สำหรับยุทธนาวีที่ กล่าวไว้ในหัวเรื่องไว้นั้น หมายถึง เหตุการณ์ครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงไล่ตามสำเภาของพระยาจีนจันตุ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่อโยธยายังคงเป็นประเทศราชของหงสาวดีอยู่
โดยในเวลานั้นพระยา จีนจันตุกับพระอุเทศราชา รับพระบัญชาพระเจ้ากรุงละแวกนำทัพเรือพลรบสามหมื่นคนยกมาตีเมืองเพชรบุรี แต่เนื่องด้วยชาวเมืองป้องกันเข้มแข็งกองทัพละแวกจึงประสบความล้มเหลว
พระยาจีนจันตุกลัวจะ ถูกพระเจ้ากรุงละแวกลงอาญา เนื่องจากตัวเองติดทัณฑ์บนเอาไว้ จึงบอกกับพระอุเทศราชาว่า ตนจะทำทีเป็นเข้ามาสวามิภักดิ์ต่ออโยธยา เพือสืบความเรื่องกำลังรบและการป้องกันอาณาจักรของอโยธยา จากนั้นจะนำความไปกราบทูลพระเจ้ากรุงละแวก
ครั้นต่อมา เมื่อได้ทราบข้อมูลของฝ่ายอโยธยาแล้ว พระยาจีนจันตุก็ลอบหนีกลับกรุงละแวก ในเวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเสด็จมาประทับที่อโยธยาพอดี ทั้งสองพระองค์จึงนำกองเรือไล่ติดตามจับกุมสำเภาของพระยาจีนจันตุ
ในพงศาวดารเล่าไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงไล่ตามสำเภาข้าศึกจากกรุงอโยธยาไปจนถึงปาก น้ำ โดยทั้งสองฝ่ายได้ยิงต่อสู้กันเป็นสามารถ ทหารไทยพยายามนำเรือเข้าประชิดและปีนขึ้นสำเภาของฝ่ายพระยาจีนจันตุแต่ถูก ทหารจีนบนสำเภาฟันตกน้ำตายหลายคน ข้างสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงใช้พระแสงปืนยิงถูกนายทหารจีนตายไปสามนาย ก็พอดีว่า มีกระสุนปืนข้าศึกยิงมาต้องรางพระแสงปืนแตก ทว่าพระนเรศวรทรงปลอดภัย ครั้นเมื่อพระเอกาทศรถทรงเห็นดังนั้นก็ให้นำเรือของพระองค์ขึ้นมาบังเรือพระ เชษฐาเอาไว้
ในเวลานั้นเอง สำเภาของข้าศึกก็มาถึงปากนำออกสู่ทะเลหลวง จึงสามารถกางใบได้เต็มที่และแล่นหนีไปได้ในที่สุด
หลังจากพระยาจีนจันตุ กลับถึงกรุงละแวกแล้ว ก็นำข้อมูลเรื่องกำลังรบของอโยธยาขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงละแวก พระองค์จึงทรงยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีและสามารถตีเมืองแตกได้