กระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในต่างประเทศยังคงมีอยู่เป็นระยะ สร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และพืช
กระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในต่างประเทศยังคงมีอยู่เป็นระยะ สร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และพืช โดยเฉพาะความหนาวเหน็บของ “ปรากฏการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์” ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา คร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบคน ทำให้ใครหลายคนตื่นตระหนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในประเทศไทยเราหรือไม่ อย่างไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักปรากฏการณ์ “โพลาร์ วอเท็กซ์” กันก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดย ศ.เดวิด รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า “โพลาร์ วอเท็กซ์” (Polar Vortex) เป็นลักษณะของลมวนในบรรยากาศที่มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สภาพอากาศหนาวจัดที่ประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเนื่องจากมีการถูกรบกวนทำให้ลมวนสลายเป็นลูกเล็ก ๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกเพราะสิ่งที่รบกวนโพลาร์ วอร์เท็กซ์ จนสลายเป็นลูกเล็ก ๆ คือ การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ชั้นบรรยากาศสูง แต่ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ระดับพื้นดินคือ ลมกรดถูกรบกวนจนมีคลื่นกว้าง ๆ จนนำอากาศที่หนาวจัดจากอลาสกาลงมาสู่ใจกลางของสหรัฐอเมริกา
โพลาร์ วอเท็กซ์ ในสภาวะปกติจะมีความกดอากาศต่ำ
มีอากาศหนาวล้อมด้วยความกดอากาศสูง และมีลมที่เคลื่อนที่ทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วสูงรวมกันกักเก็บอากาศหนาวเย็นไว้ ถือเป็นสภาวะปกติที่ทำให้มีอากาศหนาวอยู่ในประเทศแคนนาดาอย่างเสถียร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2557 มีการรบกวนโพลาร์ วอเท็กซ์ จนทำให้กลายเป็นลมวนลูกเล็กขึ้นไปที่อลาสกาซึ่งมีอากาศหนาวจัดและเคลื่อนตัวพาความเย็นลงมากลางสหรัฐอเมริกาจึงเกิดความหนาวเหน็บขึ้น
ลมวนแรงที่ว่านี้เรียกว่า เจ็ท สตรีม ’Jet Stream“
แปลเป็นภาษาไทยว่า ’ลมกรด“ หรือ ’กระแสลมกรด“ ถือเป็นเรื่องปกติของทั่วโลกตรงละติจูด 40-50 องศา ซึ่งลมกรดนี้จะพัดจากตะวันตกสู่ตะวันออกด้วยความเร็วสูงและค่อนข้างแคบ มีลักษณะยาวแบนถึง 5,000 กิโลเมตร และกว้างแค่ 5 กิโลเมตร อยู่สูงในบรรยากาศ เป็นตัวกำหนดสภาพอากาศประมาณ 40-50 องศาเหนือหรือใต้ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทุกทวีปรวมถึงทวีปเอเชียด้วย ที่ละติจูด 40-50 องศาเหนือหรือใต้ ซึ่งในทวีปเอเชียเคยเกิดปรากฏการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์ มาแล้ว โดยส่งผลกระทบ 2 ประเทศ คือ รัสเซียกับจีน แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
โดยทั่วไปเมื่อโพลาร์ วอเท็กซ์ผ่านเข้ามาในทวีปเอเชียเข้าไปกระทบประเทศจีนและรัสเซียมักไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์จะเกิดในละติจูดประมาณ 40-50 องศาแต่ครั้งล่าสุดในสหรัฐอเมริกาลงไปจนถึง 30 องศาก็มี ถ้าดูในแผนที่ของเอเชียประเทศไทยอยู่ที่ละติจูด 20 องศาเหนือ และเหนือขึ้นไปเป็นประเทศจีน จึงทำให้ไม่กระทบในประเทศไทย ส่วนประเทศรัสเซียบางปีมีอากาศหนาวมากอุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งผล
กระทบจากปรากฏการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์ในปี ค.ศ. 2006 อุณหภูมิติดลบถึง 43 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 รายในรัสเซีย และสำหรับในประเทศจีนหนาวที่สุดในเดือนมกราคม บางเมืองมีอุณหภูมิติดลบ 30 องศาฯ และหนาวที่สุดใน มณฑลเฮย์หลงเจียง (Heilongjiang)
นอกจากนี้ยังมีสถิติความหนาวเหน็บใหม่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย แต่ต้องระวังเมื่อพูดถึงพื้นที่ที่มีสถิติอุณหภูมิใหม่
ซึ่งจะหมายถึงในวันนั้น เช่น ในวันที่ 7 มกราคมของทุก ๆ ปี บางพื้นที่อาจจะมีสถิติใหม่ว่าใน 100 ปี ไม่เคยหนาวเท่านี้ แต่ในวันที่ 8 มกราคม อาจจะเคยหนาวกว่าวันที่ 7 มกราคมนี้ก็ได้ และเหตุการณ์แบบนี้ที่ทำให้โพลาร์ วอเท็กซ์สลายตัวเป็นลมวนหลายลูกเคยเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือในปี ค.ศ.1985 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2528 ถือว่านานมาแล้วที่ไม่ได้เกิดในลักษณะนี้ในสหรัฐอเมริกา ส่วนในยุโรปเพิ่งเกิดเมื่อปี ค.ศ. 2009 และ 2010 ตรงกับปี พ.ศ. 2552 และ 2553
ด้าน ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหา วิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตของปรากฏการณ์โพลาร์ วอเท็กซ์ ว่า
ผลกระทบนอกจากจะทำให้มนุษย์เสียชีวิตแล้ว สัตว์ พืช และแบคทีเรียก็ตายได้เช่นกัน เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วัน ดังนั้นผลกระทบในเชิงลึกและมุมกว้างค่อนข้างน้อย แต่ถึงแม้เกิดขึ้นแป๊บเดียวแต่หากรุนแรง เช่น อุณหภูมิติดลบ 30-40 องศาเซลเซียส ซึ่งรุนแรงพอที่จะทำให้คนตายได้ ดังนั้นสัตว์และพืชอื่น ๆ ก็ตายได้เหมือนกัน หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้แล้วนักวิทยาศาสตร์คงจะเริ่มลงไปสำรวจว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อพยพได้ก็อาจจะหนีไปที่อากาศอุ่นกว่า หรือบางครั้งถ้าหนีไม่ได้แต่ติดอยู่บริเวณนั้นก็อาจเสียชีวิตได้
ส่วนผลกระทบระยะยาวจะเกิดขึ้นกับสัตว์หรือพืชบางประเภทหรือสิ่งมีชีวิตบางประเภทที่สามารถพบอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นเท่านั้น
คือการกระจายตัวของมันจำกัดเป็นประชากรเดียวที่อาศัยอยู่ที่นี่ที่เดียว ถ้าตายก็สูญพันธุ์หมดไปถือเป็นผลกระทบอย่างสูง ดังนั้นผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการกระจายตัว ความหลากหลายทางพันธุกรรมว่าบริเวณที่ได้รับผลกระทบจะมีผลกับมันมากน้อยแค่ไหน
สำหรับแม่น้ำในเขตนี้เป็นน้ำแข็งอยู่แล้ว โดยเฉพาะแม่น้ำนิ่ง ๆ แต่ว่าถ้าเป็นน้ำที่ไหลโอกาสจะเป็นน้ำแข็งก็น้อยลงแต่มีโอกาสเป็นได้
ซึ่งน้ำจะเป็นน้ำแข็งได้ในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเริ่มเป็นจากข้างบนก่อน แต่ข้างล่างจะยังเป็นน้ำอยู่ ฉะนั้นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ด้านล่าง เช่น ปู ปลา ยังมีชีวิตอยู่ได้ เราสามารถเช็กอุณหภูมิได้ว่าแตกต่างกัน เช่น ด้านบนอาจจะเป็นศูนย์องศาฯ แต่ด้านล่างอาจจะอยู่ที่ 4 องศาฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ด้านล่างสามารถปรับตัวได้ แต่ถ้าเย็นมาก ๆ เย็นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำบริเวณนี้กลายเป็นน้ำแข็งหมดก็มีโอกาสที่สัตว์จะตายสูงและสัตว์ที่ปรับตัวได้ก็จะอยู่รอดได้
ดังนั้นในภาวะปกติถ้าผิวน้ำเป็นน้ำแข็ง น้ำด้านล่างมักจะยังเป็นของเหลวอยู่ และอุณหภูมิระดับนี้สัตว์ที่อาศัยอยู่ทางซีกโลกเหนือมีสิทธิที่จะอยู่รอดได้
เพราะมีการปรับตัวทำให้มันอยู่ได้ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เลือดและโปรตีนไม่แข็งตัว คล้าย ๆ กับสัตว์ที่อยู่บริเวณขั้วโลก เช่น ปลา มีโปรตีนอยู่ในเลือดทำให้เลือดไม่แข็งตัว เป็นการปรับตัวของสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ที่หนาวเย็น สำหรับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดินนั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่นเพราะว่าสามารถลงไปที่ลึกได้ ฉะนั้นที่ความลึกระดับหนึ่งอุณหภูมิจะคงที่ไม่ว่าอุณหภูมิด้านบนจะเย็นแค่ไหน และขึ้นอยู่กับระยะเวลาว่ายาวนานแค่ไหน ถ้าระยะสั้น ๆ อาจจะคงอยู่รอดได้
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะพบว่ามีช่วงอุณหภูมิที่สิ่งมีชีวิตอยู่ได้
แต่ถ้าเราจะค้นว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดที่สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่ติดลบ 30 คาดว่าไม่มี แต่มีสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือพืชแต่ละตัวมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน พอมาเจออากาศหนาวเย็นจะมีพืชที่ตายไปและรอดอยู่ได้ เราต้องมาดูว่าพืชชนิดที่รอดมีพันธุกรรมอย่างไรจึงรอด เพราะเมื่อรอดไปจะไปเป็นรุ่นพ่อแม่ของรุ่นถัดไป ประชากรที่เกิดมาจะเป็นรุ่นลูกถ้าเกิดอากาศเย็นแบบเดียวกันจะทำให้กลุ่มนี้มีโอกาสรอดมากกว่ากลุ่มอื่น
สำหรับแนวทางการป้องกันที่สำคัญคือ การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนไปมากกว่านี้
เพราะภาวะโลกร้อนเป็นตัวช่วยดันมวลอากาศเย็นลงมาทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมายตามมา หากต้องการลดผลกระทบไม่ให้รุนแรงก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี เพราะถือเป็นเรื่องง่ายที่เราทุกคนทำได้เพื่อโลกของเราจะได้ผ่านพ้นวิกฤติอันตรายจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวนจากน้ำมือมนุษย์...!!
ทีมวาไรตี้