โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยข้อมูลในการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เรื่อง "ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ" เมื่อกลางเดือนมกราคม 2557 ว่า แม้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของผักและผลไม้ แต่จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2546-2547 กลับพบว่าคนไทยบริโภคผักผลไม้น้อยลง โดยเพศชาย อายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ 268 กรัมต่อวัน ส่วนเพศหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ 283 กรัมต่อวัน และมีการบริโภคผักผลไม้น้อยลงตามอายุ โดยในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปบริโภคน้อยที่สุด เพียง 200 กรัมต่อวัน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการบริโภคผักและผลไม้ใน 1 วัน ไม่ควรน้อยกว่า 400 กรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่จะให้ผลดีต่อสุขภาพ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ถึง 50% ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 30% ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ 6% โรคมะเร็งทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร 1-6% และยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้ เพราะผักให้พลังงานต่ำ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า การบริโภคผักผลไม้ในสัดส่วนดังกล่าวจะช่วยให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดัน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยกลับพบว่า คนไทย 75% ทานผักผลไม้น้อยกว่าวัน 400 กรัม โดยประเทศไทยมีผักที่บริโภคได้ถึง 330 ชนิด รวมทั้งผักพื้นบ้านด้วย แต่คนไทยบริโภคผักอยู่เพียงแค่ 70-80% ของชนิดผักทั้งหมดเท่านั้น ยังมีผักอีกหลายชนิดที่เราไม่ได้บริโภค
หากมองถึงสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคผักผลไม้น้อย ก็น่าจะเป็นผลมาจากการวิถีชีวิตที่เร่งรีบขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน จากอดีตที่วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทยมักมีผักโดยเฉพาะผักพื้นบ้านเป็นส่วนประกอบ ทำให้คนไทยนิยมกินผักในรูปของผักเคียงจิ้มน้ำพริก และผักในแกงต่าง ๆ ได้เปลี่ยนมาเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ซึ่งการบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคในอันดับต้น ๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ผักผลไม้ 400 กรัมนั้น มีปริมาณแค่ไหน? นางสุจิตต์ สาลีพันธ์ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เลยแนะนำว่า ง่าย ๆ เลยก็คือให้แบ่งเป็น 5 ส่วน มีผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน หรือคิดเป็นทัพพีก็ได้ คือควรบริโภคไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ทัพพี
ด้าน ผศ.ทัศนีย์ โรจนไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ก็เสริมว่า หน่วยวัดง่าย ๆ ที่น่าจะเหมาะกับแต่ละคนคือ การใช้กำมือของตนเองเป็นตัวกำหนด เช่น ในกลุ่มเด็กมีขนาดมือเล็ก ปริมาณผักผลไม้ก็ต้องลดสัดส่วนลงไปด้วยนั่นเอง
รู้กันอยู่แล้วล่ะว่าผักผลไม้นั้นดีต่อสุขภาพแค่ไหน ใครที่เห็นผักแล้วเขี่ยทิ้ง ก็ต้องพยายามฝึกตัวเองให้ทานผักให้ได้ โดยเฉพาะผักผลไม้สด ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักที่ผ่านการปรุง หรือน้ำผลไม้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลโรคภัย