อนาคตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ง่อนแง่นเต็มที
"การเลือกตั้ง" ที่เป็นจุดแข็งสุด
ก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอน ว่าจะต้อง "เลื่อน" ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปอีกนานเท่าใด
3 เดือน หรือ 6 เดือน ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น
เพราะ "มือล่องหน" กำลังเร่งทำงานพัลวัน เพื่อเช็กบิลรัฐบาลและเพื่อไทย
เหตุระเบิด เหตุลอบยิงม็อบ ที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากโดยยังจับมือใครดมไม่ได้นั้น
กดดันให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ซึ่งกำลังถูกจับตาว่า รัฐบาลได้มากกว่าเสียหรือไม่
เพราะแค่เริ่มต้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้สังคมเห็นว่า "กองทัพ" ไม่ได้ยืนข้างรัฐบาล
ไม่ว่ากองทัพบก ที่นอกจากขอยืนอยู่แถวหลังแล้ว
การคงรถหุ้มเกราะไว้ที่ราบ 11 ไม่ยอมเอากลับหน่วยหลังเสร็จสิ้นภารกิจสวนสนามวันกองทัพไทยก็ทำให้คนขี้ระแวงสงสัยว่ามีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่
ด้านกองทัพอากาศ การปฏิเสธไม่ให้ตั้งศูนย์ "ศรส." ในพื้นที่ก็ชัดเจนถึงการขอมี "ระยะห่าง" กับรัฐบาล
ส่วนกองทัพเรือ การจับ 3 ทหารหน่วยซีลที่ป้วนเปี้ยนอยู่กับม็อบ ตามด้วย "จุดยืน" ทะลุปรอทของ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ที่เคียงข้างม็อบ กปปส. แบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม พร้อมข้อมูลเขย่ารัฐบาล เรื่องการขนต่างชาติ 10 คันรถตู้เข้ามาใน กทม.นั้น
แม้ผู้บัญชาการทหารเรือ จะบอกว่ากองทัพเรือ "เป็นกลาง"
แต่ก็ดูจะเป็นกลางใจในหัวใจม็อบมากกว่า
จึงไม่แปลก ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ "ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถส่งทหารบก เรือ อากาศ เอาอาวุธร้ายแรงมาทำร้ายผู้ชุมนุม"
เป็นการส่งสัญญาณให้มวลมหาประชาชน รับรู้ว่ากองทัพอยู่ข้าง
เพียงแต่ยังไม่เต็มตัว ถึงขั้นออกโทรทัศน์ไล่รัฐบาล อย่างที่นายสุเทพ ร้องขอเท่านั้น
แต่ถามว่า มีโอกาสไหม
ก็คงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนั่นแหละ "แล้วแต่สถานการณ์กำหนด"
ซึ่งหาก "มือล่องหน" เร่งลั่นเสียงปืน เสียงระเบิดให้ "รุนแรง" ขึ้นไม่หยุด
ทั้งต่อฝ่ายม็อบ กปปส.เอง
และทั้งต่อฝ่ายคนเสื้อแดง อย่างกรณีมือมืดถล่มอาก้า นายขวัญชัย ไพรพนา
เชื้อความรุนแรง ถูกฉีดเข้าไปในใจของทุกฝ่าย ที่เข้ามาเล่นหรือถูกบีบให้เข้ามาเล่นในเกมอำมหิตมากขึ้นตามลำดับ
อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกวินาทีต่อจากนี้
และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังจะกลายเป็นอาวุธกลับมาเชือดคอรัฐบาลเสียเอง
เมื่อ ส.ว.สรรหาและประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งส่งคนลงสมัคร ส.ส. แล้วใช้อำนาจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และยังถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้ยุบพรรคเพื่อไทย
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังออกมารับลูก แถลงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่อเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบ กกต.ด้วย
รับลูกเป็นทอดๆ
ซึ่งเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมาหวาดเสียวต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง
นี่เป็นการจัดการของ "มือล่องหน" อีกหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก
จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะประเมินว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3-6 เดือน ที่แท้ก็คือการเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระทั้งหลายเร่งสะสางคดีความของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
และมีจุดหมายที่การยุบเพื่อไทยนั่นเอง