“โรงโคมเขียว” สถานค้าประเวณีในอดีต

 

 

 

“โรงโคมเขียว” สถานค้าประเวณีในอดีต

 

 

“มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงคนขับคนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี…ผู้รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเป็นสัจไซ้ ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกฉบาทั้งสองหู ร้อยดอกกบาลเป็นมาไลยใส่ศีศะ ใส่คอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน ถ้าแลชายผัวมันยังรักเมียมันอยู่มิให้ผจานไซ้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย”

นี่คือบางตอนจากกฎหมายสมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ทรงตราไว้เมื่อ พ.ศ. 1904 ที่กล่าวถึงนครโสเภณีไว้ ถือเป็นเอกสารหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าหญิงนครโสเภณีได้มีมาแล้วอย่างน้อยก็ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อ 628 ปีที่ผ่านมา ตามความเป็นจริงของสังคมไทยนั้น โสเภณีอาจมีมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ เพียงแต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

และต่อมา จากคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวงได้กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตกเมื่อ พ.ศ.2310 มีว่า

“…มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนครตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดแต่ในรอบบริเวณขนอนใหญ่ทั้ง 4 ทิศ รอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตามกรุง แลชานกำแพงกรุงนั้นด้วยรวมเป็น 30 ตลาดคือ…ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงนครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรงรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้างร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด 1“

เนื่องจากตลาดบ้านจีนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจีน จึงสันนิษฐานว่า นอกจากหญิงนครโสเภณีที่เป็นคนไทยแล้ว คงจะมีหญิงโสเภณีคนจีนด้วย

ยุครัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ. 2451) ตอนหนึ่งมีความว่า “ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย…” ทั้งนี้ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นโคมสีอะไร แต่สันนิษฐานว่าที่ใช้โคมสีเขียวคงเป็นในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คือทำโคมใช้กระจกสีเขียวเป็นตัวอย่าง โคมดังกล่าวจึงเป็นสีเขียวเหมือนกันหมด กฎหมายฉบับนี้ จัดเป็นฉบับแรกที่ตราใช้บังคับหญิงนครโสเภณีให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังเหตุผลที่ตรากฎหมายฉบับนี้มีความตอนหนึ่งว่า

“ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งเงินโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเป็นทาส รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วตั้งเป็นโรงขึ้น ครั้นต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลิกทาสเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัครเข้าเป็นหญิงนครโสเภณี ก็รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเป็นโรค ซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไปจนเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก”

กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีได้ ต้องเป็นผู้หญิงและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน นางโรงต้องมีบัญชีหญิงนครโสเภณีที่มีอยู่ประจำแลที่เข้ามาอยู่ใหม่ ห้ามนายโรงรับหญิงนครโสเภณีที่ไม่มีใบอนุญาต ห้ามนายโรงรับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมาไว้ในโรง ห้ามนายโรงกักขังและทำสัญญาผูกมัดหญิงนครโสเภณี ตลอดจนห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดบังคับหรือล่อลวงผู้หญิงผู้ใดที่ไม่สมัครใจเป็นหญิงนครโสเภณี

ชาวบ้านเรียกโรงหญิงนครโสเภณีในสมัยนั้นว่า “โรงโคมเขียว” และเรียกหญิงนครโสเภณีว่า “หญิงโคมเขียว” ตามลักษณะโคมที่แขวน

โรงหญิงนครโสเภณีหรือโรงโคมเขียวสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั่วไปแทบทุกตรอกซอกซอย แต่ที่มีนักเที่ยวไปใช้บริการกันคับคั่งคือที่ ตรอกเต๊า โรงยายแฟง โรงแม่กลีบ โรงแม่เต้า ยายแฟงเป็นแม่เล้าใจบุญ ได้นำเงินไปสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่งที่ตรอกวัดโคก ชาวบ้านเรียก วัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล (วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา) ส่วนแม่กลีบได้สร้างวัดที่ปากตรอกเต๊า เรียก วัดกันมาตุยาราม

กาญจนาคพันธ์ได้เล่าถึงผู้หญิงโคมเขียวที่ตรอกเต๊าไว้ดังนี้ “ในตรอกเต๊านี้ เป็นห้องแถวยาวติดต่อกันไปตลอดตรอก ทุกห้องแขวนโคมเขียวไว้หน้าห้องเป็นแถว และเวลาก่อนค่ำ จะเห็นพวกโสเภณีเขาจุดรูปราวกำมือหนึ่ง (ราวสัก 20 ดอก) มาลนที่ใต้โคมเขียวหน้าห้อง ข้าพเจ้าเคยถามเขาว่าลนทำไม เขาบอกว่าลนให้มีแขกเข้ามามาก ๆ พวกนี้ราคาอยู่ใน 6 สลึงหรือสองบาท ส่วนที่ตึกใหญ่ตรงกันข้ามกับตรอกนี้ก็มีอาชีพเช่นเดียวกัน แต่เขาแขวนโคมเขียวไว้ให้ลับเข้าไปมองไม่เห็น นอกจากคนเคยแล้วก็รู้จักมีนามว่า “ยี่สุ่นเหลือง” เป็นชั้นสูงหน่อย ไม่จุ้นจ้านเหมือนพวกตรอกเต๊า ราคาราว 3 บาทถึง 5 บาท ข้าพเจ้าเคยเข้าไปหลายครั้ง ออกจะสภาพเรียบร้อยดี ห้องแต่ละห้องในตึกก็ตกแต่งดี แปลว่ารับแขกชั้นสูง ไม่สัพเพเหระเหมือนตรอกเต๊า”

ในเวลาต่อมาเนื่องจากสภาพการณ์ทางสังคมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการขายบริการทางเพศทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งจากสถิติเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ของกรมสุขาภิบาล กระทรวงมหาดไทย พบว่าผู้ชายในพระนครเป็นกามโรคกันถึงร้อยละ 75 เปอร์เซ็นต์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษา ใครเป็นต้องกินยาไทยต้มเป็นหม้อ ๆ หายก็มี เรื้อรังก็มาก ประกอบกับกระแสการต่อต้านการค้าหญิงและเด็กขององค์การสหประชาชาติ กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงถูกยกเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัช เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนมาใช้ พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 แทนจนถึงปัจจุบัน และนับแต่นั้นมา การค้าประเวณีจึงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย

 

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: https://www.facebook.com/siamhistory
1 ม.ค. 57 เวลา 15:13 21,736 4 210
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...