ปริศนาโกศบรรจุอัฐิน้องชายพระเยซู !!

โอเดด โกลัน (ODED GOLAN) วิศวกรวัย 51 ชาวอิสราเอล ผู้มีนิวาสถาน อยู่ในกรุงเทลอาวีฟ มีงานอดิเรกเป็น นักสะสมของเก่าตัวยง ของเก่าที่เขาสะสม มิใช่ของเก่าธรรมดาๆ อายุไม่กี่ร้อยปี แต่เป็นของเก่าเข้าขั้น โบราณวัตถุอายุนับพันปี และกล่าวกันว่า กรุโบราณวัตถุ ในความครอบครองของเขานั้น เป็นกรุใหญ่ที่สุดกรุหนึ่ง ของประเทศอิสราเอลทีเดียว


ในบรรดาของเก่าของแก่ของโกลันนั้น มีหีบหินปูนสีนํ้าตาลอ่อนขนาดย่อมใบหนึ่ง ยาวประมาณ 20 นิ้ว ทำหน้าที่เป็นโกศเก็บกระดูก โกลันซื้อโกศใบนี้มาปี 1976 จากพ่อค้าของเก่าชาวเยรูซาเลม ที่อ้างว่าได้โกศใบนี้มาจากซิลวาน (SILWAN) ถิ่นคนอาหรับในเยรูซาเลม เชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 เพราะชาวเยรูซาเลมสมัยนั้นมีธรรมเนียม ที่จะเก็บศพผู้ตายไว้ในถํ้าที่เก็บศพ จนกว่าเนื้อหนังจะเน่าเปื่อย แล้วจึงกลับมาเก็บกระดูกลงโกศหิน

อย่างโกศในความครอบครองของโกลันนี้ ซึ่งก็มักจะมีนามของผู้ตายจารึกไว้ข้างโกศด้วย โกศของโกลันก็มีจารึกอยู่ด้านข้างด้วยภาษาอาราเมอิก (ภาษาเก่าแก่ที่ใช้กัน ในแถบปาเลสไตน์ในสมัยพระเยซู)  ซึ่งโกลันอ้างว่าเขาไม่ได้มีความรู้ทางโบราณคดีมากมายนัก จึงไม่รู้ว่าจารึกข้างโกศนั้นอ่านว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2002  โกลันได้นำรูปถ่ายของโกศและจารึกไปให้ อังเดร เลอแมร์ (ANDRE LEMAIRE) นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ณ กรุงปารีส ดูเลอแมร์ สนใจจารึกนั้นมาก ข้อความภาษาอาราเมอิกนั้นเขียนว่า YA'AKOV BAR YOSEF AKHUI DI YESHUA เลอแมร์ ถอดมาเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า JAMES, SON OF JOSEPH, BROTHER OF JESUS หรือ “เจมส์ บุตรชายของโยเซฟ น้องชายของเยซู”



ซึ่งก่อความตื่นเต้นขนานใหญ่ให้กับเลอแมร์ เพราะอาจเป็นไปได้ว่า โกศนี้คือโกศเก็บกระดูกของ เจมส์ ผู้เป็นน้องชายของ พระเยซูเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ ซึ่งตามบันทึกของ ฟลาวิอุส โจเชฟุส (FLAVIUS JOSEPHUS) นักประวัติศาสตร์ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1 กล่าวไว้ว่า เจมส์ถูกขว้างด้วยก้อนหินจนตายในปี ค.ศ. 62 หากว่านี่คือโกศเก็บกระดูกของเจมส์คนนี้จริงๆ แล้ว นี่ก็จะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล และเป็นพยานวัตถุที่ยืนยันถึงการมีตัวตน จริงของบุคคลในไบเบิลด้วย

ซึ่งเลอแมร์ก็ได้จัดงานแถลงข่าวการค้นพบจารึกนี้ แก่สื่อมวลชนที่วอชิงตัน เมื่อ 21 ตุลาคม 2002


