หากไม่ได้เรียนแพทย์ คงจะไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ หรือสัมผัส "อาจารย์ใหญ่"
แต่ตอนนี้ไม่ว่าใครก็ตาม อายุเท่าไหร่ เพศไหน กำลังศึกษาด้านอะไร เรียนจบสาขาใด ก็สามารถศึกษาเรียนรู้ ร่างที่ไร้ลมหายใจ แต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ของพวกท่านเหล่านี้ได้แล้ว...
ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปไม่ใช่น้อยหลังเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำหรับ "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลก และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จุดเริ่มต้น "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" ในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นจากการสนับสนุนของของคุณคัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของ ศ.คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้บริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 131 ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มายังคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" จัดแสดงการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้พลาสติกเหลวเข้ามาแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อ ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และคงสภาพอยู่ได้นาน ภายใต้เทคนิคที่เรียกว่า Plastinated human bodies ที่เริ่มจากการนำร่างกายที่เสียชีวิตในทันทีไปแช่น้ำยาฟอร์มาลีน ทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด ก็มีการนำร่างที่เสียชีวิตไปแช่น้ำยา Acetonebath ซึ่งเป็นน้ำยาที่ดูดเอาน้ำต่างๆในร่างกายออกจนหมด จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแช่ลงในพลาสติกเหลว เพื่อคงสภาพร่างกายไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย
ภายในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง จำนวน 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน จำนวน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ จำนวน 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ จำนวน 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย จำนวน 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด จำนวน 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ จำนวน 7 ชุด
อ.ทญ.ดร.พิไลพร วิวัฒน์บุตรสิริ กรรมการพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ เผยขณะพาเข้าเยี่ยมชมว่า การได้ร่วมศึกษาอาจารย์ใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะทำให้ทุกคนเห็นถึงความสัมพันธ์ของอวัยวะต่างๆชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนิสิต-นักศึกษาแพทย์ที่จากเดิมศึกษาอาจารย์ใหญ่ (ไดเส็ก) เพียงแค่ร่างกายที่นอนราบไปกับเตียง แต่ในพิพิธภัณฑ์นี้ ร่างกายไร้ลมหายใจที่นำมาจัดแสดง มีการจำแนกชิ้นส่วนอวัยวะ กล้ามเนื้อต่างๆออกมาอย่างเห็นได้ชัด ในลักษณะ 3 มิติ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจระบบการทำงานต่างๆ ในอีกแง่ สำหรับคนทั่วไป นอกจากจะได้รับความรู้ระบบการทำงานต่างๆแล้วเมื่อเข้าชมแล้ว หลายคนก็บอกว่า ทำให้รู้สึกปลงว่าชีวิตคนเราก็มีเท่านี้ เมื่อได้เห็นการลอกชิ้นส่วนเนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะรู้ว่า กลไกลในร่างกายนั้นทำงานอย่างไร นับเป็นประโยชน์มากๆ ที่จะทำให้ทราบททันที เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ว่าสาเหตุที่แท้จริงต่างๆ เป็นเพราะความผิดปกติจากอวัยวะใด
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" ได้ที่ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์ เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ และศุกร์ ระหว่างเวลา 12.30 -18.30 น. โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรีถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-8635
แต่หากใครเข้าเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" และอยากจะกดชัตเตอร์บันทึกภาพต่างๆ ทางคณะทันตแพทย์ฯ เขาขอสงวนสิทธิในการบันทึกภาพทุกชนิด เพื่อเป็นการเคารพและให้เกียรติอาจารย์ใหญ่ทุกท่านที่จัดแสดงภายในนี้
ถ้าอย่างนั้น ดูภาพจากมติชนออนไลน์ ไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน