เสือคูการ์ พยัคฆ์รัตติกาล

 

 

 

เสือคูการ์  พยัคฆ์รัตติกาล

 

 

ภาพ : พยัคฆ์รัตติกาล 
ภาพโดย : เมอร์เรย์ ซัวเรซ 
คำบรรยายภาพ : แม่เสือคูการ์กับลูกที่โตเกือบเต็มที่แล้วสองตัวเดินข้ามทุ่งเลี้ยงสัตว์ใกล้เมืองแคลิสเปลล์ รัฐมอนแทนา ตามปกติแล้วเสือคูการ์วัยเยาว์จะออกหากินเองเมื่ออายุได้หนึ่งถึงสองปี การตระเวนหาอาณาเขตที่ไม่มีเสืออายุมากกว่าครอบครองอยู่ก่อนแล้ว นำพวกมันบางส่วนไปสู่ถิ่นอาศัยของมนุษย์และความเดือดร้อน

 

ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์ 
คำบรรยายภาพ : กล้องที่ซ่อนไว้บันทึกภาพ “ดารา” รักสันโดษที่สุดในฮอลลีวู้ด มันคือเสือคูการ์เพศผู้ซึ่งถูกพบครั้งแรกที่สวนสาธารณะกริฟฟิทในนครลอสแอนเจลิสเมื่อเกือบสองปีก่อน ปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุทำให้ติดตามความเคลื่อนไหวของมันได้

 

 

ภาพโดย : ดรูว์ รัช 
คำบรรยายภาพ : เสือคูการ์เพศเมียซึ่งกำลังตะกุยเข้าไปในกองหิมะเพื่อกินซากเอลก์ ทำให้กล้องที่ซ่อนไว้ลั่นชัตเตอร์

 

 

ภาพโดย : ดรูว์ รัช 
คำบรรยายภาพ : เนื่องจากพื้นผิวหิมะเย็นจัดจนแข็ง มันจึงเจาะได้เพียงช่องเล็กๆ เพื่อให้เข้าถึงเนื้อกวาง

 

 

ภาพโดย : ดรูว์ รัช 
คำบรรยายภาพ : เสือคูการ์เพศเมียที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า เอฟ57 กำลังถอนขนเอลก์หนุ่มเพื่อเตรียมเป็นอาหารมื้อเย็น เสือคูการ์คือยอดนักล่าและการอยู่รอดของพวกมันก็ไม่แน่นอน นักวิจัยใช้เวลาหลายปีในการติดตาม เอฟ 57 มันให้กำเนิดลูกเสือคูการ์ 3 ตัว แต่ไม่มีตัวใดสามารถอยู่รอดจนโตเต็มวัย หลังจากนั้นชีวิตของมันก็ต้องจบลงจากกระสุนปืนของพราน

 

 

ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์ 
คำบรรยายภาพ : เสือคูการ์ตัวนี้ถูกเจ้าของบ้านคนหนึ่งยิงตาย จากนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าของเซาท์ดาโคตาได้ยึดซากของมันไว้เพื่อตอบสนองข้อร้องเรียนว่า เสือทำให้เอลก์และกวางชนิดอื่นลดจำนวนลง ปีนี้รัฐเซาท์ดาโคตาจึงอนุญาตให้พรานล่าเสือคูการ์ได้มากถึง 100 ตัวจากประชากรที่คาดว่ามีอยู่ราว 300 ตัว

 

 

ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์ 
คำบรรยายภาพ : ผู้เชี่ยวชาญคิดว่าเสือคูการ์แทบไม่ข้องแวะซึ่งกันและกัน แต่เสือเพศเมียชื่อ เอฟ51 ที่อาศัยอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีทอน กลับเดินทางและหากินกับเสือเพศเมียอีกตัวในช่วงฤดูใบไม้ผลิฤดูหนึ่ง ในที่สุดเสือเพศเมียตัวนั้นก็รับอุปการะลูกตัวหนึ่งของเอฟ 51

 

 

ภาพโดย : เคนตัน โรว์ 
คำบรรยายภาพ : ปกติแล้วเสือคูการ์มีนิสัยขี้อายมากกว่าดุร้าย แต่เมื่อมนุษย์กับสุนัขเข้าใกล้เสือเพศเมียและลูกน้อยในมอนแทนาครอบครัวนี้ เสียงเห่าหอนของสุนัขสร้างความเดือดดาลแก่แม่เสือ จนมันตัดสินใจย้ายครอบครัวหนีในเวลาต่อมา

 

 

ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์ 
คำบรรยายภาพ : ลูกเสืออายุสี่เดือนที่นั่งอยู่บนอาหารมื้อเย็นตัวนี้รอดชีวิตจากการถูกหมาป่าโจมตีมาได้ แต่หมาป่าก็ฆ่าพี่น้องร่วมครอกของมันไปสองตัว นักวิจัยจากโครงการทีทอนคูการ์จึงตั้งชื่อเล่นให้มันว่า เจ้าลักกี้ หรือโชคดี

 

 

 

ภาพโดย : สตีฟ วินเทอร์ 
คำบรรยายภาพ : แสงแฟลชจากกล้องที่ซ่อนไว้เบนความสนใจของเสือคูการ์ในรัฐไวโอมิงตัวนี้ไปจากเหยื่อที่ล่าได้ เสือที่ส่วนใหญ่หากินในเวลากลางคืนเหล่านี้พบเห็นตัวได้ยากมาก การตั้งกล้องดักถ่ายภาพจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจชีวิตของพวกมัน

 

เสือคูการ์ เจ้าของฉายานักล่าล่องหน กำลังหวนคืนกลับมาทวงถิ่นที่อยู่ที่พวกมันเคยสูญเสียไป


คลิ๊กเพื่อชมแผนที่ฉบับเต็ม

เสือคูการ์ หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น เสือพูมา และเสือแพนเทอร์ มีถิ่นกระจายพันธุ์ครอบคลุมตั้งแต่ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินาและชิลีไปจนถึงตะเข็บดินแดนยูคอนในแคนาดา  เสือคูการ์จึงเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่กระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดในซีกโลกตะวันตก แต่กลับพบเห็นตัวได้น้อยที่สุดชนิดหนึ่ง ส่วนที่คิดกันว่าเสือคูการ์ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนืออาศัยอยู่บนภูเขา ก็เพราะที่สูงเหล่านั้นเป็นแหล่งหลบภัยแห่งสุดท้ายจากปืน กับดัก และยาเบื่อของผู้มาตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนการกำจัดสัตว์นักล่าที่เป็นภัยต่อปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เสือคูการ์เคยอาศัยอยู่ใน 48 รัฐบนผืนแผ่นดินใหญ่จากฝั่งตะวันตกจรดฝั่งตะวันออก แต่พอถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ  เสือเกือบทั้งหมดที่เหลือรอดอยู่ในสหรัฐฯจำกัดวงอยู่เพียงพื้นที่ห่างไกลแถบเทือกเขาร็อกกี เทือกเขาตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และรัฐแถบตะวันตกเฉียงใต้ ในที่สุดรัฐทางตะวันตกก็ยกเลิกค่าหัวของเสือคูการ์ แต่บางรัฐยังคงจ่ายอยู่จนถึงทศวรรษ 1960 ในปี 1972 รัฐบาลสหรัฐฯบังคับใช้กฎหมายห้ามการใช้สารพิษกำจัดสัตว์นักล่าในที่ดินของรัฐบาลกลาง หน่วยงานด้านสัตว์ป่าหลายแห่งเริ่มจัดให้เสือคูการ์เป็นสัตว์ที่ล่าเป็นเกมกีฬาได้โดยมีฤดูการล่าภายใต้การควบคุม และเป็นครั้งแรกในรอบ 300 ปีที่ประชากรเสือคูการ์เริ่มกระเตื้องขึ้น

ในฐานะชนิดพันธุ์หนึ่ง เสือคูการ์จัดว่ามีสถานภาพดีกว่าสัตว์วงศ์เสือและแมวชนิดใดในโลก การที่เสือคูการ์จะก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งการหวนคืนได้อีกไกลแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วคงขึ้นอยู่กับว่าสาธารณชนจะยอมรับพวกมันมากน้อยเพียงใด ซึ่งนั่นก็ย้อนกลับมาขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้คนว่า เสือเหล่านี้เป็นอย่างไร

นับตั้งแต่ปี 1890 เสือคูการ์ในสหรัฐฯและแคนาดาโจมตีมนุษย์ประมาณ 145 ครั้ง ในจำนวนนี้มีเพียง 20 กว่าครั้ง หรือเฉลี่ยหกปีต่อครั้งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต บางทีสถิติที่สำคัญกว่าคือ การโจมตีของเสือคูการ์ที่ได้รับการยืนยันแล้วอย่างน้อยหนึ่งในสามเกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เสือคูการ์ที่เพิ่มขึ้นบวกกับมีผู้คนมากขึ้นในแถบชนบท ย่อมหมายถึงโอกาสของความขัดแย้งที่มากขึ้นตามไปด้วย

