คู่กรรม ประวัติศาสตร์กับนิยาย ตอนที่ 3 ชีวิตอังศุมาลินและชาวไทยยุคสงครามโลก

การที่กองทัพญี่ปุ่น เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ทำให้ไทยกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ดังที่ปรากฏในนิยายเรื่อง คู่กรรม และไม่เพียงแต่การโจมตีทางอากาศเท่านั้นที่คนไทยในยุคนั้นต้องเผชิญทว่าการ มาถึงของกองทัพญี่ปุ่นยังกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวไทยอีกหลายประการ

ในนิยายเรื่อง คู่กรรม นางเอกคือ อังศุมาลินและครอบครัวเป็นชาวสวนอยู่แถวคลองบางกอกน้อย ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นเขตชานเมือง โดยตามเนื้อเรื่อง หลังจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทยแล้ว กองทหารญี่ปุ่นก็ได้เข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่งในพระนครเป็นฐานที่มั่น รวมทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ถูกใช้เป็นกองบัญชาการ กับโรงพยาบาลทหาร ทำให้อังศุมาลินซึ่งเป็นนิสิตจุฬาต้องหยุดเรียน จากนั้น สวนของนางเอกก็ถูกน้ำท่วมจนทำให้พืชผลเสียหายแทบทั้งหมด

กองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวตามเหตุการณ์จริงนั้น หลังจากกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาไม่กี่เดือน น้ำเหนือก็ไหลบ่าลงจนเกิดเป็นมหาอุทกภัยใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ไม่เฉพาะแต่เรือกสวนไร่นาเท่านั้นที่ถูกน้ำท่วม แต่ยังรวมถึงเขตย่านการค้าส่วนมากก็จมอยู่ใต้น้ำ การสัญจรที่สามารถทำได้สะดวก มีเพียงทางเรือเท่านั้น ซึ่งหลังจากน้ำลดได้ไม่นาน ฝูงบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรก็เปิดฉากการโจมตีทางอากาศ โดยการโจมตีส่วนใหญ่จะอยู่ทางฝั่งพระนครซึ่งมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่งทำ ให้ชาวพระนครบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ครอบครัวใดที่มีที่พักที่อื่น ก็พากันอพยพออกจากพระนครไปอยู่ตามชานเมืองหรือหัวเมือง ส่วนที่ไม่ได้อพยพไปไหนก็ขุดหลุมหลบภัยเพื่อใช้หลบลูกระเบิด นอกจากนี้ทางการไทยยังได้สร้างหลุมหลบภัยไว้อีกหลายจุดทั่วพระนครรวมทั้งมี คำสั่งให้พรางไฟตอนกลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ตำแหน่งที่จะทิ้งระเบิด

 น้ำท่วมพระนคร

นอกจากการโจมตีทาง อากาศแล้ว สภาวะสงครามยังทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่า เนื่องจากในเวลานั้น ไทยต้องนำเข้าสินค้าที่จำเป็นหลายอย่างจากต่างประเทศเช่น น้ำมัน น้ำตาลทรายขาว เสื้อผ้า กาแฟ สบู่ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย จึงทำให้การนำเข้าสินค้าต้องหยุดชะงัก จนเกิดขาดแคลน อีกทั้งทางกองทัพญี่ปุ่นยังให้รัฐบาลไทยพิมพ์ธนบัตรเป็นจำนวนมากเพื่อให้กอง ทัพญี่ปุ่นใช้จ่ายในประเทศไทย การทะลักเข้ามาของปริมาณเงินในท้องตลาด ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคา สินค้าต่างๆรวมทั้งอาหารถีบตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ยุคนั้น ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศยังมีอยู่มาก พืชผักที่กินได้ รวมทั้งกุ้งหอยปูปลาตามห้วยหนองคลองบึงยังหาได้ทั่วไป (สำหรับกุ้งนี้อยู่ในเมนู กุ้งเผา สะเดาน้ำปลาหวาน อาหารโปรดของอังศุมาลิน) ทำให้เรื่องอาหารการกินยังไม่ขาดแคลนมากนัก ส่วนเรื่องสินค้าอื่นๆที่ขาดแคลนนั้น ก็ได้มีความพยายามหาของมาทดแทน เช่น สบู่ที่เคยนำเข้า ก็เปลี่ยนมาเป็นสบู่ทำเองจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยนำขี้เถ้ามาต้มกับไขมันและ ทิ้งจนเย็น น้ำตาลทรายขาวที่ไม่มี ก็หันมาใช้น้ำตาลไม่ขัดสีหรือน้ำตาลมะพร้าวแทน หรืออย่างกาแฟที่ขาดแคลน หลายร้านก็หันมาใช้เม็ดมะขามคั่วบดชงน้ำร้อนซึ่งแม้จะใช้ไม่ได้เต็มที่แต่ก็ พอชดเชยได้ในระดับหนึ่ง      

สำหรับเสื้อผ้านั้นก็ นำของเก่ามาตัดเย็บใหม่ บางรายที่หาไม่ได้จริง ๆ ก็ใช้กระสอบ หรือผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะเก่า ๆ มาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และย้อมสีใหม่โดยใช้วัสดุธรรมชาติตามแต่จะหาได้  อย่างไรก็ตาม สินค้าบางอย่าง เช่น น้ำมัน ก็หาของทดแทนไม่ได้ ทำให้ ผู้คนต้องหันมาใช้บริการรถรางไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากน้ำมันถูกสงวนไว้เป็นยุทธปัจจัยของกองทัพญี่ปุ่น ส่วนสามล้อถีบซึ่งในเวลานั้นมีอยู่ในพระนครแล้ว กลายเป็นอาชีพที่ทำเงินได้มาก เนื่องจากคนที่ไม่อยากใช้รถรางต้องหันมาใช้บริการสามล้อแทน ทำให้สามล้อถีบจำนวนมากพากันโก่งค่าบริการขึ้นอีกหลายเท่า

