กระเบื้องหลังคาสีเหลืองออกทองที่เห็นอยู่นี้จะไม่เหมือน วัดอื่นทั่ว ๆ ไป เพราะสีเหลืองเป็นสีของฮ่องเต้วัดนี้จึงเป็นวัดของฮ่องเต้ นอกจากที่นี่กับวัดปักกิ่งแล้วต้องเป็นวัดของฮ่องเต้เท่านั้นจึงจะเป็นสี เหลือง สีเหลืองเป็นตัวแทนของธาตุดินฮ่องเต้ ใส่สีเหลืองแสดงถึงความเป็นเจ้าของที่ดินเหมือนในหลวงของไทยก็ความหมายเดียว กัน ไกด์ชาวจีนพูดไทยแห่งเมืองคุนหมิงบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของวัดใหญ่ใจ กลางเมืองคุนหมิง
วัดหยวนทง เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของมณฑลยูนนานตั้งอยู่บน ถนนหยวนทงเจียงเป็นอารามทางพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดใน เมืองคุนหมิง ว่ากันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังมีอายุยาวนานกว่า1,200 กว่าปี
นอกจากหลังคาที่ดูจะแตกต่างจากวัดอื่น ๆ เพราะฐานะความเป็นวัดของฮ่องเต้แล้วการสร้าง วัดแห่งนี้แปลกกว่าวัดอื่น ๆ ในจีนเพราะปกติแล้วการสร้างวัดของจีนสมัยโบราณส่วนมากจะต้องสร้างอยู่บน ภูเขาแต่วัดหยวนทงกลับสร้างวัดต่ำกว่าภูเขา โดยวิหารจะอยู่ต่ำที่สุดว่ากันว่าเป็นเพราะวัดแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อ เป็นวัดโดยตรงแต่เคยเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิมมาก่อน
ดังนั้นคำว่า หยวนทง จึงเป็นชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ของเจ้าแม่กวนอิมแต่ตามประวัติระบุไว้ว่าชื่อ เต็ม ๆ ที่เขียนอยู่บนขื่อหน้าวิหารใหญ่นั้นอ่านว่า หยวนทงเป่าเตี้ยน เป็นชื่อที่ฮ่องเต้เป็นผู้ตั้งให้
แต่วัดหยวนทงที่เราเห็นอยู่นี้เป็นลักษณะของวัดในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากวัดนี้ได้ถูกทำลายในสมัยราชวงศ์หมิงและได้รับการบูรณะโดย อู๋ซานกุ้ยในสมัยที่มาปกครองที่คุนหมิง สิ่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่และมีอายุเก่าแก่ที่สุดในวัดก็คือซุ้มประตูด้าน หน้าที่ยังคงตั้งตระหง่านคงความงดงามอยู่จนถึงทุกวันนี้
ส่วนเหลียวหลีหว่าหรือกระเบื้องเงินทองที่มีไว้สำหรับฮ่องเต้ใช้เท่านั้น แต่เดิมจะต้องไปนำมาจากแหล่งผลิตที่อยู่ชานเมืองปักกิ่งได้เพียงแห่งเดียว โดยมีเทคนิคการเผาจนออกมาเป็นสีเหลืองอย่างที่เห็น ดังนั้นการสร้างวัดหยวนทงแห่งนี้ในยุคนั้นกว่าที่กระเบื้องจะถูกส่งขึ้นรถ ลากจากปักกิ่งมาถึงมณฑลยูนนานมาสู่เมืองคุนหมิงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่สำหรับการบูรณะในปัจจุบันนั้นกระเบื้องแบบที่เห็นไม่ใช่เรื่องลำบากยาก เย็นอีกต่อไป
หลังผ่านซุ้มประตูเก่าแก่เข้ามาแล้วจะได้พบกับวิหารของพระสังกัจจายน์ หรือที่ชาวจีนเรียกว่าพระในอนาคตพระองค์แรกที่ยิ้มและต้อนรับผู้คนที่เข้า มากราบไหว้ ขณะที่เบื้องหลังของพระสังกัจจายน์จะมีพระอยู่องค์หนึ่งที่เรียกว่าอุยโถว พระที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของวัดซึ่งจะหันหน้ามองไปทางวิหารใหญ่ตลอด เวลา
