ทองคำ มนตราแห่งความมั่งคั่ง

นับแต่ยุคประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้น เมื่อเกือบห้าพันปีก่อน ทองคำก็ ปรากฏตัวขึ้นในฐานะโลหะที่เป็นตัวแทนแห่งความมั่งคั่งของมนุษย์แทบจะทุก อารยธรรม นับแต่ชาวอียิปต์แห่งลุ่มน้ำไนล์ไปจนถึงชาวจีนแห่งลุ่มน้ำฮวงโห หลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเรื่องราวของทองคำอย่างไม่อาจแยกจากกันได้

ในบรรดาแร่โลหะทั้งหลายที่มนุษย์เรารู้จัก ดูเหมือนว่าทองคำจะเป็นโลหะที่สูงค่าและเป็นที่ต้องการมากที่สุด ความสูงค่าของทอง แยกไม่ออกจากความที่มันหาได้ยากและมีปริมาณเพียงน้อยนิด

ทุกวันนี้โลกของเรามีทองคำรวม ทั้งสิ้นประมาณ 161,000 ตันเศษๆ ซึ่งกว่าครึ่งของทองคำเหล่านี้ เป็นทองที่มนุษย์สามารถสกัดออกมาได้ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนั่นมิได้หมายความว่า การที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นจะทำให้เราสามารถขุดทองได้มากขึ้น หากแต่ความจริงก็คือ การเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เราขุดทองคำที่มีอยู่ในโลกขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นโอกาสที่มนุษย์จะค้นพบแหล่งแร่ทองใหม่ๆ ก็ลดน้อยลงไปทุกทีด้วย

นับแต่โบราณกาล บทบาทของทองคำที่ อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มีมากกว่าโลหะที่ใช้ทำเครื่องประดับหรือสื่อกลางใน การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า  ชาวอียิปต์โบราณถือว่า ทองคำคือร่างกายของเทพเจ้าและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะ ในบันทึกประวัติศาสตร์ของโรมันยุคแรกกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่กรุงโรมถูกเบรนนุส หัวหน้าเผ่าเซลต์ยึดได้นั้น ชาวโรมันต้องเสียค่าไถ่กรุงโรมกลับคืน เป็นทองคำถึงหนึ่งพันปอนด์ ส่วนในตำราแพทย์โบราณของจีนและญี่ปุ่นก็กล่าวว่าทองคำมีคุณสมบัติเป็นยา บำรุงชั้นเลิศ  ขณะที่ในยุคล่าอาณานิคม ชาวสเปนที่เดินทางมาโลกใหม่ได้ทำลายล้างจักรวรรดิอินคาและแอสเท็กซ์เพื่อ แย่งชิงทองคำปริมาณมหาศาล หรือจนกระทั่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทองคำก็ได้ทำดินแดนรกร้างว่างเปล่าหลายแห่งในแอฟริกาใต้ อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ในชั่วเวลาไม่นาน ด้วยปรากฏการณ์ “ตื่นทอง” ซึ่งผู้คนจำนวนมากมายแห่แหนกันเข้าไปยังดินแดนรกร้างเหล่านั้น เพียงเพราะข่าวที่ได้ยินมาว่า มีการค้นพบสายแร่ทองคำในดินแดนดังกล่าว ส่วนในระบบเศรษฐกิจของโลก ทองคำก็มีบทบาทสำคัญในฐานะสินทรัพย์ที่เป็นมาตรฐานเงินตราในการหนุนหลังค่า เงินของประเทศต่างๆ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1971 อันเป็นปีที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติสุดท้ายที่ใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตรา ประกาศยกเลิกการใช้มาตรฐานดังกล่าว

แม้ในปัจจุบันการใช้มาตรฐานทองคำจะ ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินสกุลหลัก ก็ทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งกองทุนจำนวนมากยังสะสมทองคำในฐานะสินทรัพย์สำรอง โดยทองคำที่หมุนเวียนในตลาดโลกจำนวนสองในสามถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่อง ประดับ ซึ่งประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลก ก็คือ อินเดียและจีน การขยายตัวของรายได้ของประชากรในประเทศทั้งสองได้นำมาซึ่งความต้องการทองคำ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

โดยในจีนนั้น ทองคำคือสัญลักษณ์มงคลแห่งโชคลาภและถือเป็นของขวัญที่ล้ำค่าสำหรับมอบให้แห่กัน ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเช่น ตรุษจีน ปีใหม่

ส่วนอินเดียที่ถือเป็นผู้บริโภคทองคำราย ใหญ่ที่สุดนั้น ได้มีการประเมินไว้ว่า ในแต่ละปี กว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนทองคำที่หมุนเวียนในตลาดทองคำโลกจะไหลเข้าสู่ อินเดีย ทั้งนี้เนื่องมาจากค่านิยมและวัฒนธรรมของชาวอินเดียที่ให้ความสำคัญกับโลหะ มีค่าชนิดนี้เป็นอย่างมาก

สำหรับชาวอินเดียนั้น ทองคำมิ ใช่เป็นเพียงเครื่องแสดงถึงความหรูหรามั่งคั่ง หากแต่ยังมีบทบาทแทบจะในทุกช่วงที่สำคัญของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งงาน ซึ่งในแต่ละปี มีงานแต่งงานในอินเดียร่วมสิบล้านงานและเกือบทุกงานก็ล้วนใช้ทองคำเป็นสิน สอดทั้งสิ้น ชาวอินเดียมีความเชื่อว่า ทองคำจะนำโชคลาภมาให้ผู้ที่ครอบครองและสัมผัส ในรัฐเคราล่า ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย จะมีธรรมเนียมที่ผู้เป็นยายจะจุ่มเหรียญทองคำลงในน้ำผึ้งและหยดน้ำผึ้งนั้น ลงบนลิ้นของทารกเกิดใหม่เพื่ออวยพรให้เด็กนั้นมีชีวิตที่ประสบแต่โชคดี นอกจากนี้ตลอดช่วงหกเดือนแรกของเด็ก ในทุกงานสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้นั้น เด็กน้อยมักจะได้รับของขวัญเป็นเครื่องประดับทองคำชนิดต่างๆ เช่น ต่างหู กำไล สร้อยคอ จนถึง สายคาดเอว

ความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่า ทองคำจะ นำโชคลาภมาให้นี้ จะปรากฏชัดเจนในช่วงเทศกาลอักษะทริติยาซึ่งอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งถือกันว่าเป็นวันมงคลสำหรับการซื้อทองคำตามปฏิทินฮินดู ทั้งนี้ในวันดังกล่าว มักจะมีปริมาณการซื้อทองคำสูงยิ่งกว่าทุกวันของปี จนเป็นเหตุให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นเสมอ

ไม่เฉพาะแต่คุณค่าสำหรับผู้ซื้อเท่านั้น ทว่าทองคำยัง เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและสร้างงานให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต จำนวนนับร้อยล้านคน เหมืองขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ได้สร้างงานให้กับชุมชนโดยรอบรวมทั้งยังนำความ เจริญเข้ามาในพื้นที่แถบนั้นด้วย

แม้จะสร้างประโยชน์ และเลอค่า แต่การผลิตทองนั้นเป็นกระบวนการที่สร้างความเสียหายให้สิ่งแวด ล้อมอย่างมหาศาล โดยมีการประเมินไว้ว่า ในการขุดหาทองคำน้ำหนักเพียงหนึ่งบาท จำเป็นที่จะต้องขนย้ายหินและสินแร่ต่างๆ มากกว่า 100 ตัน นอกจากนี้ กระบวนการแยกทองคำออกจากสินแร่ที่ด้อยราคากว่า ยังก่อให้เกิดของเสียที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเหมืองขนาดใหญ่บางแห่งได้หันมาใช้เทคโนโลยีที่ไม่ก่อ มลพิษแล้วก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีของเสียปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ซึ่งของเสียเหล่านี้มีอยู่สองรูปแบบ คือ หินจำนวนมหาศาลที่ถูกขุดทิ้งออกมา กับหางแร่ที่เกิดจากกระบวนการคัดแยกทองคำ ซึ่งหางแร่เหล่านี้เป็นขยะโลหะที่ยากจะกำจัดโดยไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้การที่สายแร่ทองคำใหม่ๆ มักจะถูกพบในพื้นที่ป่าดิบชื้นที่ห่างไกล ก็ได้ทำให้มีการบุกรุกทำลายผืนป่าเหล่านั้นลงเพื่อใช้พื้นที่สำหรับการทำ เหมืองอีกด้วย

ขณะ ที่เหมืองทองขนาดใหญ่ซึ่งผลิตทองคำสามในสี่ของทองที่เข้าสู่ตลาดโลกในทุกปี จะก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เหมืองทองขนาดเล็กที่ผลิตทองคำอีกหนึ่งในสี่ ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน ทั้งนี้บรรดาชาวเหมืองในเหมืองขนาดเล็กจะใช้ปรอทในการแยกเนื้อทองออกจากหิน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทั้งในรูปของก๊าซและของเหลว โดยไอระเหยที่คนงานเหมืองเหล่านั้นสูดเข้าไป จะบั่นทอนสุขภาพของพวกเขาและก่อโรคร้ายที่ทำให้ชีวิตของคนงานเหล่านั้นสั้น ลง ขณะที่ของเหลวซึ่งมีสารปรอทปนเปื้อนจะไหลลงสู่แหล่งน้ำและทำอันตรายต่อคนและ สัตว์ที่พึ่งพาแหล่งน้ำเหล่านั้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่งของทวีปอเมริกาใต้ ที่มีการทำเหมืองทองขนาดเล็กกระจายตัวอยู่

ทุกวันนี้ ในฐานะสินทรัพย์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเก็งกำไรและลงทุน ทำให้บทบาทของทองคำเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้น การเปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไรลงทุนทองคำ ในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า ส่งผลให้มูลค่าของทองคำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจของโลกอยู่ในสภาพที่ผันผวน จนส่งผลให้ค่าเงินสกุลหลักอ่อนค่าและตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้การเก็งกำไรทองคำ กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของเหล่านักลงทุนทั้งหลาย จนส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยเหตุนี้ที่ได้ก่อให้เกิดกระแสตื่นทองรูปแบบใหม่ ที่มีผู้คนจำนวนมากแห่ไปซื้อทองคำแท่งเพื่อการเก็งกำไรจนทองคำแท่งมี ไม่พอกับความต้องการ ซึ่งเหตุการณ์ตื่นทอง ดังกล่าวนั้น สุดท้าย อาจจะนำไปสู่สภาวะฟองสบู่เหมือนเช่นดังที่เคยเกิดกับตลาดหุ้น ซึ่งมีการปั่นราคาจนเกินมูลค่าที่แท้จริงและนำความเสียกายอย่างใหญ่หลวงมา สู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ดูเหมือนว่าทองคำจะ มิได้เป็นเพียงโลหะอันล้ำค่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่อีกด้านหนึ่งของมันยังเต็มไปด้วยความดำมืดที่อันตรายและน่าหวาดหวั่น แฝงเร้นอยู่ แต่ถึงกระนั้น ทองคำก็ยังคงเป็นที่ต้องการของมนุษย์อย่างไม่เสื่อมคลายและบางทีจะยังคงเป็นเช่นนี้อีกตราบนานเท่านาน

30 ธ.ค. 56 เวลา 08:56 2,711
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...