"ไก่งวงวัดสระเกศ" ในวันขอบคุณพระเจ้า

 

 

 

"ไก่งวงวัดสระเกศ" ในวันขอบคุณพระเจ้า

 

 

ในภาพเป็นอีแร้งเทาหลังขาว ปัจจุบันในประเทศไทย แร้งเทาหลังขาวเป็นนกที่หาดูได้ยากมาก ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เช่นเดียวกับแร้งและนกในกลุ่มเดียวกันนี้ชนิดอื่น ๆ

"แร้งวัดสระเกศ" เป็นเรื่องที่ร่ำลือระบือลั่นกันในสมัยก่อน เมื่อฝูงแร้งมากมาย ขนาดที่เรียกได้ว่า มืดฟ้ามัวดิน แห่ลงกินซากศพ ที่กองอยู่เป็นภูเขาเลากาข้างภูเขาทอง นับเป็นภาพที่อุจาดต่อสายตา และน่าสยดสยองอย่างมากต่อผู้พบเห็น ซากศพคนตายเหล่านั้นตายด้วยอหิวาตกโรค ทิ้งเกลื่อนกลาด ที่วัดสระเกศ มีแร้งจิกกิน จนกระดูกข้าโพลน 

ในสมัย รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนัก ในกรุงเทพมหานคร ขณะนั้น ยังไม่มีวิธีรักษา และรู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน 

กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาต์ประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการ และธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติมิตร ในเวลานั้น วัดสระเกศ เป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน

อหิวาตก์เวียนมาในทุกฤดูแล้ง และหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี จนในปี พ.ศ. 2392 อหิวาตก์ ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ เกิดขึ้นกว่าอหิวาตก์ครั้งก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" ในระยะเวลาช่วง 1 เดือน ที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 - 20,000 คน และตลอดฤดู ตายถึง 40,000 คน รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิต เป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู และวัดตีนเลน เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ มีศพที่นำมาเผาสูงสุด ถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้น ศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศ มีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่งไปลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้ง ที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระจายได้ และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว

หลังจากคำว่า "แร้งวัดสระเกศ" โด่งดัง ก็มีอีกคำ ที่ถูกล่าวขวัญอย่างสนุกสนาน ก็คือคำว่า "ไก่งวงวัดสระเกศ" มีเรื่องเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่ง คิดพิเรน จับแร้งตัวหนึ่ง ใส่กระสอบ แล้วแบกไปที่บ้านฝรั่งตอนก่อนถึงวันคริสมาส 4 - 5 วัน แล้วบอกว่า มีไก่งวงมาขายในราคาถูก เป็นไก่งวงที่เลี้ยงไว้ในทุ่ง จึงเปรียวมาก ต้องใส่กระสอบไว้ ฝรั่งชะโงกหน้าลงมาดู ชายคนนั้น ก็เผยอปากถุงให้เห็นหัวแดง ตัวใหญ่เท่าไก่งวง ดิ้นขลุกขลักอยู่ในกระสอบ จึงรับซื้อไว้ในราคา 4 บาท รุ่งขึ้น ฝรั่งสั่งให้พ่อครัวเอาไก่งวงออกมายืดเส้นยืดสาย ก่อนที่จะตายในกระสอบ แต่พอเปิดกระสอบปล่อยออกมา แร้งก็วิ่งอ้าว แล้วบินหนีไป เรื่องนี้จึงเป็นที่เล่ากันอย่างสนุกสนาน ต่อ ๆ มา คำว่า "ไก่งวงวัดสระเกศ" จึงเป็นคำฮิตของบางกอก ในสมัยนั้นไปด้วย

"โรคห่า" ยังคงมาเยือนเมืองไทยทุกปี ในปี พ.ศ. 2411 และปี พ.ศ. 2416 มีคนตายในช่วงวันที่ 22 มิถุนายน จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นจำนวน 6 พันกว่าคน และในปี พ.ศ. 2423 สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคนไทยพอจะมีความรู้ในการป้องกัน กำจัดอหิวาตก์ ก็ยังมีคนตายเป็นจำนวนหมื่น แต่ตามบันทึกแล้วไม่มีปีไหน ที่อหิวาตก์จะระบาดรุนแรงเท่าปี พ.ศ. 2363 และ พ.ศ. 2392

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2457 ได้มีการผลิตน้ำประปาขึ้น ในกรุงเทพฯ อหิวาตก์ จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่ก็ยังไม่ขาดหายไป แม้ในทุกวันนี้ ก็ยังมีอหิวาตก์ เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนเมษายน แต่ความรู้ และสุขาภิบาลในสมัยนี้ ทำให้อหิวาตก์ไม่สามารถระบาดได้รุนแรง คร่าชีวิตผู้คนมากมายได้อย่างในสมัยก่อน

ส่วนแร้งนั้น อย่างว่าแต่ที่วัดสระเกศเลย แม้แต่ตามชนบท ก็หาแร้งดูได้ยากแล้ว (อาจมีที่สวนสัตว์ สงวนไว้ให้คนรุ่นหลังดู) อาจจะเป็นเพราะไม่มีใครทิ้งซากศพให้แร้งกินอย่างสมัยก่อน แม้แต่ซากสัตว์ ก็ยังถูกฝังกลบ แร้งชอบกินแต่ของเน่าเหม็น จึงหาอาหารยากขึ้น จนเกือบจะใกล้สูญพันธุ์เต็มทีแล้ว

ภาพประกอบ : อีแร้งวัดสระเกศ บันทึกภาพในปี พ.ศ.2440 ภาพศพและแร้งที่มากินศพในวัดสระเกศ สภาพของศพนั้นมีการเฉือนศพให้แร้งกินเพื่อถ่ายภาพ พวกแร้งในภาพนั้นอาจจะสังเกตยากซักหน่อย เพราะฟิล์มสมัยเก่าเป็นขาวดำ แร้งซึ่งมีโทนสีออกดำอยู่แล้ว เดินเกะกะอยู่รอบๆ กำแพงซึ่งโทนดำด้วยกัน ยิ่งทำให้ดูยากยิ่งขึ้น แต่ถ้าดูให้ดีก็จะเห็นหลายสิบตัวทีเดียว ผู้ชายที่ยืนอยู่ในรูปนั้นต้องถือไม้ไว้กันอีกแร้งไม่ให้แย่งศพในเวลาถ่ายรูป 

 

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: https://www.facebook.com/siamhistory
1 ม.ค. 57 เวลา 15:29 11,959 4 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...