ไม่เฉพาะแต่เรื่อง ราคาสินค้าและการโจมตีทางอากาศเท่านั้นที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวไทย ทว่ายังมีการที่กองทัพญี่ปุ่นมักจะเกณฑ์เอาข้าวของต่าง ๆ จากคนไทยด้วย เช่นตามบันทึกของคนไทยในสมัยนั้นที่เล่าว่า ทหารญี่ปุ่นมาเรียกเกณฑ์เอา จักรยานและสัตว์พาหนะรวมทั้งข้าวของอื่น ๆ ไปใช้งานในกองทัพ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ให้กับผู้เป็นเจ้าของ

โปสเตอร์ของรัฐบาลยุคสงครามโลก

นอกจากนี้ ยังมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านไทยกับทหารญี่ปุ่นหลายครั้ง ซึ่งบ้างก็เกิดจากการที่คนไทยบางคนไปขโมยของในกองทัพญี่ปุ่น เหมือนอย่าง ตาผลตาบัวที่ไปขโมยน้ำมันจนถูกลงโทษ โดยเล่ากันมาว่า กองทัพญี่ปุ่นมีวิธีลงโทษสถานเบาสำหรับหัวขโมยเหล่านี้ เช่นหากขโมยน้ำมันก็จะโดนกรอกน้ำมัน หรือ ถ้าขโมยสบู่ก็จะถูกกรอกน้ำสบู่

แต่ถ้าเป็นพวกที่แอบ ปีนขึ้นรถไฟของกองทัพแล้วโยนยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ ลงมาจากรถขณะที่รถวิ่ง จากนั้นค่อยไปเก็บมาทีหลัง แบบที่เรียกกันว่าไทยถีบแล้วนั้น หากทหารญี่ปุ่นเจอก็มักจะยิงทิ้งทันที อย่างไรก็ตาม การกระทบกระทั่งกันระหว่างสองฝ่ายบางครั้งก็มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ดังเช่น เหตุการณ์ที่ราชบุรีซึ่งทหารญี่ปุ่นไปทำร้ายพระ จนชาวบ้านไม่พอใจลุกฮือเข้าปะทะกับทหารญี่ปุ่นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน 

แม้เหตุการณ์ในช่วง เวลานั้นจะค่อนข้างตึงเครียด แต่ก็ยังมี กิจกรรมที่พอจะช่วยชาวไทยให้ผ่อนคลายได้ นั่นคือ การรำโทน หรือที่เราเรียกกันว่า รำวง ซึ่งหากใครอ่านเรื่อง คู่กรรม ก็คงจะจำได้ถึงฉากที่กำนันนุ่มตั้งลานรำโทนที่ท้ายสวนของอังศุมาลิน เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ที่เข้ามาค้นหาพวกต่อต้าน ซึ่งการรำโทนนี้ ถูกจัดเป็นหนึ่งในกิจกรรมรัฐนิยมเช่นเดียวกับการกินก๋วยเตี๋ยว การเลิกกินหมากและการให้ใส่หมวกเวลาออกจากบ้าน (หากดูในละครก็จะเห็นนักแสดงใส่หมวกกันทุกคน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลไทยยุค จอมพล ป. ส่งเสริมให้คนไทยทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยก้าวสู่ความเป็นอารยะ

ส่วนในทางราชการนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้แจ้งกับทางการไทยว่า ภาษาไทยยุ่งยากเกินไปด้วยมีตัวสะกด สระ และพยัญชนะหลากหลาย ใช้งานยาก จึงต้องการให้ทางการไทยใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทนภาษาไทยโดยอ้างว่า ภาษาญี่ปุ่นเข้าใจง่ายกว่า ทว่า จอมพล ป ได้บ่ายเบี่ยงข้อเสนอดังกล่าว โดยอ้างว่า ภาษาไทยนั้นมีสองแบบ คือ ภาษาแบบเป็นทางการ กับภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปใช้กัน ซึ่งภาษาทางการนั้น อาจยุ่งยากสักนิดหนึ่งแต่ภาษาชาวบ้านนั้นใช้ง่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

นายกฯ ญี่ปุ่น ฮิเดกิ โตโจ พบกับ จอมพล ป.

แม้ว่า คนไทยในยุคนั้นจะต้องประสบความยากลำบากหลายอย่างจากการเข้ามาของกองทัพ ญี่ปุ่น ทว่าก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ร่ำรวยขึ้นจากการทำมาค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่น โดยการจัดหาเสบียงอาหารและสินค้าอื่น ๆ ให้กับกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งในนิยายคู่กรรม ก็มีตอนหนึ่ง ที่หมอโยชิมาเสนอให้คุณอร แม่ของอังศุมาลินรับงานจัดหาเสบียง โดยให้ส่งผลไม้ในสวนมาขายให้กองทัพญี่ปุ่น ทว่าอังศุมาลินได้ปฏิเสธไม่รับงานดังกล่าวอย่างเด็ดขาด

นอกจากการจัดหาเสบียง อาหารให้กองทัพแล้ว ยังมีคนอีกพวกหนึ่งที่ทำการค้ากับญี่ปุ่นโดยนำสินค้าบางอย่างที่เป็นของ เหลือใช้หรือเสื่อมสภาพจากกองทัพญี่ปุ่นมาขายต่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีในช่วงสงครามจนทำให้หลายคนมีฐานะกลายเป็น เศรษฐีหลังสงครามสงบแล้ว

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...