โรคแพนิค

 

 

 

 

โรคแพนิค หรือบางคนอาจเรียกว่า โรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้วและพบไม่น้อยเลย แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด อาจไม่ทราบด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้น เป็นอาการของโรคแพนิคที่รักษาได้ค่ะ

อาการของโรคแพนิคนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด  แน่นหน้าอก หายใจไม่ทันหรือไม่เต็มอิ่ม บางรายอาจวิงเวียน  ท้องไส้ปั่นป่วน มือเท้าเย็นชารู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้   จากนั้นจะเริ่มรู้สึกกลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มที่และสงบลงในเวลาประมาณ 10 นาที บางรายอาจนานกว่านั้น แต่มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง และจะเป็นซ้ำ ๆ โดยมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้  แพทย์ก็มักตรวจไม่พบความผิดปกติ  และมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก

หากไม่ได้รับการรักษาและอธิบายให้เข้าใจ ตัวโรคจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการและดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา   กลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการ ทำให้ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว หรือกลัวที่จะทำกิจกรรมบางอย่างหากอาการแพนิคกำเริบขึ้นทันที  เช่น  ข้ามสะพานลอย ขึ้นลิฟต์ หรือขับรถ และอาจพบภาวะอื่น ๆ ตามมา ที่พบบ่อยคือภาวะซึมเศร้า  จากการมีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กลัวว่าจะตายจากโรค ทำให้ผู้ป่วยเริ่มท้อแท้

สาเหตุของโรคแพนิคจริง ๆ นั้น ไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางร่างกายและทางจิตใจ

ทางร่างกาย  อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า  “อะมิกดาลา”  ทำงานผิดปกติ

ดังนั้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย  ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ความคิดที่ผิดปกติ และต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย  คล้ายระบบสัญญาณกันขโมยที่ไวเกินดังขึ้นโดยไม่มีขโมยจริงๆ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางร่างกายอื่น ๆ เช่น

-  กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มจะเป็นได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์

-  การใช้สารเสพติด  จะไปทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือสารเคมีในสมองเสียสมดุล

-  ฮอร์โมนที่ผิดปกติก็อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้

 

ทางจิตใจ   มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต อาจทำให้เกิดการ

เปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่า  เช่น  ถูกทอดทิ้ง  ถูกทำร้ายร่างกาย  ถูกข่มขืน  เป็นต้น อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยากค่ะ

การรักษา

ยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ  คือ

1. ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที  เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล  ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก

2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น  จะต้องกินต่อเนื่อง  2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง  ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า  แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย

สำหรับการรักษาด้วยยา  ในช่วงแรกๆ  แพทย์จะให้ยาทั้ง 2 กลุ่ม คือ เนื่องจากยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น  ยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วควบคู่กันไปด้วย   เมื่อยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้นได้ผล แพทย์จะลดการกินยาที่ออกฤทธิ์เร็วให้น้อยลง เมื่อผู้ป่วย “หายสนิท” คือไม่มีอาการเลย มักให้กินยาต่อไปอีก 8 – 12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก  แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อหยุดยาไปแล้วสักพัก ก็ไม่เป็นไรค่ะแค่เริ่มต้นรักษาเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม  การรักษาที่ได้ผลดี ควรมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้  และพฤติกรรมบำบัด เพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย  ขณะเดียวกันคนใกล้ชิด ผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งทีมแพทย์พยาบาลควรเข้าใจและให้กำลังใจ  อย่าคิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ  ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจเขาอย่างมาก แล้วอาการแพนิคก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุดค่ะ

 

สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิคทุกคน ขอให้ปฏิบัติ เมื่อเกิดอาการดังนี้

1.  หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ  และบอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย แค่ทรมานแต่เดี๋ยวก็หาย

2.  มียาที่แพทย์ให้พกติดตัวไว้ กินเมื่ออาการเป็นมาก

3.  ฝึกการผ่อนคลายอื่น ๆ  เช่น  ออกกำลังกาย ทำสมาธิ  ทำงานอดิเรกต่าง ๆ  ที่ช่วยให้มีความสุข
ขอให้คุณหายไวๆ และมาร่วมกันสรรค์สร้างสังคมไทยของเรากันนะคะ

 

ขอบคุณที่มาจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ที่มา: http://health.mthai.com/knowledge/922.html
 
Credit: http://women.postjung.com/737980.html
21 ม.ค. 57 เวลา 10:53 1,336 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...