและรู้จักกันดีในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
“อาจารย์ท่านดูเป็นคนใจดี จริงใจ เป็นคนทำงาน จึงเอาภาพท่านที่อยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมาทำมีม หลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดนาน 3 ชั่วโมง มีคนให้ความสนใจดาวน์โหลดไปมากกว่า 1,500 โหลด แต่ก็มีคนท้วงติง เพราะท่านเป็นอาจารย์ มีลูกศิษย์มากมาย แต่บางคนก็บอกว่า น่ารักดี ท่านเป็นขวัญใจ จึงพยายามส่งข้อความไปขออนุญาตท่านผ่านทาง เฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้รับคำตอบ สุดท้ายจึงตัดสินใจให้ดาวน์โหลดแบบเต็มที่เป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา”
สิทธิพล บอกว่า ล่าสุดเว็บไซต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีของสิงคโปร์ก็เขียนถึงมีมชุดนี้ของโมโลมี จึงตัดสินใจปล่อยดาวน์โหลดทั้งไอโอเอส แอนดรอยด์ ส่วนวินโดวส์ โฟน จะตามมาในเร็ว ๆ นี้ โดยในส่วนที่เป็นมีม จะมีเพียงรูปเดียว ส่วนสติกเกอร์มีประมาณ 10 แบบ ถือว่าเป็นมีมอันแรกของไทย และถือโอกาสเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับแอพและสติกเกอร์ในไทยไปด้วย
ในฐานะที่เป็นคนทำแอพ เป็นนักพัฒนา สิทธิพล มีความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจแอพพลิเคชั่นในไทยว่า หากเป็นแอพทั่วไป หรือแอพเอนยูสเซอร์ ตลาดวายไปนานแล้ว แต่แอพเกม ยังสดใส เพราะคนเล่นเกม มักจะค้นหาเกม
ใหม่ ๆ มาเล่น หลังจากเบื่อเกมเก่า
แอพที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ยังมีน้อยคือ แอพที่เจาะกลุ่มธุรกิจ ให้บริการเฉพาะกลุ่ม แต่มีตัวตน มีการบริการชัดเจน เช่น แอพสำหรับเอนเตอร์ไพรซ์ หรือภาคธุรกิจ ที่มองอยู่ก็คือ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แทนที่จะเป็นแค่แอพแนะนำคอนโดฯ ก็ควรเจาะลึกลงไปที่บริการตรวจรับคอนโดฯ บนแท็บเล็ต โดยไม่ต้องใช้กระดาษ เป็นต้น
ล่าสุดโมโลมี ก็พัฒนาแอพสำหรับงานอีเวนต์ ที่อยากให้มีของที่ระลึกสำหรับผู้ที่มาเข้าชมงาน จึงมองว่า แอพพลิเคชั่นกับงานอีเวนต์หรือภาคธุรกิจ จะไปด้วยกันได้ดี
เวลานี้ผู้ใช้รู้จักแอพพลิเคชั่นแล้ว ก้าวต่อไปก็คือ ทำอย่างไรให้แอพเป็นที่รู้จัก เอามาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว.