ท่องเที่ยววูบซ้ำ ฝรั่งแห่คืนที่พัก โต้งนำถกใหญ่ รับมือศก.ดำดิ่ง
"วอชิงตันโพสต์" สื่อยักษ์มะกันจี้"รัฐบาลโอบามา" โชว์จุดยืนต้านรัฐประหาร-ช่วยปกป้องประชาธิปไตยในไทย พร้อมไม่ยอมรับการชุมนุมประท้วงของม็อบชัตดาวน์ ก่อนไทยซ้ำรอยอิยิปต์ ชี้ "ประชาธิปัตย์" เป็นพรรคที่มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตย "กิตติรัตน์" ประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการชุมนุมของกลุ่มกปปส. พบยอดนักเที่ยว-จีดีพีวูบไปตามๆ กัน ภาคเอกชนบางส่วนไม่มั่นใจกำลังการบริโภคภายในประเทศจึงชะลอการลงทุนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เผยครึ่งแรกเดือนม.ค.57 นักท่องเที่ยวตปท.เข้าออกสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองลดลง ทั้งแห่คืนห้องพักบริเวณพื้นที่ชุมนุม
"โต้ง"ประชุมผลกระทบม็อบ
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามสถาน การณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการชุมนุมทางการเมือง
ผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์
"นักท่องเที่ยว-จีดีพี"วูบ
ภายหลังการประชุม นายกิตติรัตน์เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้มาเป็นประธาน จากการหารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่ประชุมมีความเห็นว่าผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งการผลิตเพื่อส่งออก การบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมีจำนวนลดลง ทั้งในสนามบินหลักทั้งสองแห่ง รวมถึงสนามบินอื่นๆ ในจังหวัดท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจากผลกระทบทางการเมืองที่ได้รับรายงานทำให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจยอมรับว่าจากเดิมที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ถึง 4.5% คงเป็นไปได้ยาก โดยในขณะนี้ประมาณการว่าจีดีพีอาจขยายตัวประมาณ 3% หรืออาจขยายตัวน้อยกว่า 3% หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ
"การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3% หรือน้อยกว่า 3% เป็นเรื่องต้องเตรียมใจ แต่หน่วยงานราชการต่างๆ หารือว่าจะทำงานให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการบริการประชาชนให้สามารถทำต่อไปได้ ส่วนการส่งออกแม้จะได้ประโยชน์ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทมีความผันผวน ขณะที่ต้นทุนการซื้อประกันความเสี่ยงของเอกชนก็สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องความมั่นใจในเรื่องของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ต้องให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศ ไทยยังผลิตและส่งมอบสินค้าได้ ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะลดน้อยลงได้" นายกิตติรัตน์กล่าว
หวั่น"เอกชน"ชะลอลงทุน
นายกิตติรัตน์เผยด้วยว่า สำนักงบประมาณรายงานให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า ในการเบิกจ่ายงบประมาณเกี่ยวข้องกับงบลงทุนบางส่วนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% หรือประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทของงบประมาณลงทุนภาครัฐทั้งหมดในปี 2557 ประมาณ 4 แสนล้านบาทเศษ ส่วนงบประมาณการลงทุนภาครัฐอีกประมาณ 90% ที่เหลือจะเร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ตามปกติ ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากผลกระทบทางการเมืองเช่นกัน เนื่องจากภาคเอกชนบางส่วนไม่มั่นใจกำลังการบริโภคภายในประเทศ จึงชะลอการลงทุนบางส่วน
"ในที่ประชุมเลขาธิการบีโอไอ รายงานว่าขณะนี้ได้ส่งหนังสือไปสอบถามคณะกรรม การการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอชุดใหม่แทนที่คณะกรรมการชุดเดิมที่หมดอายุไปตั้งแต่เดือนต.ค. 2556 โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นอำนาจการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. ซึ่งหาก กกต.มีความเห็นว่านายกฯ รักษาการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้ก็จะสามารถพิจารณาโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปได้ และในปี 2557 มีโครงการของภาคเอกชนที่ขอส่งเสริมการลงทุนรอการพิจารณาเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท" รองนายกฯ กล่าว
เชื่อยังไม่ถึงขั้นย้ายฐานผลิต
ด้านนายอุดม เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า โครงการขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 มีขนาดใหญ่อยู่หลายโครงการ สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยออกไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนที่มาขอยื่นการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอจะยังไม่ตัดสินใจยกเลิกแผนลงทุน หรือย้ายไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะนักลงทุนมีแผนแน่นอน ดูจากความพร้อมในเรื่องโครงสร้างการผลิต และดูตลาดรองรับเป็นปัจจัยพื้นฐานมากกว่าจะพิจารณาจากปัญหาทางการเมือง
แห่คืน"ที่พัก"ย่านจุดชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สรุปผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่า ข้อ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมระหว่างวันที่ 1-13 มกราคม 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยแล้วจำนวน 1,013,109 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.77 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา, ข้อ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ระหว่างวันที่ 1-13 มกราคม 2557 มีผู้เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ทั้งสิ้น 633,125 คน หดตัวร้อยละ 1.18 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
"ข้อ 3 ประเทศที่ประกาศคำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวมีจำนวนทั้งหมด 45 ชาติ และ 4. จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พักแรมในพื้นที่ชุมนุมและบริเวณใกล้เคียง มีจำนวนประมาณ 40,000 คน และร้อยละ 45 ของจำนวนสถานประกอบการที่พักในพื้นที่ดังกล่าว มีผู้แจ้งคืนห้องพักก่อนกำหนด หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 3,000 คน" รายงานกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุ
สื่อสหรัฐวิพากษ์ม็อบ
วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อการเมืองยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เสนอบทวิเคราะห์การเมืองไทย เขียนโดยกองบรรณาธิการ ชื่อเรื่อง "Thailand"s anti- democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S." หรือ "การประท้วงต่อต้านประชาธิปไตยของไทย" มีเนื้อหาว่า การเดินขบวนประท้วงต่อต้านประชาธิป ไตยกลายเป็นกระแสอันน่าเสียดายที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งต้องถูกท้าทายจากกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจมายาวนาน อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ประชาชนเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรีลาออกเพื่อให้คณะที่ปรึกษาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทน และยกเลิกการเลือกตั้งที่กำหนดไว้เดือนหน้า เห็นได้ชัดว่ากลยุทธ์ของผู้ประท้วงคือการทำให้กรุงเทพฯ ยุ่งเหยิงและถึงจุดที่รัฐบาลรู้สึกถูกขับไล่จนลาออกหรือกองทัพก่อรัฐประหาร
ชี้"ปชป."มีปัญหากับ"ปชต."
วอชิงตันโพสต์ระบุว่า เทคนิคคล้ายกันนี้เคยทำสำเร็จมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อครั้งโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มผู้สนับสนุนตั้งแต่ปี 2549 ส่วนครั้งที่ 3 เป็นผลมาจากคำตัดสินที่น่ากังขาของศาล ในเวลานี้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงหนักแน่นเท่าที่จะทำได้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้รับแรงสนับสนุนมากขึ้นถ้าสหรัฐอเมริการ่วมปฏิเสธผลลัพธ์จากวิกฤตดังกล่าวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
บทความนี้ยังชี้ว่า เป็นเรื่องน่าขำที่การสนับสนุนความพยายามให้เกิดรัฐประหารมาจากสมาชิกหลายคนของพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน โดยพรรคนี้มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตย เพราะแพ้การเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณขึ้นสู่อำนาจครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ตลอดจนนักธุรกิจที่มีเส้นสายวงใน
พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นนักธุรกิจพันล้านและปัจจุบันลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เป็นคนที่ได้รับความนิยมสูงจากคนยากจนในชนบท โดยเฉพาะจากภาคอีสาน ซึ่งแต่ก่อนไม่มีปากเสียงในสังคม ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจโดยมิชอบและละเมิดสิทธิมนุษยชนสมัยดำรงตำแหน่ง รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างเสรีและยุติธรรมเช่นเดียวกับรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์
จี้รัฐบาลโอบามาโชว์จุดยืน
วอชิงตันโพสต์รายงานต่อไปว่า ท่ามกลางการประท้วงและความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณจะสุกงอมเต็มที่ เมื่อคณะรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์สืบทอดอำนาจพี่ชายได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งน.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรัฐสภาที่จะเปิดทางให้พี่ชายกลับประเทศ ฝ่ายค้านขณะนั้นปลุกกระแสความรุนแรง โดยไม่ได้ต้องการเพียงแก้ไขการลุแก่อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณอย่างที่หัวหน้าพรรคอ้างไว้อีกต่อไป ขณะนี้พวกเขามุ่งจะถอนรากถอนโคนรัฐบาล และพยายามกำจัดพ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวออกจากการเมือง
การต่อต้านประชาธิปไตยอย่างนี้ น่าจะทำให้สหรัฐอเมริกาที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงออกมาแสดงท่าทีได้ง่าย แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ ซึ่งมีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อกลางปีก่อนเช่นกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐก็ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวใดๆ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเพียงเรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตผ่านกระบวนการประชาธิปไตยและชื่นชมรัฐบาลที่อดกลั้นต่อการประท้วง
แนะประกาศไม่เอารัฐประหาร
สื่อดังของสหรัฐทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ทำให้ชัดเจนว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะโดยกองทัพหรือผู้ประท้วงเป็นสิ่งที่สหรัฐรับไม่ได้ หรือจะนำไปสู่การระงับความช่วยเหลือและความร่วมมือด้านความมั่นคง เมื่อสหรัฐไม่ยอมตรวจสอบความชอบธรรมตามกฎหมายหลังจากกองทัพอียิปต์ก่อรัฐประหารเมื่อเดือนก.ค.ปีก่อน นักสู้ที่ต่อต้านประชาธิปไตยของไทยจึงอาจลำพองใจเชื่อว่าพวกตนก็จะไม่โดนด้วยเช่นกัน และรัฐบาลของนายโอบามาจะรับได้ ซึ่งไม่สมควรจะเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นกับอียิปต์ ชัยชนะของฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยมีแต่นำไปสู่ความรุนแรงและไร้เสถียรภาพยิ่งขึ้น