ธีรภัทร เจริญสุข เขียน อย่าเพิ่งตื่นตกใจกับรถไฟลาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสองข่าวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในประเทศไทยและลาวที่สำคัญน่าสนใจและทำให้เกิดความแตกตื่นฮือฮากันมากในสังคม คือ ข่าวการลงนามสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาว และข่าวการไต่สวนเรื่องโครงการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของไทยในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดภาพความพร้อม-ไม่พร้อม และความจำเป็นของระบบคมนาคมกันอย่างฉูดฉาด หลายคนถึงกับกล่าวว่า ไทยจะล้าหลัง ต้องไปนั่งรถไฟความเร็วสูงที่ลาว ขนาดนั้นเลยทีเดียว

เมื่อสืบเสาะหาข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมถึงข้อมูลในพื้นที่ก่อสร้างแล้ว พบว่า ข้อเท็จจริงของรถไฟความเร็วสูงในลาว ไม่ได้เป็นอย่างที่มีข่าวออกมาเท่าใดนัก ยังมีความคลาดเคลื่อนหลายส่วนดังต่อไปนี้

1. รถไฟที่จะก่อสร้างเชื่อมต่อระหว่างสะหวันนะเขต-ลาวบาว "ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง" เป็นเป็นรถไฟที่ใช้ระบบราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) แบบรางคู่ วิ่งด้วยความเร็วปานกลางระดับ 120-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (เมื่อเทียบกับรถไฟไทยที่วิ่งด้วยความเร็ว 60-100 กม./ชม. ถือว่าเร็วกว่าพอสมควร) โปรดอย่าสับสนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ลาวลงนามทำความเข้าใจก่อสร้างร่วมกับประเทศจีน

2. การลงนามก่อสร้างนั้นเป็นข่าวเก่า โดยรัฐบาลลาวได้อนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการสำรวจกับบริษัทไจแอนท์ คอนโซลิเดทผู้ก่อสร้าง ในปี 2008 และลงนามอนุมัติโครงการก่อสร้างในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2012 

3. การเริ่มเปิดหน้าดินและไซต์ก่อสร้าง รวมถึงการวางศิลาฤกษ์ ได้ลงมือไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา

4. วัตถุประสงค์หลักของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ คือการใช้ขนส่งสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม กับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน แขวงสะหวันนะเขต และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ส่วนการขนส่งโดยสารผู้คนนั้นเป็นจุดประสงค์รอง

5. บริษัทที่ทำโครงการดังกล่าว เป็นบริษัทเอกชนสัญชาติมาเลเซีย จดทะเบียนในบริติชเวอร์จิน และได้รับการจัดหาทุนจากธนาคารในนิวซีแลนด์ เป็นการลงทุนภาคเอกชนแทบทั้งหมด หากสร้างเสร็จก็ถือว่าเป็นรถไฟเอกชนบนสัมปทานที่ดินรัฐ ไม่ใช่การลงทุนหรือร่วมทุนโดยรัฐบาลลาว

6. กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2018 หรือ พ.ศ. 2561 

ทั้งนี้ ความโปร่งใสและการประกาศข้อมูลต่อสาธารณชนก็ยังเป็นปัญหา ทั้งการยื่นแผนสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แผนโครงสร้างและการก่อสร้าง ที่บริษัทดังกล่าวต้องส่งให้แก่ทางการลาวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทางการได้เปิดเผย หรือออกแถลงข่าวที่น่ายินดีนี้ทางสื่อมวลชนของรัฐแต่อย่างใด ซึ่งการแสวงหาข้อมูลจากภาครัฐของลาวนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงบริษัทไจแอนท์ คอนโซลิเดต ผู้ก่อสร้าง ก็เปิดเผยข้อมูลน้อยมากในสื่อออนไลน์ ไม่มีแม้กระทั่งเว็บไซต์บริษัทอย่างเป็นทางการให้สืบหา ส่วนบริษัทให้ทุนอย่างริชแบงโก เบอร์ฮัด ก็เป็นบริษัทลงทุนทางการเงิน (Investment Banking Service) ไม่ใช่สถาบันการเงินหลักประเภทธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank)และไม่ปรากฏสารบบของบริษัทลงทุนนี้ในระบบของธนาคารแห่งชาตินิวซีแลนด์ ถึงขั้นสำนักข่าวต่างชาติที่เจาะลึกเรื่องนี้เรียกการก่อสร้างครั้งนี้ว่าเป็น Mystery Railways "ทางรถไฟสายปริศนา" 

ทางรถไฟความยาว 220 กิโลเมตรเส้นนี้ ยังมีข้อกังขาอยู่มากว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน และได้สร้างจนเสร็จใช้จริงหรือเปล่า ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของผู้ติดตามข่าวสารการพัฒนาเชื่อมแม่น้ำโขงสู่ทะเลจีนใต้ครั้งนี้โดยทั่วกัน สิ่งที่ได้เห็นกับข่าวที่ออกมาดูจะมีความแตกต่างอยู่มาก การเสาะแสวงหาความจริงจึงต้องทำอย่างเต็มที่จนกว่าจะเปิดเผยข้อเท็จจริงได้และมีการเปิดใช้จริง 

ดังนั้นขอประชาชนชาวไทยอย่าเพิ่งแตกตื่นว่าลาวจะมีรถไฟความเร็วสูงใช้ก่อนไทย แต่ที่เปิดเผยและโปร่งใสแน่ๆ คือ มาเลเซียและสิงคโปร์ จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกันให้ใช้ก่อนถนนลูกรังในประเทศมาเลเซียหมดไปภายในปี 2020 แน่นอน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...