ตำนานเงินหินแห่งหมู่เกาะแย็พ

ทราบหรือไหมว่า เงินสกุลไหนแข็ง ที่สุดในโลก? บางท่านอาจจะบอกว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ บางท่านอาจจะ บอกว่าเงินเยนของญี่ปุ่น และบางท่าน อาจจะบอกว่า เงินปอนด์ของอังกฤษ ยังไงๆ ก็ไม่ใช่

เงินแข็งที่สุดในโลกก็ต้องนี่เลย เงินหินของชาวเผ่าแย็พ ชาวพื้นเมือง บนเกาะแห่งหนึ่งใน ไมโครนีเซีย กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เงินของพวกเขาทำจากหินปูนแท้ๆ นอกจากจะแข็งที่สุดในโลกแล้ว ยังใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เพราะเงินหินบางอันมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 10 ฟุต และหนักถึง 8 ตันโน่นแน่ะ


เกาะแย็พ (YAP) เกาะแห่งเงินหินนี้ เป็นหมู่เกาะเล็กๆ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ๆ 4 เกาะ แต่รวมแล้วก็เล็กจนปรากฏ เป็นเพียงจุดทศนิยมจุดเดียว บนแผนที่กลางพื้นนํ้าอันกว้างใหญ่ ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อยู่ห่างไปสุดหล้าฟ้าเขียวทาง ตะวันตกเฉียงเหนือ และเกาะนิวกินีอยู่ลิบๆ ทางทิศใต้หมู่เกาะที่อยู่ใกล้ ที่สุดคือหมู่เกาะปาลาอู (PALAU) ซึ่งที่ว่าใกล้นี้คือห่างมาทางตะวันตก 300 ไมล์ หมู่เกาะปาลาอู เพื่อนบ้าน 300 ไมล์ นี้มีความสำคัญต่อ ชาวแย็พมาก

เพราะที่นี่มี เกาะหินปูนน้อยใหญ่ รายเรียงกระจัดกระจาย ไปในท้องทะเลเป็น ระยะทางถึง 18 ไมล์ ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกรวมๆ กันว่า เกาะหิน (ROCK ISLANDS) บนเกาะหิน ที่มีแต่โขดหินปะการัง และถํ้าหินนี้แหละค่ะ เป็นแหล่งที่มาของเงินหิน ชาวแย็พจะพายเรือมา 300 ไมล์ เพื่อสกัดตัดแต่งหินปูนในถํ้าที่นี่ ทำเป็นแผ่นกลมๆ ใหญ่ๆ มีรูตรงกลาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ฟุต หนาประมาณ 1.5 ฟุต จากนั้นก็ช่วยกัน กลิ้งช่วยกัน แบกออกจากถํ้าไปตามทาง อันขรุขระคดเคี้ยวของเกาะ เอามาบรรทุกลงเรือพายกลับบ้านอีก 300 ไมล์


เฮ้อ! อะไรจะลำบากลำบนขนาดน้าน!

ตำนานชาวแย็พบอกว่า เมื่อ 500-600 ปีที่แล้ว อะนากุมัง (ANAGUMUNG) ได้นำเรือออกทะเลพร้อมบริวาร เรือของเขาถูก สายนํ้า พัดมายังหมู่เกาะปาลาอู พบหินปูนในถํ้า เหล่านี้โดยบังเอิญ และเห็นว่า มันแปลกตา สวยงามดี ไม่เหมือนหินที่เขาเคยเห็นมาก่อน เขาจึงให้บริวารสกัดหินออกเป็นรูปปลา เรียกว่า ราอิ (RAI - ราอิยังเป็นคำพ้องเสียงกับ คำที่หมายถึงปลาวาฬด้วย) แล้วนำกลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมา หินปูนราอิก็เป็นที่ต้องการ ของชาวแย็พ มันมีค่ามีราคาขึ้นจนสามารถ ใช้เป็นเงินตราได้


ต่อมาชาวแย็พพบว่าหิน ที่สกัดเป็นรูปปลานั้น มันช่างเกะกะเก้งก้างเหลือกำลัง จะแบกจะขนก็ไม่สะดวก จึงเปลี่ยนมาทำ เป็นรูปพระจันทร์เต็มดวง และเจาะรูตรงกลาง เพื่อให้สอดคานหามได้ หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละแห่ง ก็พยายามแข่งขันกันที่จะมีราอิที่ใหญ่กว่า สวยงามกว่า และแพงกว่าไว้ในครอบครอง เงินหินจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ และฝีมือสกัดหินก็เรียบร้อยขึ้นด้วย



