พรก.ฉุกเฉิน ในสายตาต่างชาติ

ช่วงเวลาเชื่อมต่อระหว่างเหตุการณ์ม็อบ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ไปถึงเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. เกิดเหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนและระเบิดเป็นระลอก

กระทั่งรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้อง ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผล 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.

เป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงานเป็นข่าวใหญ่

สำนักข่าวเอเอฟพี ฝรั่งเศส รายงานว่า รัฐบาลยืนยันใช้ตำรวจเป็นกำลังหลักในการรักษาความปลอดภัย ไม่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชน ซึ่งต่างจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 

นายแอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองจากสถาบันไอเอชเอส-เจนส์ เห็นสอดคล้องว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นความพยายามล้าง ภาพลักษณ์ที่ว่ารัฐบาลหวาดกลัวกลุ่มผู้ชุมนุม และ มุ่งควบคุมสถานการณ์เพื่อจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.

นายเดวิสวิเคราะห์ว่า การปราบปรามผู้ชุมนุมจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีกำลังมากพอหากกองทัพไม่สนับสนุน

เอเอฟพีรายงานปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส.ด้วยว่า ยังยืนยันว่าไม่ยุติการชุมนุม ทั้งระบุว่ารัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเพราะความได้เปรียบอยู่กับฝั่งของตน

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีระบุว่า จำนวนผู้ชุมนุมลดลงอย่างต่อเนื่องและแทบจะเป็นพื้นที่ร้างในช่วงกลางวัน

ด้านสำนักข่าวเอพี สหรัฐอเมริกา รายงานเชื่อมโยงว่า เหตุระเบิดเมื่อสัปดาห์ก่อนจนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 60 คน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย บาดเจ็บกว่า 550 คน เป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ถูกขัดขวางจาก ผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ เกิดเหตุการณ์ ที่ นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงในภาคอีสานถูกลอบยิงบาดเจ็บ

เอพียังรายงานย้ำถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองด้วยการรัฐประหารสำเร็จมา 11 ครั้ง กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มีท่าทีไม่ต้องการให้ทหารเข้าแทรกแซง แต่ก็ไม่ปฏิเสธให้เด็ดขาดว่าจะไม่รัฐประหาร

สำนักข่าวรอยเตอร์ อังกฤษ ย้ำเช่นกันว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาชนที่เป็นรอยัลลิสต์และชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ กับประชาชนต่างจังหวัดซึ่งสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งการประท้วงส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและความมั่นใจของนักลงทุน

ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้ว นอกจากนั้น ยังถูกสั่นคลอนด้วยปัญหาจากนโยบายจำนำข้าว ที่ชาวนาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลขู่จะร่วมชุมนุมประท้วงหากไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา อ้างความเห็นของ นายเควิน เฮวิสัน ผอ.สถาบันวิจัยแห่งเอเชียประจำมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก ประเทศออสเตรเลีย ว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว มีความเสี่ยงที่จะเข้าทางกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งต้องการให้เกิดความรุนแรง เปิดทางให้กองทัพเข้าแทรกแซง

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ภายหลังเกิดการชุมนุมเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงร้อยละ 5.5 ขณะเดียวกันมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกลงร้อยละ 11 ใน 5 รอบการซื้อขาย

ด้าน นิวยอร์กไทมส์ สหรัฐอเมริกา รายงานสถาน การณ์ในประเทศไทยผ่านบทความ "Thai Leaders Declare State of Emergency in Bangkok" ว่า การ ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลเป็นการแสดงท่าทีที่ดุดันมากขึ้น ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 2 เดือนก่อน เพื่อกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.ลาออก เปิดทางให้จัดตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ก่อนจะวิเคราะห์ว่า สิ่งที่นายสุเทพและกลุ่มกปปส. พยายามทำคือขัดขวางการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านและแพ้มาตลอด 5 ครั้งหลังสุด ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และพรรค เพื่อไทยนั้นมีโอกาสสูงที่จะชนะ

ทั้งนี้ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้รับเสียงชื่นชมจากรัฐบาลต่างประเทศทั้งสหรัฐและหลายชาติในยุโรป ในความอดทนอดกลั้นในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม 

นิวยอร์กไทมส์ระบุด้วยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้เกิดคำถามถึงอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร

เนื่องจากทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของการเมืองไทยสมัยใหม่ และได้รับเสียงสนับสนุนจากภาคเหนือของประเทศ ด้านกลุ่มผู้ประท้วงมีรากฐานจากกรุงเทพฯและภาคใต้ ขณะที่กองทัพซึ่งก่อนหน้านี้เคยก่อรัฐประหารมาหลายครั้งนั้น ถูกทั้งสองฝ่ายนำไป อ้างอยู่ตลอด

สำหรับ วอลล์สตรีต เจอร์นัล สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทวิเคราะห์ "Thailand Declares State of Emergency for Bangkok" ว่า รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายหลังจากเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ตามความเห็นของนักวิชาการ การใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. และเป็นความพยายามเข้าควบคุมบางพื้นที่ของกรุงเทพฯที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยึดไป

การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม ในทางตรงกันข้ามท่าที ดังกล่าวแสดงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อาจพยายามทำให้กลไก ราชการหลักของประเทศซึ่งถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยึดไป กลับมาทำงานได้อีกครั้ง

วอลล์สตรีตเจอร์นัล ยังวิเคราะห์ว่าการชุมนุมทำ ให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านยานยนต์ได้รับ ผลกระทบ

นายราจิป บิสวาส หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยง ไอเอชเอส โกลบอล อินไซด์ ระบุว่า หากสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองยังดำเนินต่อไป จะส่งผลต่อ นักลงทุนต่างชาติ หลายรายรู้สึกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นร้าวลึกและมองไม่เห็นทางออก จนไม่สามารถวางแผนการลงทุนระยะยาวได้ เพราะไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมามีอำนาจ

ด้าน ดิ อีโคโนมิสต์ นิตยสารวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจชื่อดังของอังกฤษ เผยแพร่บทวิเคราะห์การเมืองไทย "Why Thai Politics Is Broken" ว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากความหวาดหวั่นในเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องยากขึ้น 

เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงประกาศ คว่ำบาตร แต่ยังรณรงค์พักประชาธิปไตยไว้ชั่วคราวเพื่อตั้งสภาประชาชน ย่อมทำให้ปัญหาทางการเมืองไม่มีทางจบ 

เพราะทางออกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยวิธีรัฐ ประหารเมื่อปี 2549 รวมถึงการยุบพรรคปี 2551 ก็ ล้มเหลวที่จะหาทางออก

เป็นคำถามว่าทำไมระบบการเมืองถึงใช้การไม่ได้ นั่นเพราะสองฝ่ายตอบคำถามนี้แตกต่างกัน

หากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เกิดขึ้นได้ คงลงเอยด้วยชัยชนะถล่มทลายของพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ แต่สิ่งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ฝ่ายต่อต้าน ยังหวังการรัฐประหาร หรือใช้องค์กรอิสระเล่นงาน

หรือหากรัฐบาลนำโดยกลุ่มต่อต้านทักษิณอย่าง ปี 2551-2554 ก็จะไร้ความชอบธรรมและไม่มีเสถียรภาพ ยิ่งสถานการณ์นี้ดำเนินไปนานมากเท่าใด รากฐานอื่นๆ จะแบ่งแยกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทางสังคม แต่ยังลามไป ถึงวัฒนธรรม แม้กระทั่งชนชาติ ภาษา ระหว่างภาษาถิ่นใต้ ถิ่นเหนือและอีสาน

การประท้วงจึงไม่เพียงคุกคามสันติภาพและความมั่นคง แต่ยังรวมถึงการรวมความหลากหลายของประเทศไทยด้วย

25 ม.ค. 57 เวลา 10:44 1,175
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...