เปิดโผรถเมล์ห่วยสุดแห่งปี 2556 สาย 8 ยังครองแชมป์

 

 

 

เปิดโผรถเมล์ห่วยสุดแห่งปี 2556 สาย 8 ยังครองแชมป์

 

 

คมนาคมเปิดโผรถเมล์สายห่วยประจำปี 2556 รถเมล์สาย 8 - รถแอร์ ปอ. 29 - มินิบัสสาย 1 ครองแชมป์ยอดแย่ ด้าน รมช.คมนาคม เล็งจัดเรทติ้งรถเมล์-ส่งพนักงานอบรมการบริการ

            เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยสถิติร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถเมล์ ขสมก. และรถร่วมเอกชน ในปีงบประมาณ 56 (วันที่ 1 ตุลาคม 2555-30 กันยายน 2556) ผ่านสายด่วน 1384 มีสถิติร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 3,863 ครั้ง โดยลดลง 747 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มี 4,610 ครั้ง แบ่งเป็นการร้องเรียนปัญหารถเมล์ ขสมก. 1,098 ครั้ง และรถร่วมเอกชน 2,765 ครั้ง

            นอกจากนี้ ยังมีการจัดอันดับสถิติสายรถเมล์ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาสูงสุดด้วย โดยสายรถเอกชนร่วมบริการ ประเภทรถธรรมดา ที่ได้รับการร้องเรียนสูงสุด มีดังนี้
 

             1. สาย 8 สะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ โดยติด 1 ใน 3 ที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากสุดถึง 11 เดือน และยังติดอันดับหนึ่งมากถึง 10 เดือน เฉลี่ยปัญหาร้องเรียนเดือนละ 20 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสายรถเมล์ในตำนาน ที่ถูกผู้โดยสารร้องเรียนบ่อยสุดในรอบหลายปี และปี 56 ที่ผ่านมายังได้เป็นข่าวใหญ่เกิดปัญหาทะเลาะกับผู้โดยสาร จนกระทรวงคมนาคมต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ให้ติดหมายเลขรถชัดเจน และจัดทำกล่องให้ผู้โดยสารหย่อนตั๋วแสดงความคิดเห็น
             2. สาย 56 กรุงธนฯ-บางลำพู
             3. สาย 44 แฮปปี้แลนด์-ท่าเตียน
             4. สาย 113 มีนบุรี-หัวลำโพง
             5. สาย 57 บางขุนนนท์-สายใต้ใหม่


รถร่วมฯ ประเภทรถปรับอากาศที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากสุด มีดังนี้
 


             1. ปอ.29 ม.ธ.ศูนย์รังสิต-หัวลำโพง ติด 1 ใน 3 ถูกร้องเรียนมากที่สุด 11 เดือนติดต่อกัน และติดอันดับ 1 ถึง 7 เดือน
             2. ปอ.44 แฮปปี้แลนด์-ท่าเตียน ติดอันดับสูงสุดถึง 7 เดือน
             3. ปอ.504 รังสิต-สะพานกรุงเทพ ติดอันสูงสุด 6 เดือน
             4. ปอ.7 พระราม 2-หัวลำโพง
             5. ปอ.68 สมุทรสาคร-บางลำภู


รถเมล์มินิบัสที่ถูกร้องเรียนมากสุด มีดังนี้
 

             1. สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน ติด 1 ใน 3 สูงสุดถึง 11 เดือน และในจำนวนนี้ติดยอดสูงสุดถึง 6 เดือน
             2. สาย 71 ติดอันดับสูงสุดถึง 9 เดือน
             3. สาย 12 ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด ติดอันดับสูงสุด 8 เดือน
             4. สาย 203 อู่ท่าอิฐ-สนามหลวง
             5. สาย 40 ขนส่งเอกมัย-สายใต้ใหม่


รถเมล์และรถปรับอากาศของ ขสมก. ที่ถูกร้องเรียนมากสุดในรอบ 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2556) มีดังนี้

             1. สาย 84 อ้อมใหญ่-วงเวียนใหญ่ ติดใน 1 ใน 3 เรื่องร้องเรียนมากสุดถึง 7 เดือน และติดอันดับ 1 ถึง 4 เดือน
             2. สาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
             3. สาย 60 สวนสยาม-ปากคลองตลาด
             4. สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด
             5. สาย 95 อู่บางเขน-ม.รามคำแหง


ปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามาก ในส่วนของพนักงานขับรถ ได้แก่

             1. ขับรถช่องขวาไม่หยุดรับ-ส่ง
             2. ขับเร็วปาดซ้ายแซงขวา เบรกแรง
             3. ขับประมาทหวาดเสียว
             4. ขับรถขวางจราจร
             5. ปิดประตูหนีบผู้โดยสาร
             6. สูบบุหรี่ขณะขับรถ และแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

ปัญหาของพนักงานเก็บค่าโดยสาร ได้แก่

             1. แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร
             2. เก็บค่าโดยสารเกินราคา
             3. ฉีกตั๋วไม่ตามอัตราที่กำหนด
             4. ไม่สนใจเก็บค่าโดยสาร ไม่ทอนเงิน
             5. ไล่ผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมาย

            ทางด้าน พลเอกพฤณท์ สุวรรณทัต รักษาการ รมช.คมนาคม กล่าวว่า สถิติร้องเรียนปัญหาบริการของรถเมล์ที่เข้ามามากนั้น ทำให้กระทรวงฯ มีนโยบายให้ ขสมก. เข้าไปปรับปรุงบริการเพิ่มเติมอีกในปี 2557 โดยจะขยายโครงการจัดเรตติ้งรถเมล์เพิ่มจาก 33 สาย ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น เพื่อเปิดให้ผู้โดยสารนำตั๋วหยอดว่าบริการดี ปานกลาง หรือต้องปรับปรุง หากปรับปรุงเยอะก็จะมีการเรียกอบรม ตักเตือน แต่หากผิดซ้ำซาก ก็ต้องลงโทษยึดใบอนุญาตได้

            นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับกองทัพบก ส่งพนักงานขับรถและพนักงานเก็บสตางค์ของ ขสมก. 620 คน ไปฝึกอบรมโดยทหารในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อฝึกอบรมให้รู้จักการให้บริการให้ดีทั้งการขับรถ เก็บสตางค์ ตลอดจนมีจิตสำนึกการให้บริการประชาชน โดยจะมีการส่งไปเป็นรุ่นละ 100 คน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น

            ทั้งนี้ สาเหตุที่ปี 2556 มีการร้องเรียนลดลง ส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงคมนาคม โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการ รมว.คมนาคม ได้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลบริการของรถเมล์เพิ่ม โดยมีการเปิดเฟซบุ๊กให้ประชาชนโหวตปัญหารถเมล์ มีมาตรการจัดเรตติ้งรถเมล์ โดยติดตั้งกล่องให้ผู้โดยสารให้คะแนนเพื่อวัดประสิทธิภาพของรถเมล์แต่ละครั้ง อีกทั้งประชาชนยังมีช่องทางร้องเรียนปัญหาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเฟซบุ๊ก หรือการถ่ายภาพ อัดคลิปวิดีโอ นำไปเผยแพร่โซเชียลมีเดียในเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ยูทูบ

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดย คุณ LAKORNHD Thaitv (Official) สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
Credit: https://www.facebook.com/nzclub
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...