อย่างไรก็ตาม เลอแมร์ยอมรับว่า นอกจากข้อความในจารึกแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานแวดล้อมอื่นใดจะยืนยันได้ว่า เจมส์และเยซูในจารึกนั้นคือเจมส์และเยซูไหน นักโบราณอื่นๆหลายคนกล่าวว่า โกศที่พบในเยรูซาเลมหลายต่อหลายใบมีนาม JESUS จารึกอยู่ บางใบก็จารึกว่า JESUS, SON OF JOSEPH หรือ “เยซูบุตรของโยเซฟ” ด้วยซํ้า แต่ก็มิได้หมายความว่า JESUS นั้นคือพระเยซูเสมอไป เพราะชื่อเยซูและโยเซฟนี้เป็นชื่อสามัญที่ใช้กันทั่วไปในสมัยนั้น เหมือนสมชายบุตรนายสมศักดิ์อะไรทำนองนั้น


นักวิชาการโบราณคดีอีกหลายคนยังไม่เชื่อเรื่องจารึกข้างโกศนี้ บางคนกล่าวว่า จารึกดูจะสมบูรณ์เกินไป ตัวอักษรของจารึกชัดเจนผิดปกติ เมื่อเทียบกับสภาพพื้นผิวของโกศ แม้ในบทความของเลอแมร์ที่เขียนขึ้น เผยแพร่การค้นพบจารึกนี้ จะมีรายงานการวิเคราะห์จารึกบนโกศของนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล ประกอบ ซึ่งสรุปว่า เครื่องมือที่ใช้สลักจารึกนี้เป็นเครื่องมืออย่างเดียวกับเครื่องมือ ที่ใช้กันในสมัยศตวรรษที่ 1

กระนั้นก็ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่า จารึกดังกล่าวเป็นของแท้ล้วนๆ ไม่มีการปลอมแปลงแต่งเติมส่วนหนึ่งส่วนใด ขึ้นมาด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือเพียงเพื่อให้ขายได้ราคางาม ซึ่งในกรณีนี้ โกลันอ้างว่าเขาซื้อโกศใบนี้มาในราคาเพียง 200 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น


เมื่อ 7 ตุลาคม 2002 โกลันได้ขออนุญาต จากกรมการโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล (ISRAEL ANTIQUITIES AUTHORITY) นำโกศ 2 ใบออกนอกประเทศชั่วคราว เพื่อนำไปจัดแสดง ในการประชุมนักวิชาการไบเบิล ที่โตรอนโต ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งภาย หลังทางการอิสรา เอลก็กล่าวโทษโกลันว่า เมื่อครั้งที่มาขออนุญาตนั้น เขามิได้แจ้งให้ทางการอิสราเอล ทราบถึงความสำคัญ ของจารึกข้างโกศเลย กรมการโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล เพิ่งมาปะติดปะต่อเรื่องราว ได้จากใบอนุญาตกับบทความการอ่านจารึก ข้างโกศของเลอแมร์เท่านั้น

ซึ่งโกลันก็อ้างว่าก็เขาไม่รู้นี่นา ว่า จารึกนั้นจะสำคัญถึงเพียงนี้ เขาไม่มีความรู้ทางโบราณคดีพอจะอ่านจารึกออก อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าต่อมามารดาและน้องชายของโกลัน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับตัวโกลันว่า มีนิสัยชอบทางโบราณคดีมาแต่เด็ก เคยเข้าร่วมการขุดค้นทางโบราณคดีในอิสราเอล และสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอันดีกับนักโบราณคดี ผู้มีชื่อเสียงของอิสราเอล ทั้งรู้ภาษาอาราเมอิกด้วย


