เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยนานาชาติค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทีมงานนักวิจัยจากประเทศไทย ลาว และสหราชอาณาจักร
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า โดยชนิดแรกคือ ค้างคาวจมูกหลอดบาลา (Bala Tube-nosed Bat) เป็นค้างคาวกินแมลง พบได้ในพื้นที่ป่าดิบชื้น และที่ราบต่ำบริเวณผืนป่าบาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพียงแห่งเดียวเท่านั้น มีลักษณะเด่นอยู่ที่ขนด้านหลังเป็นสีทอง ขนด้านท้องเป็นสีเทา ขนาดลำตัว 28-31 มิลลิเมตร และมีแง่ง ที่ฟันเขี้ยวบน ส่วนจมูกที่เป็นหลอดกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในเชิงลึกว่ามีประโยชน์อย่างไรกันแน่
นักวิจัย ม.อ. กล่าวต่อว่าชนิดที่ 2 คือ ซากฟอสซิลค้างคาวชนิดใหม่ที่มีชิวิตอยู่เมื่อปลายยุคไพลสโตซีน หรือเมื่อประมาณ 16,350 ปีที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยค้นพบภายในถ้ำหินปูน ที่อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งชื่อว่าค้างคาวท้องสีน้ำตาลอาจารย์จุฑามาส (Chutamass Serotine) เพื่อเป็นกียรติให้แก่ รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข ผอ.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. หัวหน้าทีมวิจัย โดยในเบื้องต้นพบว่าค้างคาวชนิดนี้เป็นค้างคาวขนาดเล็ก เช่นเดียวกับค้างคาวจมูกหลอดบาลา แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สุดท้ายคือ พญากระรอกบินลาว (Laotian Giant Flying Squirrel) เป็นพญากระรอกบินชนิดใหม่ของโลก ที่ค้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแขวงบอลิคำไซ ตอนกลางของประเทศลาว หลังจากที่พญากระรอกบินชนิดแรกของสกุลนี้ ถูกค้นพบที่ประเทศอินเดีย เมื่อปีพ.ศ.2524 ขณะที่พญากระรอกบินลาวเป็นกระรอกบินขนาดใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหาง 107.5 เซนติเมตร หนัก 1.8 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในป่าลึก หาพบได้ยากมาก