สะพานเก่า เล่าเรื่อง
เคยสงสัยบ้างไหมว่า..........
ชื่อสะพานช้างโรงสี แต่ทำไมถึงมีรูปปั้นสุนัข ?
ชื่อสะพานมหาดไทยอุทิศ แต่ใครๆ กลับเรียกกันว่าสะพานร้องไห้ ?
สะพานอรไทย สะพานชมัยมรุเชษฐ เป็นชื่อของใครในประวัติศาสตร์ ?
ช้างโรงสีแต่ไม่มีช้าง
ลวด หนามที่นำมาเป็นปราการป้องกันผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยน แปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (กปปส.) ยังคงอยู่เชิงสะพานช้างโรงสีทั้งฝั่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย
เห็นรูปปูนปั้นหน้าสุนัขที่อยู่ติดกับลวดหนามผูกโบสีชมพูและฟ้า ทั้งที่มีตัวหนังสือเขียนว่าสะพานช้างโรงสี ทำให้อยากค้นหาถึงที่มาว่าเป็นเช่นไร
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นบ้านเมืองยังต้องทำศึกเพื่อความปึกแผ่นมั่นคงของราชอาณาจักร "ช้าง" เป็นสัตว์สำคัญที่ใช้เป็นพาหนะในการยาตราการศึกสงคราม ดังนั้นจำเป็นต้องมีสะพานที่แข็งแรงมั่นคงสามารถรับน้ำหนักของช้างที่จะเดินข้ามคูเมืองได้ แต่เดิมมีสะพานสำหรับช้างอยู่ 3 สะพานได้แก่
สะพานช้างวังหน้า (ที่ลาดเชิงสะพานปิ่นเกล้า)
สะพานช้างปากคลอง (สะพานเจริญรัช)
สะพานช้างตรงถนนบำรุงเมือง ที่เรียกขานกันว่าสะพานช้างโรงสี เพราะสมัยนั้นบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวฉางหลวงสำหรับพระนคร
ลักษณะของสะพานเดิมเป็นไม้ซุงขนาดใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนซ่อมแซมหลายครั้ง กระทั่งปีพ.ศ.2453 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โปรดให้บูรณะสะพานใหม่ให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
หัวมุมปลายสะพานประดับรูปปูนปั้นหัวสุนัขระบุศักราช 129 หมายถึงปีที่ซ่อมสะพานซึ่งตรงกับปีจอ อันเป็นนักษัตรปีประสูติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เริ่มต้นจากช้าง มาลงเอยที่สุนัขด้วยประการฉะนี้
สะพานอรไทย
เป็นสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ส่วนที่บรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทำเนียบรัฐบาล ชื่อของสะพานอรทัย ตกเป็นข่าวดังในหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในเหตุการณ์การปะทะดุเดือดระหว่างผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 2-3 ธันวาคม ที่ผ่านมา
อรไทย เป็นนามของผู้ใด ? และมีที่มาอย่างไร
ตามประวัติกล่าวว่าสะพานอรไทย ตั้งขึ้นตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว ธิดาของเจ้าพระยานครศรี ธรรมราช (น้อย ณ นคร)
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หากเคลื่อนย้ายแท่งแบริเออร์คอนกรีตที่บดบังอยู่จะพบกับเหล็กดัดและราวสะพานลวดลายงดงาม รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับตกแต่งอยู่บริเวณเสาและโคมไฟ ล้วนเป็นศิลปกรรมแบบยุโรปที่ได้รับความนิยมในแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวงทั้งสิ้น
สถานที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ยังมีพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแด่พระขนิษฐา ในพระที่นั่งวิมาเมฆ
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ปัจจุบันจัดแสดงพระภูษาในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 และผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ใครที่สนใจใคร่ศึกษาผ้าโบราณ อาทิเช่น ผ้ายกไหมเซี่ยงไฮ้ ผ้าอัดลัต ผ้ายกทอง ไม่น่าพลาดการเข้าเยี่ยมชม
ปลายสะพานทั้งสองด้านตกแต่งด้วยเสาหินอ่อนแกะสลักประดับด้วยเครื่องสำริด ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อเป็นรูปดอกทานตะวัน ที่เสาสะพานตรงกลางมีรูปเรือยุโรปโบราณประดับอยู่ เหนือขึ้นเป็นมีลายเฟื่องอุบะประดับคู่กับหัวสัตว์ทำขึ้นอย่างประณีตสวยงาม
เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับตะวันตกได้อย่างแนบเนียน
ยังมีสะพานข้ามคูเมืองเดิม หรือ คลองหลอดในปัจจุบันที่มีสถาปัตยกรรมงดงามให้เราได้ชื่นชมและศึกษาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสะพานปีกุน หรือสะพานหมู สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ครั้งพระชนมายุครบ 50 พรรษา สะพานหก หรือ สะพานยกได้ สร้างตามแบบสะพานเมืองวิลันดา ประเทศเนเธอร์แลนด์ สะพานอุบลรัตน์ สะพานเจริญศรี 34 เป็นต้น
สถานที่ทุกแห่งล้วนมีที่มาชวนค้นหา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองอย่าสนใจหรือว่าผ่านเลยไป
เอกสารอ้างอิง : หนังสือ สะพานเก่า กรุงเทพฯ ผู้เขียน ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ,
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี