แต่ถ้าหากเลือกได้บ้านในฝันของหลายๆ คนอาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว กับพื้นที่สีเขียวอีกเสียหน่อยคงดีไม่ใช่น้อย
แต่เรื่องราวของนักออกแบบหนุ่มชาวอเมริกัน คนนี้เรียกว่า พลิกขั้ว-โดดเด่นจากมนุษย์ทั่วไปทั่วโลก
หนุ่ม "อเล็ก ไลเซฟสกี้" นักออกแบบเว็บไซต์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ อเมริกา วาดฝันกับแฟนสาว "อันจาลี" เช่นเดียวกับที่คู่รักหลายคู่หวังไว้ที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง
หลังตามหาบ้านที่ถูกใจอยู่นาน แต่ด้วยราคาที่แพงหูฉี่แลกกับพื้นที่ใช้สอยจำกัด ทั้งยังไม่มีแบบที่ตรงใจที่คิดไว้
ทำให้ไลเซฟสกี้แทบถอดใจ และเริ่มเบื่อหน่ายจนกระทั่งผุดไอเดียใหม่ที่จะพลิกฝันให้เป็นจริง ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในช่วงปี 2555
"แว้บแรกที่ผมเห็นภาพบ้านเล็กติดล้อ ผมรู้เลยว่า นี่แหละ คือบ้านแบบที่ผมตกหลุมรัก"
"ทำไม ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านในราคาแพง ในเมื่อวันนี้บ้านเล็กติดล้อ หรือที่เรารู้จักกันชื่อรถบ้าน เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ของคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เนื่องจากมีโครงสร้างขนาดเล็กและสามารถเคลื่อนที่ได้" ไลเซฟสกี้ ให้สัมภาษณ์กับกิซแม็ก เว็บข่าวเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐ
ด้วยความที่เป็นนักออกแบบเว็บไซต์ แล้วทำไมจะออกแบบบ้านให้ตัวเองบ้างไม่ได้
ว่าแล้ว ไลเซฟสกี้ก็เริ่มเก็บข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดเพื่อใช้ในการสร้างบ้านเล็กติดล้อ ที่เรียกว่า "โครงการจิ๋ว"
ทั้ง ยังเล่าถึงข้อดีที่โดนใจเจ้าของใหม่มากสุดๆ ว่า "เพราะมันสามารถดัดแปลงได้ตามใจชอบ เคลื่อนที่ได้สะดวกสบาย เวลาจะไปไหนเราก็สามารถพกบ้านไปด้วยได้ตลอด ผมว่าผมเห็นประโยชน์มากมายจากบ้านเล็กติดล้อเลยล่ะ"
ทันทีที่แบบร่างลงตัว พอเหมาะพอเจาะตรงใจกับที่ไลเซฟสกี้อยากได้แปลนบ้านคร่าวๆ
ขั้นตอนสุดท้ายออกมามีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ประมาณ 240 ตารางฟุต หรือ 22.3 ตารางเมตร
ตัว บ้านไม้ สร้างตามวิธีสร้างบ้านไม้ปกติ แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เน้นย้ำส่วนที่เป็นโครงสร้างบ้านว่า สามารถรับแรงต้านลม และรองรับแรงกระแทกขณะบ้านเล็กติดล้อแล่นไปบนถนนได้พอสมควร
ส่วน พื้นบ้านและการตกแต่งภายใน รวมถึงชั้นลอย ถูกจัดแบ่งสัดส่วนให้ออกมามีขนาดที่พอดีและเพียงพอต่อพื้นที่ใช้สอยจริง รวมทั้งยังแบ่งพื้นที่นั่งเล่นระหว่างเฉลียงบ้านกับประตูทางเข้าบ้านอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ไลเซฟสกี้ยังมีแผนที่จะติดตั้งโต๊ะพับเก็บไว้อีกมุมหนึ่งของบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้นอีกด้วย
ถือว่าเป็นศิลปะแห่งความสร้างสรรค์และการจัดสรรพื้นที่ไปในเวลาเดียวกันจริงๆ
"งาน ที่ผมออกแบบ ส่วนใหญ่จะไปเน้นตรงการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และชั้นลอยของบ้าน ดูได้จากการที่ออกแบบหลังคาให้เป็นทรงลาดเอียง แทนที่จะเป็นหลังคาทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วตามปกติ แนวคิดพวกนี้ได้มาตอนที่เดินดูบ้านของเพื่อนบ้านขณะพาสุนัขไปวิ่งเล่นใน ละแวกบ้านเก่า จนปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าอยากได้บ้านที่แตกต่างและดูทันสมัยกว่าคนอื่น เลยกลับมานำเอาอุปกรณ์ปกติสำหรับตกแต่งภายนอก มาใช้ภายในบ้านเพื่อสร้างสัดส่วนมิติภายในบ้านให้ดูโดดเด่น"
สําหรับโครงสร้างภายในของบ้านเล็กติดล้อ ประกอบด้วย พื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง เพดานสูง เตียงนอนชั้นลอย ห้องครัวและห้องน้ำขนาดกะทัดรัด โต๊ะพับเก็บได้ ชั้นวางของ ที่เก็บของติดผนังแบบบิลต์อิน แล้วก็ของแต่งบ้านทั่วไป
ส่วนตัวบ้านมีหน้าต่างกว่า 10 บาน และประตูกระจก ซึ่งเน้นใช้กระจกเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากแสงและอากาศตามธรรมชาติ
