กรุงเทพมหานคร สมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สภาพบ้านเมืองสงบน่าอยู่ รถราไม่ติดอย่างในยุคปัจจุบัน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะนอกจากรถเมล์โดยสารจาก 20 บริษัทเอกชนกับ 2 รัฐวิสาหกิจแล้ว ยังมีรถรางไฟฟ้าที่วิ่งคู่ขนานไปกับรถยนต์ เพราะเหตุที่ว่าในยุคนั้นรถยนต์มีน้อยกว่าในยุคปัจจุบันมาก จึงสามารถกันพื้นที่ถนนจำนวน 1 ช่องทางเพื่อวางรางรถรางฝังไปกับพื้นถนนชิดด้านขอบฟุตบาท...
รถราง ที่จริงแล้วก็คือรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า BTS ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ส่วนที่คล้ายกันคือ ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนรถเหมือนกัน นอกจากนั้นไม่มีอะไรเทียบกันได้...
การไฟฟ้านครหลวง เป็นเจ้าของสัมปทานรถรางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนยุบเลิกสัมปทานรถรางทั้งหมดเมื่อ 1 ตุลาคม 2511...
ค่าโดยสารรถรางแบ่งเป็นสองชั้น โดยมีฉากลูกกรงไม้แบ่งครึ่งกลางคัน ครึ่งด้านหน้าเป็นเก้าอี้ไม้วางขนานไปกับตัวถังรถ ส่วนครึ่งหลังเก้าอี้จะมีเบาะนวมสีแดงปูอีกที ค่าโดยสารด้านหน้าเก้าอี้ไม้ เก็บ 10 สตางค์ตลอดสาย ด้านหลังเบาะนวมเก็บ 25 สตางค์ตลอดสาย จนชาวบ้านเรียกว่า "ข้างหน้าสิบตังค์ ข้างหลังสลึง"....
เนื่องจากรถรางมีสองหัวเหมือนหัวรถจักร สามารถเดินหน้าได้ทั้งสองหัวเหมือนรถไฟ เมื่อวิ่งจนสุดทางแล้ว พนักงานก็จะยกเบาะจากเก้าอี้ด้านหลังกลับมาปูบนเก้าอี้อีกด้านหนึ่ง เมื่อรถใช้หัวอีกด้านวิ่งกลับ มันก็ยังคงเก็บค่าโดยสาร "ข้างหน้าสิบตังค์ ข้างหลังสลึง" ได้ตามเดิม....
รถรางวิ่งช้ามากเมื่อรับผู้โดยสาร แต่จะวิ่งเร็วเมื่อนำรถกลับไปเก็บอู่ แต่ความเร็วสูงสุดเท่าที่รถรางทำได้ก็คือประมาณ 45 กม./ชม.เท่านั้น ต่างจากรถไฟฟ้า BTS ยุคปัจจุบันที่วิ่งด้วยความเร็วถึง 80 กม./ชม.เลยทีเดียว....
รูปนี้ชัดเจนมากอย่างกับเพิ่งถ่ายมาเมื่อวาน รถรางกำลังวิ่งผ่านเยาวราช โดยมีรถแท็กซี่กำลังแซงผ่านไป สังเกตว่าแท็กซี่เปิดกระจกหูช้างด้านคนขับรับลมด้วย เพราะรถยนต์สมัยนั้นไม่มีแอร์ อากาศในกรุงเทพฯก็ไม่ได้ร้อนสาหัสอย่างทุกวันนี้ เพราะตอนนั้นตึกสูงไม่มี สูงที่สุดก็ตึกเจ็ดชั้นเยาวราช คนก็ตื่นเต้นกันทั้งเมืองแล้ว ส่วนคนขับรถรางนั้นยืนขับไม่ได้นั่งขับ มือขวากุมคันเบรก ส่วนมือซ้ายกุมคันเร่ง ไม่ต้องใช้พวงมาลัยเพราะมันวิ่งไปตามราง...
ดูกันชัด ๆ ระหว่างคันเร่งด้ายซ้ายมือ กับคันเบรกด้านขวามือ...