อ้าว ! เอาละสิ ไม่เตี๊ยมกันให้ดีเสีย ก่อนนี่นา

โกลันอ้างว่าเขาจำไม่ได้ว่าเขาซื้อโกศใบนี้มาจากพ่อค้าของเก่าคนไหน กรมการโบราณวัตถุแห่งอิสราเอลก็กำลังสืบเสาะตามผู้ค้าของเก่าทั้งหลายในเยรูซาเลม ว่าใครเป็นผู้ขายโกศใบนี้ให้โกลัน เพราะเมื่อปี 1978 มีกฎหมายเกี่ยวกับโบราณวัตถ ุออกมากำหนดว่า โบราณวัตถุทั้งหลายที่พบในประเทศอิสราเอล หลังกฎหมายนี้บังคับใช้ จะต้องตกเป็นของรัฐ

ถ้ามีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าโกศใบนี้ถูกขุดค้นขึ้นมาภายหลังปี 1978 ทางการอิสราเอลก็สามารถริบโกศเข้าหลวงได้ แต่ถ้าไม่อยู่ในอำนาจที่จะริบได้ ก็อาจวินิจฉัยได้ว่าห้ามนำออกขายแก่ผู้ซื้อที่อยู่ภายนอกประเทศ  หรือมิฉะนั้นอีกทีก็อาจขอซื้อไว้เอง ซึ่งพิพิธภัณฑ์รอยัลออนตาริโอแห่งแคนาดา ที่นำโกศออกจัดแสดง ก็ตั้งราคาให้โกศใบนี้ไว้ถึง 2 ล้านเหรียญแล้ว แต่โกลันก็ตอบว่าโกศใบนี้มิได้มีไว้ขาย


ในการขนส่งโกศไปยังแคนาดานั้น โกศถูกห่ออย่างแน่นหนา บรรจุลงในลังกระดาษแข็งและติดป้าย “แตกง่าย” ทั้งยังมีประกันการชำรุดเสียหายไว้ถึง 1 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม เมื่อโกศมาถึงพิพิธภัณฑ์รอยัล-ออนตาริโอ ก็ปรากฏว่ามีรอยร้าวใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งรอยเก่าก็ปริขยายออกไปอีก รอยร้าวรอยหนึ่งพาดผ่านนาม “JESUS” เสียด้วย ผู้เชี่ยวชาญยังไม่อาจลงมือซ่อมได้ เพราะต้องรอให้บริษัทประกันรับรองวิธีการซ่อมเสียก่อน

วิธีการซ่อมรอยร้าวดังกล่าวก็คืออุดรอยร้าวด้วยเรซิน ซึ่งผสมสีให้กลมกลืนกับพื้นผิวของโกศ ข่าวการร้าวของโกศทำ ให้คริสต์ศาสนิกชนหลายคนตกใจและเสียดาย บ้างก็บอกว่านั่นแหละคือการลงโทษของพระเจ้า ที่มนุษย์บังอาจไปรบกวนโกศของเจมส์ น้องชายของพระองค์ และบ้างก็ ว่าพิพิธภัณฑ์รอยัลออนตาริโอก็จะต้องถูกฟ้าผ่าด้วยในเร็ววัน


กรมการโบราณวัตถุแห่งอิสราเอลยังไม่ลงความเห็นว่าจารึกบนโกศเป็นของแท้หรือไม่ แต่ก็น่าสงสัยว่า ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถลงความเห็นได้หรือ ว่าจารึกดังกล่าวหมายถึงเจมส์ น้องชายของพระเยซู ผู้เป็นศาสดาแห่งคริสต์ศาสนิกชน เพราะไม่มีหลักฐานแวดล้อมอื่นใดที่จะยืนยันเช่นนั้น

ในที่สุด โกศใบนี้ก็คงตกอยู่ในสภาพเหมือนผ้าห่อพระศพแห่งตูริน ที่จนบัดนี้ก็ยังเถียงกันไม่เลิกราว่าเป็นผ้าห่อพระศพพระเยซูจริงหรือ

สรุปแล้ว ความแท้จริง หรือความศักดิ์สิทธิ์ ก็คงขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงพยานหลักฐานใดๆนั่นแหละหนา.

 

 

Credit: นสพ.ไทยรัฐ และhttp://www.artsmen.net
8 เม.ย. 53 เวลา 00:24 4,176 10 1,356
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...