ความที่เป็นนักล่าผู้แอบซุ่มล่าเหยื่อในเวลากลางคืน การศึกษาเสือคูการ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันซึ่งสามารถจับตาดูพฤติกรรมของพยัคฆ์จอมล่องหนได้ตลอดเวลา ปริศนามากมายที่ปกคลุมชีวิตของพวกมันจึงกำลังคลี่คลาย

ปัจจุบัน เสือคูการ์เป็นนักล่าอันดับสูงสุดซึ่งพบมากที่สุดในพื้นที่หนึ่งในสามของรัฐบนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 48 รัฐ  พื้นที่ส่วนใหญ่ของอีกสองในสามที่เหลือไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นนักล่าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าเสือซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการล่องหนจะเป็นสัตว์นักล่าสำคัญที่สังคมสมัยใหม่คิดว่ายอมรับได้ง่ายที่สุด หรืออย่างน้อยก็พอทนรับได้ แต่ผู้คนยังคงใคร่รู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่านี้ นอกจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตนเองแล้ว เจ้าของบ้านในย่านชานเมืองและชนบทยังเป็นห่วงสัตว์เลี้ยงของตน ขณะที่ชาวไร่ชาวนากังวลว่าปศุสัตว์จะล้มตาย แต่ดูเหมือนว่าเสียงเรียกร้องดังที่สุดให้จัดการกับเสือคูการ์จะมาจากนักกีฬาล่าสัตว์ที่แค้นเคืองนักล่าตามธรรมชาติเหล่านี้โทษฐานที่เป็นคู่แข่งโดยตรงในการล่าสัตว์กีบ

จากสมมุติฐานที่ว่าเสือคูการ์แต่ละตัวที่ถูกฆ่าจะทำให้นักกีฬาล่าสัตว์มีสัตว์ให้ล่ามากขึ้น ในแต่ละปีบางรัฐจึงกำจัดเสือในจำนวนมากเท่าที่เจ้าหน้าที่จัดการสัตว์ป่าคิดว่าประชากรเสือจะรับไหว การสูญเสียมักตกหนักกับเพศผู้ตัวเต็มวัยซึ่งพรานตีราคาว่าเป็นรางวัลล้ำค่า แต่เนื่องจากเป็นเสือขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด เพศผู้ตัวเต็มวัยจึงได้ครองอาณาเขตที่ดีที่สุด แล้วบีบให้เสือรุ่นหนุ่มๆออกจากพื้นที่ไป เท่ากับเป็นการกำหนดเพดานจำนวนเสือคูการ์ในพื้นที่หนึ่งๆไปในตัว

จากการศึกษาของโรเบิร์ต วีลกัส อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต และผู้ร่วมวิจัย พบว่า เมื่อเสือเพศผู้ขนาดใหญ่ถูกฆ่ามากเกินไป เสือหนุ่มเร่ร่อนจะพากันมุ่งหน้าไปยังอาณาเขตที่ว่างลง การแข่งขันรุนแรงจะผลักดันให้เสือจำนวนมากขึ้นถอยร่นไปยังพื้นที่ชายขอบซึ่งมักใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ขณะเดียวกัน เสือเพศเมียก็อาจท่องไปกว้างไกลมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการหลั่งไหลเข้ามาของเสือเพศผู้แปลกหน้าซึ่งบางครั้งลงเอยด้วยการฆ่าลูกเสือ

วีลกัสสรุปการค้นพบที่น่าประหลาดใจของเขาว่า “การล่าเสืออย่างหนักส่งผลให้ความหนาแน่นโดยรวมของเสือคูการ์ สูงขึ้นการล่าเหยื่อจำพวกสัตว์ที่เป็นเกมกีฬา เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งกับมนุษย์เกิด บ่อยครั้งขึ้น พูดสั้นๆก็คือ ผลที่ได้ตรงข้ามกับสิ่งที่มุ่งหมายไว้ครับ”

แทนที่จะเพิ่มโควตาการฆ่าเสือคูการ์โดยถูกกฎหมาย วีลกัสเสนอให้จำกัดการล่าโดยสอดคล้องกับอัตราการเพิ่มจำนวนในธรรมชาติของเสือคูการ์ คือประมาณร้อยละ 14 ต่อปี เมื่อคำนึงว่านักชีววิทยาสัตว์ป่าต่างเห็นพ้องกับแนวทางนี้อย่างกว้างขวาง ก็อาจสร้างมาตรฐานใหม่ในการล่าเสือคูการ์และอาจรวมถึงสัตว์นักล่าสำคัญๆชนิดอื่นด้วย ซึ่งส่งผลให้พวกมันอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ง่ายขึ้น

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: http://www.ngthai.com/Index.aspx
1 ม.ค. 57 เวลา 16:22 11,428 3 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...