ธนบัตร หรือ เหรียญ ชำรุด ทำอย่างไร

 

 

 

 

 

                ธนบัตรชำรุด ทำอย่างไร

          สภาพของธนบัตรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น  เปรอะเปื้อน สีซีด เปื่อยขาด มีบางส่วนหลุดหายไป หรือ ถูกสัตว์หรือแมลง กัดแทะ จนเนื้อธนบัตรเสียหายกลายเป็นธนบัตรชำรุดนั้น จะไม่สามารถนำมาใช้งานได้ตามปกติ แต่สามารถแลกเปลี่ยนใบใหม่ได้

ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 18 กำหนดไว้ว่า ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และได้จำแนกลักษณะของธนบัตรชำรุดเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

       1. ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ธนบัตรที่ถูกแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืนเท่านั้น

       2. ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรที่มีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน

       3. ธนบัตรขาดวิ่น คือ ธนบัตรที่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป

       4.ธนบัตรลบเลือน คือ ธนบัตรที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ

       หลักเกณฑ์และวิธีการแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดไว้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดดังนี้

ผู้ใดประสงค์ขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ให้ทำเป็นคำร้องตามแบบ ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเจ้าหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย โดยแนบธนบัตรชำรุดไปพร้อมกับคำร้องด้วย และให้รับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดและหลักเกณฑ์ดังนี้

       1. ธนบัตรครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น
       2. ธนบัตรต่อท่อนผิด ถ้าไม่เกินสองท่อน แต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
       3. ธนบัตรขาดวิ่น ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อเห็นได้ประจักษ์ว่าส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
       4. ธนบัตรลบเลือน ธนบัตรลบเลือนให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อการลบเลือนนั้น ไม่ถึงทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

       เหรียญชำรุด แลกได้ที่ไหน
       เหรียญกษาปณ์นั้นเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับธนบัตร ผลิตโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มิได้ผลิตโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในการผลิตเหรียญกษาปณ์นั้นไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์หนุนหลังในการผลิต เนื่องจากเหรียญกษาปณ์นั้นมีมูลค่าในตัวเองอยู่แล้ว ต่างกับธนบัตรที่ต้องมีเงินหนุนหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันว่าธนบัตรที่ออกใช้นั้นมีมูลค่าตามที่ตราไว้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนรวมกัน ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่าตามหน้าเหรียญประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556)
สำหรับกรณีเหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดนั้นสามารถแลกคืนได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 12 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุด พ.ศ. 2548 โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

       1. หากเหรียญกษาปณ์ชำรุดจากการใช้ สึกกร่อนไปตามธรรมชาติจนน้ำหนักลดลงเกินกว่าสองเท่าครึ่งของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด จะสามารถรับแลกเปลี่ยนได้เต็มตามราคาหน้าเหรียญ

       2. หากเหรียญกษาปณ์ชำรุดจากการถูกกระทำ เช่น เหรียญที่ถูกตัด ถูกตอก หรือถูกกระทำด้วยประการใดๆ ให้บุบสลายหรือชำรุดจนเสียรูป หรือลวดลายลบเลือน หรือทำให้นำหนักลดลงไม่ว่าโดยเหตุใดที่ปรากฏชัดแจ้ง จะรับแลกเปลี่ยนได้ครึ่งราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น โดยเหรียญนั้นต้องสามารถมองเห็นลวดลายด้านหน้าหรือด้านหลังว่าเป็นเหรียญกษาปณ์และสามารถทราบได้ว่าเป็นเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาใด ต้องไม่เจาะรูทะลุทั้ง 2 ด้านเกินกว่า 2 ใน 5 ของขนาดเดิมหรือต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของน้ำหนักเหรียญกษาปณ์ ขอบด้านนอกของเหรียญกษาปณ์ต้องไม่ถูกตัดขาดออกไปเกินกว่า 2 ใน 5 ของขนาดเดิม หรือต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของน้ำหนักเหรียญกษาปณ์ ซึ่งหากเหรียญที่กษาปณ์ชำรุดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่รับแลกเปลี่ยน

       3. หากเหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดเป็นทองคำ เหรียญเงิน หรือเหรียญกษาปณ์ขัดเงา จะไม่รับแลกแลกเปลี่ยน

       4. ส่วนผู้ที่ประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนเหรียญกษาปณ์ชำรุด ให้นำเหรียญกษาปณ์ที่ชำรุดมาแลกเปลี่ยน โดยยื่นคำร้องตามแบบที่กรมธนารักษ์กำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยงานในสังกัดกรมธนารักษ์ ได้ดังนี้

        ส่วนกลาง หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ทั้ง 3 แห่ง ดังนี้
       - สำนักบริหารเงินตรา ถนนจักรพงษ์ บางลำพู โทร. 0-2281-1295
       - กระทรวงการคลัง ซอยอารีสัมพันธ์  ถนนพระราม 6 โทร. 0-2618-6340
       - สำนักกษาปณ์ รังสิต โทร. 0-2516-5036 และ 0-2901-4901   

       ส่วนภูมิภาค
       - ศาลาธนารักษ์ 1  เชียงใหม่
       - ศาลาธนารักษ์ 2  สงขลา
       - ศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น
       - ศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุบลราชธานี


 **หากซ้ำก็ขออภัยด้วยนะค่ะ**

 

 

Credit: http://board.postjung.com/735672.html
13 ม.ค. 57 เวลา 17:53 2,002 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...