สังคมประกาศตามหา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาต่อเนื่อง 

บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเช่นกัน 

กรณีล่าสุด กปปส.ขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของประชาชนเมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา 

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายชาติ ออกแถลงการณ์ประณาม หากแต่ กสม.นิ่งเงียบ



พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ 
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล 
สถาบันพระปกเกล้า


การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้า กสม.ออกตัวช้าไปหน่อย จริงๆ ต้องเร่งปกป้องสิทธิบุคคลเร็วกว่านี้ และต้องเน้นย้ำสิทธิทั้งสองฝ่าย เตือนสังคมว่าอย่ารุกล้ำสิทธิซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มคนที่ถูกกีดกันการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวขัดขวาง

ไม่ใช่รอให้เกิดความรุนแรงจนสุกงอมก่อนจึงออกมา และเมื่อออกมาก็ต้องดูแลทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์เสียชีวิตของ กปปส.ที่วัดศรีเอี่ยม เจ้าหน้าที่ กสม.ก็ต้องไปร่วมกับตำรวจทำงานแต่ไม่ไป กลับ ไปร่วมกับอดีตบุคลากรสถาบันนิติวิทยา ศาสตร์

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของประชาชน กสม.ต้องออกมาอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นอีแอบส่งแถลงการณ์ ประธานกสม.ต้องพูดให้ชัดว่ามีการรุกล้ำสิทธิใครบ้าง 

ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าประธานกสม.หายไปไหน เหมือนที่สังคมเคยสงสัยว่าประธานกกต.หายไปไหน ทำไมไม่ออกมาพูดบ้าง ประธานกสม.ควรแสดงบทบาทมากกว่านี้ 

ต้องจัดประชุมให้สาธารณะรับทราบในฐานะประธานบ้าง ไม่ใช่เห็นแต่ในฐานะกสม.ภาพรวม เพราะสังคมเรียกร้องแล้ว 

วันนี้อย่าถามหาแต่ประธานกสม.เลย คณะกรรมการกสม.ก็หายไปไหน รู้มาว่าบางคนยังอยู่ต่างประเทศ ส่วนประธานไปด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่สถานการณ์แบบนี้ควรหรือไม่ 

เมื่อมีบทเรียนในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้า วันนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. ซึ่งน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 10 ล้านคน กสม.จะต้องคำนึงแล้วว่าอาจเกิดปัญหาแน่นอน 

ดังนั้น ต้องรีบบออกมาเตือนได้แล้ว และถ้าเกิดเหตุก็ต้องเข้าไปตรงจุดนั้นๆ ช่วยแก้ปัญหา ในฐานะองค์กรที่ต้องดูแลเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ไม่ใช่ปล่อยจนมีการจับเนื้อต้องตัว ละเมิดสิทธิ ขัดขวางการเลือกตั้งอีก

ต้องยอมรับว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยกับต่างประเทศยังห่างชั้นกันมาก ประสิทธิภาพสากลเขาดีกว่า ทำงานเป็น กลางจริงๆ เพราะมีการตรวจสอบอยู่ ตลอดเวลา 

แต่ประเทศไทย กสม.กลับออกมาคัดค้านการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องย้อนไปปี 2553 กสม.ชุดเดียวกันเคยออกมาขัดขวางบ้างหรือไม่ และเหตุการณ์ตอนนั้นก็รุนแรงกว่ามาก มีการประกาศเขตใช้อาวุธจริงแต่วันนี้ตำรวจไม่ได้ถืออาวุธ 

เท่านี้ก็บ่งบอกถึงความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว อยากฝาก กสม. 3 สิ่ง ขอให้ปรามการใช้ความรุนแรงทั้งวาจาและอาวุธ เตือนการเลือกตั้งต่อความรุนแรงที่อาจ เกิดขึ้น 

สุดท้าย ควรออกมาป้องกันไม่ใช่รอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน



พวงทอง ภวัครพันธุ์
รัฐศาสตร์ จุฬาฯ


บทบาทการทำหน้าที่ของ กสม.ที่ผ่าน โดยเฉพาะช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้ง มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐ เป็นที่ปรากฏแล้วว่าบทบาทของ กสม.ในขณะนี้แทบไม่ได้มีความหมายอะไรในสังคมอีกต่อไป 