ตาม ไปดูในส่วนอื่นของบ้านกันบ้าง ถัดจากห้องแต่งตัวแบบบิลต์อิน ก็เป็นส่วนของเครื่องซักผ้า เครื่องปั่นผ้า ในมุมห้องครัว ก็จะมี เครื่องครัว ก๊าซหุงต้ม เตาแก๊ส เตาอบ ตู้เย็นขนาดเล็ก และส่วนของห้องน้ำก็จะเห็นอ่างล้างหน้าขนาดเล็กกะทัดรัด แบ่งสัดส่วนกันพอดีกับที่อาบน้ำ และโถสุขภัณฑ์
ไลเซฟสกี้เสริมทริกเล็กน้อยว่า "ส่วนใหญ่แล้วผมจะเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ตกแต่งบ้านจากความคงทน ประสิทธิภาพในการใช้งานมากกว่า"
โครงสร้างบ้านไม้หลังนี้ยังมีการพ่น "โฟม" เพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้าง รักษาอุณหภูมิภายในบ้าน และลดเสียงรบกวนจากภายนอกอาคาร
ใช้ไม้สนในการเพิ่มลูกเล่นความสวยงามให้กับส่วนของผนังและเพดาน ตัดกับพื้นบ้านที่ทำจากไม้ลามิเนต
"ด้วย ความที่บ้านมีขนาดเล็ก ต้องใช้น้ำจากถังเก็บน้ำสำรอง บวกกับการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ อุณหภูมิภายในบ้านจึงอุ่นกว่าบ้านหลังใหญ่ ซึ่งทำให้ลดอัตราการใช้พลังงานที่เกินความจำเป็นรวมถึงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ภายในบ้านลดลง ซึ่งยิ่งทำให้เป็นการประหยัดค่าไฟไปในตัว"
ไล เซฟสกี้ มัณฑนากรสมัครเล่น ใช้เวลาในแต่ละขั้นตอนเพื่อการสร้างบ้านทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มจากการออกแบบ วางแผน กระทั่งตัวบ้านเสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งหมดร่วม 1 ปี โดยใช้เวลาก่อสร้างนานราว 7-8 เดือน
"ผม ใช้เวลาว่างจากการทำงานในช่วงเย็นหรือในวันหยุดค่อยสร้างบ้านขึ้นมาเองทีละ ส่วน บ้านเล็กหลายหลังส่วนมากมักมีราคาถูก แต่สำหรับบ้านหลังนี้ ผมมองว่ามันเป็นบ้านในฝัน ที่ถึงแม้จะมีขนาดเล็กแต่คุณภาพก็ไม่ได้เล็กตามขนาด ผมเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ตามเหตุผลของการใช้งานมากกว่า ชิ้นที่มีราคาถูกแต่ไม่ได้คุณภาพ"
ส่วน มูลค่าทั้งหมดที่ลงทุนกับบ้านหลังน้อย อยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าคิดจากค่าเงินสหรัฐถือว่าเล็กน้อย แต่เมื่อกดออกมาเป็นเงินบาทก็อยู่ราวๆ 960,000 บาท
ปัจจุบัน ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในแถบรัฐแคลิฟอร์เนียบางส่วน เริ่มมีความคิดใหม่และสนใจว่า การมีที่อยู่อาศัยที่เล็กลงจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ไล เซฟสกี้อธิบายว่า "การมีพื้นที่อยู่อาศัยที่เล็กลงนั้นเป็นการบังคับผู้อยู่อาศัยให้ใช้สอย พื้นที่เท่าที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเลือกใช้พื้นที่แต่ละส่วนเท่าที่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้เรียบง่ายขึ้น ไม่อู้ฟู่จนเกินพอดี รวมถึงแทนที่ผู้อยู่อาศัยจะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมพื้นที่แคบปิดกั้นตนเองจาก โลกภายนอกอย่างผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังใหญ่ กลับเป็นการผลักให้ผู้อยู่อาศัยบ้านเล็กออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนบ้าน และใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และด้วยเหตุนี้เองที่ บ้านเล็กติดล้อ เข้ามาเปลี่ยนชีวิตผมไป ทำให้ผมมีชีวิตที่เรียบง่าย หลีกลี้หนีความวุ่นวาย และเป็นอิสระจากหลายๆ สิ่ง เหลือเว้นไว้เพียงความจำเป็นพื้นฐานก็เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เยี่ยมที่สุดในชีวิตผมเลยครับ"
ใน อนาคตไลเซฟสกี้มีแผนที่จะขายแปลนบ้านของตนให้กับ ผู้สนใจ พร้อมทั้งยินดีให้คำปรึกษากับคนทั่วไปที่สนใจอยากจะสร้างบ้านแบบพ่อหนุ่ม มัณฑนากรมือสมัครเล่นคนนี้ด้วย
ไลเซฟสกี้ทิ้งท้ายด้วยแนวคิด บ้านหลังไม่ใหญ่แต่เต็มไปด้วยพลังใจที่เบิกบานว่า
"ผม อยากจะอยู่แบบกระฉับกระเฉงในโลกของบ้านหลังเล็กพื้นที่เล็ก และหวังว่าจะช่วยสร้างชุมชนคนบ้านเล็ก รวมทั้งให้คำแนะนำในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนที่ฝันอยากจะมีบ้านแบบนี้ และหาที่เหมาะๆ และถูกกฎหมายเพื่อที่จอดบ้านเล็กติดล้อ ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ทั้งด้านอุปกรณ์และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในหมู่ผู้นิยมบ้านเล็กติดล้อแน่นอน"
เรียบเรียงจากบทความ Gizmag talks to the creators of The Tiny Project-less house, more life (Gizmag.com) และเว็บ tiny-project.com