อุยโถวไม่เพียงทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยเท่านั้นแต่ท่าทางการยืนยัง เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าคนภายนอกจะสามารถเข้ามาพักอาศัยในวัดแห่งนี้ได้ด้วย หรือไม่ หากพระอุยโถว ทำท่าไหว้และกระบองวางบนมือแสดงว่าวัดนั้นสามารถให้พระจากที่อื่นมาจำวัดและ ฆราวาสเข้ามาพักได้แต่หากพระอุยโถวเอากระบองชี้ดินแสดงว่าวัดนั้นไม่ต้อนรับ คนภายนอกให้เข้ามาพักอาศัยโดยที่พักส่วนใหญ่มักจะอยู่ทางด้านซ้ายมือเมื่อ เข้ามาในเขตของวัด
อยู่เมืองจีนเราเข้ามาไหว้พระก็เข้ามาไหว้ได้แต่อย่ามายุ่งกับชีวิตของ พระต่างคนต่างเดิน เราอย่าไปรบกวนเค้าไม่เหมือนเมืองไทยเมื่อเจอพระเราก็จะต้องไหว้แต่ที่นี่ ไม่ต้อง ส่วนวัดที่นอนได้คนที่มาคือมานอนเพื่อชำระจิตใจให้ดีขึ้น ทุกวันนี้เราอยู่ในเมืองใหญ่มีเรื่องมากมายที่อาจทำให้เครียดเราก็จะมานอน วัดหนึ่งคืนเพื่อให้จิตใจดีขึ้น กินอาหารก็กินในวัดได้เลยแล้วเราจะบริจาคเท่าไหร่น้อยหรือมากหรือไม่บริจาค เลยก็ไม่มีใครว่า ไกด์คนเดิมอธิบาย
การไหว้พระของคนจีนจะไหว้ให้ครบทั้งสี่ทิศคือ ทิศเหนือเกี่ยวกับพ่อแม่ ทิศตะวันออกเกี่ยวกับครู ทิศใต้เกี่ยวกับครอบครัว และทิศตะวันตกเกี่ยวกับเพื่อนฝูงขณะที่การจุดธูปนั้นคนจีนจะเรียกว่าเผาธูป เมื่อจุดเทียนเผาธูปไหว้พระขอพรแล้วเดินตรงข้ามสะพานไปจะเป็นศาลาแปดเหลี่ยม ซึ่งตั้งอยู่กลางสระน้ำมรกต
ศาลาแปดเหลี่ยมหลังนี้เป็นศาลาที่อู๋ซานกุ้ยสร้างในสมัยราชวงศ์ชิง ในศาลาประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมพันกรและเจ้าแม่กวนอิมพม่าหรือเรียกว่า เจ้าแม่กวนอิมหยกซึ่งแต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารใหญ่แต่เพราะเคยถูกน้ำ ท่วมจึงย้ายมาที่ศาลาแปดเหลี่ยมนี้แทน
ส่วนวิหารใหญ่ที่มีสามประตูเนื่องจากคนจีนถือว่าพระพุทธเจ้ามี 3 แบบทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยองค์กลางจะเป็นปัจจุบัน องค์ซ้ายเป็นอดีต และองค์ขวาเป็นอนาคต ขณะที่ด้านหลังสุดของวัดเป็นที่ตั้งของโบสถ์ไทยภายในโบสถ์ไทยแห่งนี้เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธชินราชของไทยซึ่งจำลองมาจากพระพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ที่วัดแห่งนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในสมัยนั้นเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-จีน นับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในประเทศไทยที่มาตั้งอยู่ในเมืองจีน
โบสถ์ที่สร้างนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยกับจีนผสมกันโดยใช้หินอ่อน มาสร้างทั้งหมดซึ่งถือเป็นการให้เกียรติสูงสุด คนจีนจะเรียกว่า ถงฝูเตี้ยน
นั่นจึงทำให้วัดหยวนทงยังเป็นวัดที่ผสมผสานทั้งวัดไทยพม่า และทิเบตเพราะภายในวัดที่ศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง ของพระพุทธศาสนาถึง 3 นิกาย ได้แก่ นิกายมหายานของพม่า นิกายหินยานของคนไทย และนิกายลามะของทิเบต.