ในปัจจุบัน นอกจากเวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกแล้ว เวียดนามเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลกด้วย หลังผลผลิตจากกาแฟสามารถชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกได้
เมื่อนึกถึงประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก คงหนีไม่พ้นบราซิล โคลอมเบีย หรือเอธิโอเปีย แต่ประเทศที่สามารถผลิตกาแฟได้มากเป็นอันดับสองของโลกนั้นกลับเป็น "เวียดนาม" ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกน้อยที่สุด แต่ภายใน 30 ปี กาแฟเวียดนามได้รับความนิยมและชิงส่วนแบ่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.1 เป็นร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
ภายหลังสงครามเวียดนามยุติลงในปี 2518 เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ธงของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ดำเนินเศรษฐกิจสังคมนิยมเลียนแบบสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น แต่ไม่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูขึ้นแต่อย่างใด โดยจุดหักเหสำคัญคือ การประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2529 ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
นโยบายปฏิรูป "โด๋เหม่ย" ของเหงียนวันลิญ เจ้าของฉายา "กอร์บาชอฟน้อย" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยนั้น เปิดรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และรองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกับจีนในสมัยเติ้งเสี่ยวผิง ส่งผลทำให้การผลิตสินค้าเกษตรในประเทศ โดยเฉพาะกาแฟเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในทศวรรษที่ 1990 ประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนมีงานทำ อัตราความยากจนลดลงและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อันที่จริง ชาวเวียดนามนิยมดื่มชาเช่นเดียวกับจีน ก่อนที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจะนำกาแฟเข้ามาสู่เวียดนามในปี 2400 และทำการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบในบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ซึ่งอยู่บนภูเขาสูงมีสภาพอากาศดี โดยหนึ่งในพันธุ์กาแฟที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรชาวเวียดนามคือ พันธุ์โรบัสตาซึ่งมีคาเฟอีนสูงกว่าพันธุ์อาราบิกา ผสมผสานกับการคั่วเมล็ดที่เป็นเอกลักษณ์และ วิธีการดื่ม ทำให้กาแฟเวียดนามมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
นายดั่ง เล เหงียน วู ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของเวียดนามยี่ห้อ "จรุงเหงียน" กล่าวว่า เขามีความต้องการจะให้วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแบบเวียดนาม แพร่หลายไปทั่วโลก เทียบเท่าแบรนด์ชั้นนำอย่างสตาร์บัคส์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าตีตลาดสหรัฐฯได้ กาแฟเวียดนามจะครองตลาดโลกในที่สุด เช่นเดียวกันกับข้าว
ขณะที่ นักธรณีวิทยาหลายคนเชื่อว่า ปัญหาการปลูกกาแฟในเวียดนามมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เป็นจำนวนมาก และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและเกษตรกรชาวเวียดนาม ยังสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ ดั่งคำคมเวียดนามที่ว่า "ไม่มีใครเกิดมาแล้วปลูกกาแฟได้เลย ถ้าไม่เรียนรู้"