ในสมัยแรกๆ เครื่องมือที่ชาวแย็พ ใช้สกัดและ ตกแต่งหินก็คือ เครื่องมือแบบดั้งเดิม ที่ทำจากหินและเปลือกหอย เท่านั้น แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เครื่องมือพื้นๆ แค่นั้นจะสกัดหิน ออกมาได้อันเบ้อเริ่ม เท่านั้นยังไม่จบ ชาวแย็พยังต้องกรุยทางจากถํ้าหิน มาตามลาดเขาสูงชันที่ ขรุขระแหลมคมไปด้วยหินปะการัง ลงสู่ชายหาดเบื้องล่าง

จากนั้นจึงเอาเงินหินราอิลง บรรทุกบนเรือที่ก็เป็นเพียงเรือแคนู ลำไม่ใหญ่โตอะไร ขามาตอนเรือยังว่างๆ นั้น เรือของชาวแย็พจะบรรทุกลูกเรือได้ 6-8 คน แต่ขากลับเมื่อต้องขนเงินหินราอิไปด้วย ลูกเรือก็ต้อง ลดลงเหลือเพียง 2-3 คนเท่านั้น หลังจากใช้เรือขนเงินหินมาราวๆ 100 ปี ชาวแย็พก็ เริ่มฉลาดขึ้น รู้จักต่อแพขึ้นบรรทุก


การจะได้ราอิสักอันสองอัน นั้นไม่ใช่ง่ายๆ นอกจากจะต้องใช้ ฝีมือและความอดทนใน การตอกหิน ใช้กำลังคนที่อาจจะเป็นร้อย เคลื่อนย้าย หินลงมาสู่เรือหรือแพ ก็ยังต้องเสี่ยงอันตรายในท้องทะเลอีก เป็นแรมเดือน กว่าจะถึงบ้าน ต้องผจญทั้งแรงลม แรงนํ้า และแรงคลื่นที่ผันผวนปรวนแปร ชาวแย็พจึงเอาชีวิต ไปทิ้งเสียมากมาย ในการเดินทางไป “ทำเงิน” นี้


กับชาวปาลาอูเจ้าของพื้นที่ ชาวแย็พก็ต้องจ่ายค่า สัมปทานการสกัดหินด้วยเหมือนกัน โดยจ่ายเป็นเนื้อมะพร้าวแห้งกับลูกปัด ส่วนอาหารการกินระหว่างอยู่ที่ปาลาอู ชาวแย็พก็เอาแรงกายเข้าแลก ด้วยการทำงานให้ชาวปาลาอู ทั้งตัดฟืน ตักนํ้า ทำเขื่อนดักปลา กระทั่งเป็นหมอผี หมอกลางบ้าน หรือแม้แต่นักแสดงกล


ค่าของราอิแต่ละอันนั้น มิได้กำหนดไว้ตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับความหายาก ความเรียบร้อย สวยงามของหิน ฝีมือการสกัดตัดแต่ง กับรูปร่างและขนาด นอกจากนั้นค่าของราอิ ก็ยังขึ้นอยู่กับประวัติ ความเป็นมาของมันด้วย อย่างเช่น ถ้าราอินั้นถูกนำมาโดยนักเดินเรือที่มีชื่อเสียง หรือถ้าระหว่างทางที่นำราอิกลับมานั้น มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากมาย ราอินั้นก็จะมี ราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

แต่มีราอิอันหนึ่งมีชื่อว่า หินที่ปราศจากนํ้าตา (THE STONE WITHOUT TEARS) ก็เป็นราอิที่มีราคาสูงด้วยเช่นกันเพราะไม่มีการ ตายเกิดขึ้นเลย ในระหว่างการเดินทางไปกลับ เพื่อนำหินนี้มา ซึ่งเป็น เหตุการณ์ที่หายากมากๆ


เล่ามาตั้งนานยังไม่ได้บอกเลยว่า เขาใช้ เงินหินราอิกันอย่างไร จะพกพาติดตัวกัน ไปได้อย่างไร จะซื้ออะไรทีมิต้องแบก ต้องหามกันแย่รึ

เปล่าเลย ชาวแย็พมิได้พกพาติดตัว แต่เขาจะฝากวางเรียงรายไว้ที่ “ธนาคาร” ซึ่งก็คือทางเดินแห่งหนึ่งในดงมะพร้าวบนเกาะ โดยแทบจะไม่มีการเคลื่อนย้ายราอิเลย และก็ไม่มีดอกเบี้ย หรือกดเอทีเอ็มก็ไม่ได้ ราอิสามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยน ได้เหมือนเงินทั่วไป จะขายแลกเปลี่ยนกับอาหาร จะให้เป็นค่าสินสอดทองหมั้น หรือรับขวัญหลานที่เกิดใหม่ ชดใช้หนี้สิน เป็นค่าจ้างคนต่างถิ่นมาช่วยรบ ยามเกิดศึกระหว่างหมู่บ้าน

หรืออาจเป็นค่าไถ่ศพญาติพี่น้องซึ่งตายในสนามรบกลับคืนมา รวมทั้งจ่ายซื้อเสียงสนับสนุนในการเลือกหัวหน้าหมู่บ้าน ราอิส่วนใหญ่จะมี “เพดดีกรี” หรือพงศาวดารแจกแจงชื่อเจ้าของที่รับสืบทอดต่อๆกันมา ในการใช้จ่ายจะไม่มีการโยกย้ายเงินหินนั้น เพียงแต่เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ เปลี่ยนเจ้าของเท่านั้น ราอิจะยังคงวางนิ่งๆอยู่ที่เดิม เจ้าของเดิมคงจะพาผู้รับสืบทอดไป “ธนาคาร” แล้วชี้ให้ดูว่าเงินราอิอันนี้ ตูจ่ายให้สูแล้วนะ


เอ! แต่จะมีการขี้โกงอ้างสิทธิ์ซ้อนทับกันไหม ก็ไม่รู้สินะ

ประมาณศตวรรษที่ 16 เริ่มมีชาวยุโรปเดินทางเข้ามาถึงหมู่เกาะไมโครนีเซีย และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่แก่วิถีชีวิตของชาวเกาะ ที่สำคัญก็คือการนำเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กมาให้เป็นที่รู้จักกัน ช่างหินชาวแย็พจึงเปลี่ยนมาใช้ เครื่องมือเหล็กก็คราวนี้เอง การสำรวจถํ้าที่ปาลาอูเมื่อ ไม่นานมานี้นอกจากจะพบเศษซากอาหาร เช่น เปลือกหอยจำนวนมากแล้ว ก็ยังพบใบมีดและพลั่วด้วย


ชาวฝรั่งคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญ เป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ของชาวแย็พก็คือกัปตัน เดวิด โอคีฟ (DAVID DEAN OKEEFE) นักเดินเรือและพ่อค้าชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช เขามาถึงเกาะแย็พเหมือนสวรรค์บันดาล เมื่อค.ศ.1871 เรือหาหอยมุกเบลวิเดียร์ของ เขาประสบอุบัติเหตุอับปางลง กัปตันโอคีฟเป็นคนเดียวที่รอดตาย และได้ลอยมาติดเกาะแย็พ ชาวแย็พช่วยรักษาพยาบาล เขาจนหายจากอาการบาดเจ็บ

พอเริ่มคุ้นเคยจนรู้จักวิถีชีวิตของชาวแย็พ เขาก็ได้ไอเดียที่จะเมกมันนี่บ้าง เขา “โบก” เรือเยอรมัน ที่ผ่านมากลับฮ่องกง หาเรือลำใหม่แล้วกลับมายังเกาะแย็พ เพื่อทำตามไอเดียอันบรรเจิด ของเขาทันที


โอคีฟรู้ว่าชาวแย็พมีความ ต้องการเงินราอิ และต้องเดินทางไปไกลถึงเกาะปาลาอู เพื่อสกัดเงินหินนั้น เขาจึงเริ่มบริการขนส่งช่างหินชาวแย็พไปยังปาลาอูด้วยเรือของเขา ให้ช่างสกัดหินด้วยเครื่องมือที่เขาจัดหามาให้ แล้วขนราอิกลับด้วยเรือของเขาอีกเช่นกัน นับเป็นบริการที่ครบวงจรดีแท้ ทำให้การเดินทางของชาวแย็พง่าย รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้นเป็นอันมาก และยังทั้งสกัดทั้งนำราอิมาได้คราวละมากๆ อีกด้วย

ค่าบริการงานนี้โอคีฟคิดเป็นเนื้อมะพร้าวแห้งกับปลิงทะเล อันเป็นสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชาวเกาะ ซึ่งเขาก็นำสินค้าทั้งสองชนิดนี้ไปขาย แถวๆจีนและญี่ปุ่น เนื้อมะพร้าวแห้งนั้นใช้สกัดนํ้ามัน ทำเนยและสบู่ ส่วนปลิงทะเลใช้เป็นยาโป๊และเชื่อว่ามีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดข้อด้วย


โอคีฟทำธุรกิจและอยู่อาศัยที่เกาะแย็พ อย่างสุขสบายเป็นเวลาถึง 30 ปี จนสิ้นชีวิตลงเมื่อปี 1901 ชาวเกาะเองก็พอใจที่จะติดต่อ ค้าขายใช้บริการของเขา เพราะเขาค้าขายแลกเปลี่ยนอย่างยุติธรรม ไม่ขี้โกงหรือเอาเปรียบอย่างชาวยุโรปอีกหลายคน โอคีฟ ได้สมญาจากชาวเกาะว่า “ใต้เท้าโอคีฟ” (HIS MAJESTY OKEEFE) เขามีภรรยาชาวแย็พ 2 คน มีลูกหลานอีกหลายคน คาดว่าตลอด 30 ปี ที่เขาทำ ธุรกิจกับชาวแย็พ เขาทำกำไรได้ถึง 5 แสนดอลลาร์ สหรัฐฯ ซึ่งเขาก็ได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งไป ให้ภรรยาเดิมกับบุตรสาวที่อเมริกา เป็นประจำตลอดด้วย

ก็ยังดีนะ ยังไม่ลืมว่าทิ้งลูกทิ้งเมียไว้ทางโน้นอีก 2 คน

อย่างไรก็ตาม บริการของโอคีฟทำให้ชาวแย็พมีเงินราอิเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะ “เงินเฟ้อ” ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 สถานการณ์ครั้งนั้นเรียกกันว่า “เงินของไอคีฟ” (O'KEEFE'S MONEY) ราอิที่สกัดและขนส่งมา ด้วยบริการของโอคีฟ มีค่าลดตํ่าลง จากราอิรุ่นก่อนหน้าที่ได้มาด้วยวิธีดั้งเดิม แม้ว่าราอิรุ่นเก่าจะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม

ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความขัดแย้งระหว่างสเปนกับเยอรมัน ที่มีผลประโยชน์ทางการค้าในไมโครนีเซียทั้งคู่ กระทั่งในที่สุด เยอรมันออกประกาศห้ามการเดินทางระหว่าง หมู่เกาะ ข้อห้ามนี้ทำให้ระบบเงินราอิของแย็พล่มสลาย กลายเป็นตำนานถํ้าหินที่ปาลาอูถูกทิ้งร้าง ไม่มีการสกัดหินอีกต่อไป


เมื่อปี 1930 ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า บนเกาะแย็พมีเงินราอิอยู่มากกว่า 13,000 อัน ราอิเหล่านี้เมื่อหมดค่า ก็ถูกนำมาใช้เป็นสมอเรือบ้าง ใช้ถมดินสร้างทางวิ่งของเครื่องบินในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ 2 บ้าง และถูกกลบฝังไว้ใต้พื้นดินและท้องนํ้าด้วยพายุไต้ฝุ่นบ้าง หรือบ้างก็ถูกละเลยหลงลืมไปเฉยๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเงินหินราอิก็ยังเป็นที่นับถือของชาวแย็พ ในฐานะสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรม และยังใช้เป็นของขวัญ กับใช้ในพิธีกรรมดั้งเดิมอยู่

Credit: นสพ.ไทยรัฐ และhttp://www.artsmen.net
6 เม.ย. 53 เวลา 00:37 2,881 11 1,058
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...