ขนมจีนน้ำเงี้ยว
เป็นอาหารของทางภาคเหนือ ซึ่งนิยมรับประทานกัน ขั้นตอนการปรุงก็ไม่ได้ยุ่งยากครับ สำหรับวันนี้ ไม่ได้ลงมือปรุงเอง ซื้อเขามาครับ ไว้โอกาสหน้าจะลงมือปรุงให้ได้ทาน ไว้ได้ดอกงิ้วมาก่อน ส่วนที่เรียกว่า น้ำเงี้ยว ก็เพราะน้ำแกงสำหรับราดขนมจีน ใส่ดอกงิ้วแห้งลงไปด้วย จึงเรียกว่า น้ำเงี้ยว
ภาพบนดอกงิ้วสด ภาพล่าง ดอกงิ้วแห้งครับ
บางท่านอาจสงสัย..ทำไมถึงไม่เรียก "น้ำงิ้ว" ที่มา ของคำว่า "น้ำเงี้ยว" มีดังนี้ครับ
เดิมทีขนมจีนไม่ได้รับประทานพร้อมกับน้ำเงี้ยว แต่เพิ่งนำประยุกต์มารับประทานพร้อมกันไม่นานมานี้ น้ำเงี้ยวเป็นอาหารของชาวเงี้ยวซึ่งเป็นกลุ่มไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาอพยพหนีการสู้รบกับรัฐบาลพม่า จึงเข้ามาอาศัยกระจายทั่วไปทุกจังหวัดภาคเหนือ แต่ที่เป็นชุมแหล่งใหญ่คือจังหวัดแพร่ เนื่องจากในยุคนั้น มีการสัมปทานพื้นที่การทำป่าไม้ให้กับบริษัทจากอังกฤษ มีความต้องการแรงงานมาก ชาวเงี้ยวจึงปักหลักอาศัยเป็นชุมชนใหญ่ที่นี่
ปัจจุบันขนมจีนน้ำเงี้ยวนิยมรับประทานควบคู่ ผักนานาชนิด เช่น ถั่วงอกสด ยอดกระถิน มะระขม ถั่วฝักยาวนึ่งหั่นเล็ก ต้นหอม ผักชี ผักกาดดอง แคบหมู ข้าวกั้นจิ๊น ส้มตำ เนื้อทอด.
ครับ...เรื่องราวของขนมจีนน้ำเงี้ยว คร่าวๆ ก็มีเพียงเท่านี้ครับ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน
ส่วนขนมจีนนั้น สันนิษฐานกันว่า น่าจะมาจากชาวมอญ ไม่ใช่จากจีน หรือว่าเป็นอาหารจีนแต่อย่างใด ซึ่งคนมอญ จะเรียกขนมจีนว่า "คนอมจิน" หมายถึง สุก 2 ครั้ง "คนอม" หมายถึง จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน "จิน" หมายถึง ทำให้สุก ซึ่งก็ตรงกับลักษณะของแป้งทำขนมจีน ที่หมักเป็นก้อนก่อนนำไปผ่านกรรมวิธีการต้มเป็นเส้น
คนอมจิน น่าจะเป็นเหตุเป็นผลที่เหมาะสม สำหรับที่มาของขนมจีน
ของผมชอบบีบมะนาวสดก่อนปรุงรสด้วยพริกคั่วหอมกรุ่น และเคล้าเข้ากัน มือขวาถือช้อน มือซ้ายถือแค๊ปหมู อิอิ อาหร่อย แถมมีแคลอรีเพียง 245 เท่านั้น เบิ้ลสองจานยังไม่อ้วนนะคราฟ
http://www.oknation.net/blog/yaya2508/2014/01/14/entry-1