เพราะการพิจารณากรณีต่างๆ ที่ดูแล้วเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ กสม.กลับไม่ได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเที่ยงธรรม

กสม.กลายเป็นตัวตลกในสายตาของประชาชนกลุ่มหนึ่ง และได้ทำลายความชอบธรรมในความเป็นองค์กรด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน จากกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ ปี 2553 

เพราะรายงานสรุปสถานการณ์การชุมนุมของ กสม.ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารที่สลายการชุมนุมของประชาชน แต่เมื่อเป็นการชุมนุมของประชาชนอีกสีเสื้อหนึ่ง กสม.ได้พยายามออกมาปกป้องว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ 

ทั้งที่ในข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่าการชุมนุมนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีไปขัดขวางผู้ต้องการจะใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กสม.กลับนิ่งเฉย 

มิหนำซ้ำยังออกแถลงการณ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายตั้งรับในการควบคุมฝูงชน ไม่ได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมแต่อย่างใด 

การขัดขวางการเลือกตั้งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน จนองค์กร กสม.ในต่างประเทศออกมาวิจารณ์ว่าวิธีการดังกล่าวไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ กสม.ประเทศไทยกลับเฉย เหมือนว่ายังไม่ตื่น 

เชื่อได้ว่า กสม.คงกำลังเตรียมร่างคำแถลงการณ์ว่าจะแถลงอย่างไรให้การกระทำที่ขัดขวางการเลือกตั้งนี้กลายเป็นสิ่งดูดีและไม่ละเมิดกฎหมาย

จึงเห็นได้ว่า กสม.ได้เลือกข้างสนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน และแม้จะถูกวิจารณ์ในกรณีนี้ กสม.ก็ไม่เคยออกมาแก้ตัว หรือพยายามยึดหลักปฏิบัติอย่างเป็นธรรม 

แต่กลายเป็นว่า กสม.ได้พยายามใช้อำนาจขององค์กรมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อต่อต้านกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

จึงน่ากังวลว่า การที่ กสม.ชุดนี้ทำลายความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือและความเคารพขององค์กรจนหมดสิ้น ภาพลักษณ์ในขณะนี้ยิ่งกว่าติดลบ 

กสม.ชุดต่อไปที่จะเข้ามาทำหน้าที่จึงมีภารกิจที่หนักหนาสาหัส ต้องมาฟื้นฟูความน่าเชื่อถือซึ่งดูแล้วเป็นไปได้ยาก 



พัฒนะ เรือนใจดี 
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าโดยสภาพของ กสม.ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การจะเข้าไปจัดการทุกเรื่อง กสม.ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะไปบังคับใครได้ 



ยกตัวอย่างการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง การใช้สิทธิ์ของประชาชนที่ต้องการเลือกตั้ง ที่ไม่เห็น กสม.ออกมามีบทบาทต่อเรื่องดังกล่าว 

เป็นไปได้ว่าเพราะเป็นเรื่องทางการเมืองที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อาจกลัวเปลืองตัว กสม.จึงไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวตรงนี้อีก 

ส่วนการทำหน้าที่ของ กสม.ช่วงรัฐบาลก่อนไม่ขอแสดงความเห็น เพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคลของ กสม.แต่ละคนที่จะออกมาแสดงบทบาทหรือไม่ 

กสม.แต่ละคนอาจมีความสนใจหรือความถนัดในการทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น กรณีมีคนเสียชีวิต กรณีบุกรุกป่า และอื่นๆ เป็นต้น 

และไม่ได้คาดหวังบทบาทของ กสม.ในเรื่องทางการเมืองอยู่แล้ว เพราะ กสม.ไม่มีอำนาจที่จะบังคับใครได้ บทบาทหน้าที่ของ กสม.คือการติดตามแก้ไขกรณีที่เกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องต่างๆ 

ถ้า กสม.จะเคลื่อนไหวบทบาทหน้าที่ของเขาควรเป็นกรณีมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่า เพราะหากเป็นเรื่องทางการเมืองก็มีช่องทางของกฎหมายในการดำเนินการอยู่แล้ว 

การชุมนุมทางการเมืองที่ล่าสุดมีการยิงกันเกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องดำเนินการก่อน กสม.เป็นเพียงตัวเสริม เช่นหากมีความล่าช้าในการดำเนินการจับกุม หรือเอาผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กสม.ก็จะเข้ามามีบทบาทในกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...