ลิ้นบอกโรค

ลิ้นบอกโรค

 

ลิ้นบอกโรค การอ่านลิ้นของแพทย์แผนจีน เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยการดู สังเกตการเปลี่ยนแปลงของลักษณะลิ้นและฝ้าบนลิ้น เป็นส่วนสำคัญในการตรวจโรคของแพทย์แผนจีน โดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้กล่าวไว้ว่า เส้นลมปราณของอวัยวะภายในร่างกายล้วนแล้วเดินผ่านบริเวณลิ้นกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ลิ้นจึงสะท้อนถึงสภาวะภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี จากการดูลิ้นสามารถรู้ได้ถึงความสมดุลภายในร่างกาย ซึ่งแพทย์แผนจีนมองว่า ลิ้นเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนถึงภาวะสมดุลและไม่สมดุลในร่างกาย ว่าในร่างกายมีสิ่งใดผิดปกติอย่างไร โดยลักษณะของตัวลิ้นสามารถสะท้อนถึงอวัยวะภายในทั้งห้า(ปอด หัวใจ ม้าม ตับ ไต) ฝ้าบนลิ้นสามารถสะท้อนถึงอวัยวะกลวงทั้งหก(กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ถุงน้ำดี และซานเจียว)

ความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับอวัยวะภายในมีดังนี้

ปลายลิ้น — บ่งบอกถึงความผิดปกติของหัวใจ และปอด เช่นปลายลิ้นแดงเป็นแผล แสดงว่าหัวใจมีความร้อนมาก กลางลิ้น — บ่งบอกถึงความผิดปกติของม้ามและกระเพาะอาหาร ถ้าลิ้นมีฝ้าหนา โดยเฉพาะบริเวณกลางลิ้น แสดงว่าระบบย่อยอาหารไม่ดี เกิดความชื้น หรือมีเสมหะสะสมอยู่ในร่างกาย โคนลิ้น — บ่งบอกถึงความผิดปกติของไต ถ้าฝ้าที่โคนลิ้นลอกออกจนเห็นผิวลิ้น แสดงว่าไตหยินพร่อง ด้านข้างขอบลิ้น — บ่งบอกถึงความผิดปกติของตับและถุงน้ำดี เช่นด้านข้างขอบลิ้นมีจุดม่วงคล้ำ แสดงว่าลมปราณ(ชี่)ที่ตับติดขัด เลือดไหลเวียนไม่ดีการอ่านลิ้น ประกอบด้วยการดูสีลิ้น รูปร่างลักษณะของลิ้น การเคลื่อนไหวของลิ้น ลักษณะและสีของฝ้าบนลิ้น

การดูสีลิ้น โดยทั่วไปแบ่งเป็น 6 สี

ลิ้นสีแดงอ่อน – พบในคนปกติ หรืออาการป่วยยังเบา ลิ้นสีขาวซีด – ลมปราณ(ชี่)และเลือดพร่อง หยางพร่อง ลิ้นสีแดง — มีอาการร้อนแกร่ง หยินพร่องเกิดไฟ ลิ้นสีแดงเข้ม — มีความร้อนอยู่ภายใน มีอาการหยินพร่อง ลิ้นสีม่วง — ลมปราณ(ชี่)และเลือดไหลเวียนไม่คล่อง

การดูรูปร่างลักษณะของลิ้น

ลิ้นหยาบ — ผิวลิ้นหยาบด้าน สีลิ้นค่อนข้างคล้ำ แสดงว่าอาการป่วยเป็นอาการแกร่ง ภูมิต้านทานยังดีอยู่ ลิ้นอ่อน — ผิวลิ้นละเอียด ลิ้นบวม สีซีดอ่อน แสดงว่าอาการป่วยเป็นอาการพร่อง เช่นเลือดลมน้อย พลังหยางน้อย ลิ้นบวมใหญ่ — ลิ้นบวมใหญ่และหนา เวลาแลบลิ้นจะเต็มปาก แสดงว่ามีความชื้นสะสมอยู่ภายใน ลิ้นเล็กบาง — ลมปราณ(ชี่)และเลือดน้อย หยินพร่องเกิดไฟ ลิ้นมีจุดแดงหรือเป็นจุดเหมือนหนามเล็กๆนูนอยู่บนลิ้น — อวัยวะภายในมีความร้อนอยู่มาก หรือในชั้นเลือดมีความร้อนอยู่มาก ลิ้นมีรอยแตก — มีความร้อนมาก หยินน้อย เลือดน้อย ม้ามพร่อง ลิ้นมีรอยหยักของฟัน — ม้ามพร่อง ภายในร่างกายมีความชื้นมาก

การดูลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวลิ้น

ลิ้นอ่อนแรง —ชี่และเลือดพร่อง หยินพร่อง ลิ้นแข็งทื่อ —ความร้อนเข้าสู่เหยื่อหุ่มหัวใจ หรือมีไข้สูง หรือมีลมและเสมหะอุดตันอยู่ที่เส้นลมปราณลั่ว ลิ้นเอียงเฉ —มักเป็นอาการล่วงหน้าหรือพบในผู้ที่มีเส้นเลือดสมองตีบ หรือเส้นเลือดสมองแตก ลิ้นสั่น —เป็นอาการเกิดลมในตับ หรืออาจเกิดจากหยินพร่อง เลือดน้อย หยางแกร่ง มีความร้อนมาก

การอ่านตัวลิ้น นอกจากดูผิวลิ้น ลักษณะของลิ้นแล้ว ยังสามารถดูเส้นเลือดที่อยู่ใต้ลิ้นได้อีก ถ้าเส้นเลือดใต้ลิ้นใหญ่ยาว มีสีแดงเข้ม หรือสีเขียว หรือสีม่วง หรือสีดำ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามีเลือดคั่งอยู่ภายใน แต่ถ้าเส้นเลือดใต้ลิ้นสั้นและเล็ก สีของตัวลิ้นก็ซีดขาว แสดงว่าลมปราณ(ชี่)และเลือดน้อย

การดูลักษณะของฝ้าบนลิ้นมีดังนี้

ฝ้าบาง — พบในคนปกติ หรืออาการป่วยที่ยังอาการเบา ฝ้าหนา — มีความชื้นสะสมอยู่ในร่างกาย อาหารตกค้าง หรือร้อนใน ฝ้าชื้น — พบในคนปกติ หรืออาการป่วยที่ยังไม่ลุกลามถึงระบบน้าในร่างกาย เช่น ไข้หวัดจากลมหนาว อาหารไม่ย่อย เลือดคั่ง ฝ้าแห้ง — อาการป่วยลุกลามถึงระบบน้ำในร่างกาย เช่น มีไข้สูง อาเจียน ถ่ายท้อง ฝ้าเหนียว — มีความชื้นสะสมอยู่ภายใน ฝ้าร่อน — ฝ้าหนา แต่เมื่อขูดจะหลุดร่อนง่าย แสดงถึงอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีเสมหะสะสมอยู่ภายใน ฝ้าหลุดลอก — ฝ้าบนลิ้นหลุดลอกเป็นบางบริเวณหรือทั่วลิ้น บริเวณที่ฝ้าหลุดลอกไป จะเห็นตัวเนื้อลิ้นเกลี้ยงไม่มีฝ้า แสดงถึงชี่ที่กระเพาะอาหารน้อย หยินในกระเพาะอาหารมีน้อยขาดแคลน ชี่และเลือดพร่อง ร่างกายอ่อนแอ ฝ้าเต็มลิ้น — มีความชื้น เสมหะติดขัดอยู่ภายใน ฝ้าไม่เต็มลิ้น — ฝ้ามีอยู่บางส่วนของลิ้น เช่น มีฝ้าอยู่เพียงบริเวณปลายลิ้น หรือโคนลิ้น หรือส่วนซ้าย หรือส่วนขวาของลิ้น ส่วนใดของลิ้นมีฝ้าแสดงว่าอวัยวะที่สังกัดบริเวณมีอาการผิดปกติ เช่น มีฝ้าอยู่บริเวณด้านข้างของลิ้น แสดงให้เห็นว่ามีความชื้นร้อนอยู่บริเวณตับและถุงน้ำดี ฝ้าจริง — ฝ้าขึ้นจากตัวลิ้น ขูดออกยาก เมื่อขูดออกแล้วจะมีรอยฝ้าอยู่ เห็นผิวลิ้นได้ไม่ชัดเจน ถ้าป่วยเป็นเวลานาน ฝ้าลิ้นเป็นฝ้าจริง แสดงว่าพลังชี่ที่กระเพาะอาหารยังมีอยู่ ฝ้าหลอก — ฝ้าไม่ติดกับตัวลิ้นนัก เหมือนทาอยู่บนผิวลิ้น ฝ้าขูดลอกออกง่าย และเห็นผิวลิ้นชัดเจน ถ้าป่วยเป็นเวลานาน ฝ้าลิ้นเป็นฝ้าหลอก แสดงว่าอาการป่วยน่าวิตก

การดูสีของฝ้า สีของฝ้าแบ่งเป็นหลักๆได้ 3 สี คือ สีขาว สีเหลือง และสีเทาดำ

ฝ้าสีขาว — สามารถพบได้ในคนปกติ และในกลุ่มอาการภายนอก(เปี่ยวเจิ้ง) อาการหนาวเย็น มีความชื้นอยู่ภายใน และกลุ่มอาการร้อน ฝ้าสีเหลือง — มักพบในกลุ่มอาการร้อน และเป็นอาการป่วยอยู่ภายใน ฝ้าสีเทาดำ — บอกถึงมีความหนาวเย็นหรือมีความร้อนอยู่ภายในมาก

การดูลิ้นต้องดูทั้งตัวลิ้นและฝ้าบนลิ้นควบคู่กันไป เช่น ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองและแห้ง บ่งบอกถึงมีอาการร้อนแกร่ง ถ้าลิ้นแดงและผอม มีฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า บ่งบอกถึงมีหยินพร่องและมีความร้อนอยู่ภายใน ถ้าลิ้นม่วง ฝ้าขาวเหนียว บ่งบอกถึงชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด มีเสมหะหรือความชื้นสะสมอยู่ภายใน

จากข้างต้น เราได้อธิบายลักษณะการดูลิ้นให้ท่านได้ทราบกันแล้ว ทั้งนี้ลักษณะลิ้นที่ปกติควรเป็นอย่างไร เรามาเฉลยกันค่ะ ลักษณะลิ้นที่ปกติคือ ตัวลิ้นอ่อน เคลื่อนไหวได้คล่อง สีลิ้นเป็นสีแดงอ่อน และมีความชุ่มชื้นพอเหมาะ ฝ้าบนลิ้นบางขาวและกระจายทั่วลิ้น รู้เช่นนี้แล้ว หมั่นตรวจสุขภาพลิ้นกันนะค่ะ และขอให้ทุกท่านมีสุขภาพลิ้นแข็งแรงค่ะ

Credit: http://women.postjung.com/737977.html
#ลิ้นบอกโรค
Numfaa24
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
18 ม.ค. 57 เวลา 01:35 7,082 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...