สัตว์น้ำเศรษฐกิจเลือดสีฟ้าใสวงศ์เดียวกัน คล้ายคลึงกันจนแยกแยะแทบไม่ออก ปูม้ากระดองสีเขียวถึงน้ำเงินจุดขาวประทั่วไปอาศัยอยู่ในทะเล ปูทะเลกระดองสีเขียวเข้มถึงน้ำตาลเกือบดำเรียบเป็นมันนูนเล็กน้อยอาศัยตามหาดโคลนที่เป็นป่าชายเลน ปูม้าพบทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ในระดับน้ำลึกไม่เกิน 40 เมตร พบมากบรอเวณที่ลึก 7-30 เมตรบริเวณพื้นท้องทะเล ว่ายน้ำเร็วออกหากินกลางคืน กินพืชและสัตว์ทะเลเป็นอาหาร กลางวันฝังตัวตามพื้นทราย โผล่ตาและหนวดไว้จับเหยื่อและหลบหลีกศัตรู
ปูม้ามีลักษณะกายภาพแบ่งเป็นสามส่วนคือ หัว อก และท้อง หัวและอกจะอยู่ติดกัน มีกระดองหุ้มตอนบน กระดองกว้าง ขอบหน้าระหว่างนัยน์ตาสองข้างมีหนวดสองคู่ ระหว่างขอบตามีสี่หยัก ข้างกระดองเป็นรอยหยักคล้ายฟันเลื่อยมีหนามแหลมข้างละเก้าอัน ขา 5 คู่ คู่แรกเป็นก้ามขนาดใหญ่ใช้ป้องกันตัวและจับอาหาร ขาคู่ที่ 2, 3, 4 มีขนาดเล็กปลายแหลมใช้เดิน ขาคู่สุดท้ายตอนปลายคล้ายใบพายใช้ว่ายน้ำ ปูม้าตัวผู้จับปิ้งสามเหลี่ยมหกปล้อง ลำตัวสีฟ้าอ่อนจุดขาวที่กระดอง พื้นท้องสีขาว ก้ามและขาสีฟ้า ก้ามยาวกว่าตัวเมีย ตัวเมียจับปิ้งแผ่กว้าง ช่องแรกเรียวแคบเล็ก ปล้องสองสามมีสันคมพาด ปล้องสาม สี่ และห้าเชื่อมติดกัน ปล้องหกยาวกว่ากว้าง ขอบข้างขนละเอียด ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน กระดองสีน้ำตาลอ่อนมีตุ่มขรุขระ ไม่มีจุดขาว ปลายขาสีม่วงแดง
ปูม้าเริ่มผสมพันธุ์อายุประมาณ 3 เดือน ตัวผู้จะลอกคราบก่อน 7-10 วัน กระดองสมบูรณ์เต็มที่จะหาปูตัวเมียโตเต็มวัยเกาะหลังด้วยขาเดินคู่ที่สองถึงสี่ พยุงไว้ 3-4 วันจนตัวเมียลอกคราบ ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อของตัวเมีย 3-4 เดือนรอเวลาผสมกับไข่ การผสมพันธุ์ใช้เวลา 12-15 ชั่วโมง หลังผสมพันธุ์ตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียอีก 1-2 วัน จนตัวเมียกระดองแข็ง 20-30 วันไข่จะเลื่อนมาจามท่อนำไข่ เพื่อผสมกับน้ำเชื้อแล้วไปเก็บไว้ที่หน้าท้อง ไข่ผสมแล้วจะโตจนล้นจับปิ้ง เปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นเหลืองเข้ม น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลเข้มตามลำดับ 10-15 วันไข่แก่เต็มที่มองเห็นลูกตาดำเป็นจุด ฟักเป็นตัว 1-2 วัน ปูม้าวางไข่ตลอดปี ปูตัวหนึ่งมีไข่ 120,000-2,300,000 ฟอง
ปัจจุบันปูม้าลดลงจำนวนมากขณะที่มาตรการควบคุมปริมาณมีน้อย จำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างธนาคารปูม้า โดยชาวประมงบ้านในไร่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จะฝากปูม้าไข่ในกระชังสี่เหลี่ยมบริเวณป่าชายเลนริมทะเล น้ำสะอาดไหลเวียน แม่ปูม้าจะวางไข่ตามธรรมชาติ วางไข่หมดแล้วจึงจะจำหน่าย รายได้ฝากเข้าธนาคารปูต่อไป ปัจจุบันมีชาวประมงร่วมโครงการหลายสิบราย