ชัด ๆ อีกรูปสำหรับที่นั่งผู้โดยสารของรถราง ที่ถูกกั้นแบ่งด้วยฉากกรงไม้ ตอนหน้าไม่มีเบาะ แต่ตอนหลังมีเบาะ พอรถวิ่งสุดทาง พนักงานก็จะยกเบาะไปวางไว้ด้านหน้า เพราะพอขากลับ เค้าจะใช้อีกหัวที่อยู่ด้านหลังขับกลายเป็นด้านหน้าแทน....
กล่องคานรับกระแสไฟฟ้าบนหลังคารถราง ...
รถรางกำลังวิ่งเลียบกำแพงพระบรมหาราชวัง ด้านที่ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ที่รู้จักกัน
รถรางวิ่งผ่านท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งเป็นรถรางสายเดียวกับคันข้างบน จะสังเกตเห็นเชือกที่โยงปลายคานรับกระแสไฟฟ้าของรถรางนะครับ เชือกนี้ใช้ดึงคานให้หมุนกลับเวลารถใช้อีกหัววิ่งกลับมา เพื่อให้คานอยู่ในลักษณะลู่หลังตลอดเวลาที่รถวิ่งเพื่อป้องกันการสะดุดหัวหมุดรั้งสายไฟ และยังช่วยรั้งคานให้นิ่งไม่กระโดดอีกด้วย ส่วนพนักงานที่ยืนท้ายรถรางนั้น เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร เมื่อรถสุดทาง ก้อจะเปลี่ยนหน้าที่เป็นพนักงานขับรถ นำหัวอีกด้านวิ่งกลับมา พนักงานที่ขับอีกหัวก็จะเก็บสตางค์แทนสลับกันครับ....
ถนนวิสุทธิกษัตริย์ รถสามล้อเครื่องกำลังวิ่งสวนกับรถราง จะเห็นว่าสามล้อเครื่องสมัยนั้นไม่ได้วิลิศมาหราอย่างสมัยนี้เลย...
ถนนเจริญกรุงแถวย่านยานนาวาครับ แต่นึกไม่ออกว่าเป็นที่ตรงไหน....
นี่ก้ออีกที่ คลับค้ายคลับคลาแต่ไม่กล้าเดาว่าที่ไหน...
ตรงนี้ไม่ต้องเดา สามแยกถนนเจริญกรุงทางที่ออกมาวงเวียน 22 กรกฎาคมอ่ะครับ สมัยนั้นมี 3 แยกเค้าเลยเรียกว่าสามแยก เดี๋ยวนี้เป็นห้าแยกไปแล้ว เค้าก้อยังเรียกกันว่าสามแยกตามเดิม????.....
ตรงนี้ก็คือแถว ๆ เสาชิงช้าด้านที่ว่าการเทศบาลนครกรุงเทพ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า "ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร" นั่นแหล่ะ...
แถวนี้อีกเหมือนกันที่นึกไม่ออกว่าเป็นที่ไหน แต่ดูจากผ้าโฆษณาหนังที่เข้าฉาย ณ โรงภาพยนต์เท็กซัสแล้ว น่าจะเป็นรถรางสายท่าเตียน-ถนนตก ที่วิ่งผ่านถนนเยาวราชและเจริญกรุง...
รถรางกำลังตีฝีจักรผ่านทางเข้าท่าเรือข้ามฟากท่าช้างวังหลวง ผ่านหน้ารถเมล์สาย 31 ท่าช้าง - ปทุมธานีที่จอดรอวินอยู่ ปัจจุบันรถเมล์สายนี้ถูก ขสมก.ยกเลิกสัมปทานไปแล้ว เนื่องจากไม่มีเอกชนสนใจซื้อสัมปทานมาทำต่อ....
รถรางกำลังจะเลี้ยวซ้ายจากท่าช้างวังหลวงเข้าถนนพระจันทร์ไปสิ้นสุดเส้นทางที่ท่าพระจันทร์ ส่วนตึกที่เห็นซ้ายมือนั้น เป็นที่ทำการของบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.)ในสมัยนั้น...
รถรางเลี้ยวขวาจากวังสราญรมย์ด้านข้างกระทรวงกลาโหมเข้าถนนมหาชัย เพื่อมุ่งสู่สนามหลวง ส่วนแท็กซี่คันที่เห็นท้ายยี่ห้อโตโยเป็ตนะครับ ก่อนที่จะมาเป็นโตโยต้าที่เรารู้จักในปัจจุบัน.....