นบพระปฏิมา 9 แผ่นดิน ขอพรปีใหม่ เสริมสิริมงคล

 

 

 

นบพระปฏิมา 9 แผ่นดิน ขอพรปีใหม่ เสริมสิริมงคล

 

ช่วงวันหยุดส่งท้ายปีต่อต้นปี เป็นโอกาสอันดีที่จะไปไหว้พระขอความเป็นสิริมงคล หากวางแผนจะใช้วันหยุดยาวไปกับการท่องลมหนาวเสียให้สะใจ ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องถึงกับไหว้พระ 7 วัด 9 วัด...

แค่มีเวลาวันเดียว หรือครึ่งวันก็พอ กับกิจกรรมดีๆ ที่กรมศิลปากรจัดให้ "นบพระนวรัฐ พระปฏิมา 9 แผ่นดิน"

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ 9 พระองค์ ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งรวบรวมมาจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาอย่างใกล้ชิดเนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่ ปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2556 ถึง 26 มกราคม 2557 เวลา 09.00-16.00 น.

โดยมี พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของไทย เป็นประธาน และพระพุทธรูปอีก 8 พระองค์ ล้วนแล้วแต่เป็นพระปฏิมาซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันเป็นมงคลตามตำนาน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามคติอันเป็นมงคล พระพุทธรูปที่มีมงคลนาม และพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุมงคล

 

(จากซ้าย) พระพุทธรูปแสดงธรรม, พระพุทธรูปประทานธรรม, พระธยานิพุทธไวโรจนะ

 

พระปฏิมา 9 แผ่นดิน ประกอบด้วย...

1.พระพุทธรูปแสดงธรรม

พระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดีตอนปลาย หรือศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 เชื่อว่าคนที่มากราบเสมือนได้ขอพรแด่พระพุทธเจ้า และขจัดความไม่ดีทั้งหลาย

เป็นพระพุทธรูปยืนแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) หัตถ์ขวาจีบนิ้วพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) และพระดรรชนี (นิ้วชี้) เป็นวงกลมแทนธรรมจักร ด้วยเป็นพระพุทธรูปมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา สันนิษฐานว่าพ่อค้า ชาวเรือ หรือนักบวชได้นำติดตัวจากอินเดียหรือลังกามายังดินแดนสุวรรณภูมิเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ในการเดินทาง

นับเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกในดินแดนประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นหลักฐานแสดงว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่จากดินแดนชมพูทวีปหรือลังกาทวีปมาสู่ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1,400-1,500 ปี

2.พระพุทธรูปประทานธรรม

พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เชื่อจะนำความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

เป็นพระพุทธรูปประทับยืน หัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทรา (ปางประทานธรรม) หัตถ์ซ้ายกำชายจีวรไว้อย่างหลวมๆ ในสมัยทวารวดีถือเป็นสัญลักษณ์ของคาถาอริยสัจ "เย ธมฺมาฯ" ซึ่งเป็นคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา


(จากซ้าย) พระไภษัชยคุรุ, พระหายโศก, พระพุทธสิหิงค์

 

เนื้อความในคาถาที่ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ แปลว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ (ทุกข์) พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น (สมุทัย) และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น (นิโรธ) พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้ พุทธศาสนิกชนถือกันว่าเป็นธรรมอันวิเศษ ดุจได้สดับพระธรรมจากพระพุทธองค์

จึ่งถือเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

3. พระธยานิพุทธไวโรจนะ

พระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เชื่อว่าจะทำให้เกิดปัญญาและเห็นทางสว่างในการดำเนินชีวิต

พระธยานิพุทธไวโรจนะแสดงธรรมจักรมุทรา หัตถ์ขวาจีบนิ้วแทนพระธรรมจักร หัตถ์ซ้ายประคองหมุนธรรมจักร แสดงถึงการเคลื่อนไปแห่งธรรม มีนางตาราประทับยืนด้านซ้ายและขวาของบัลลังก์ ทั้งสองถือดอกบัวในระดับพระอังสะและแสดงปางประทานพร นาม "ไวโรจนะ" แปลว่า ผู้รุ่งโรจน์ หมายถึง ดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่ชาวโลก เปรียบดังผู้มีธรรมะเป็นประทีปส่องสว่างแก่โลก

เชื่อกันว่า มนต์แห่งแสงสว่างจะช่วยขจัดความมืดบอดทางปัญญาและช่วยให้สัตว์โลกหลุดพ้นจากสังสารวัฏ "โอม อโมฆะ ไวโรจนะ มหามุทรา มณิปัทมะ ชวาละ ประวรรตตยา หูม"

4.พระไภษัชยคุรุ

พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 17-18 ตามความเชื่อในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน ซึ่งมีผู้นิยมนับถือกันมากที่สุดองค์หนึ่งในจีนและทิเบต ว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์

เชื่อว่าถ้าผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและทางใจได้มากราบ สามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่พระปฏิมาไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุ หรือพระพุทธเจ้าแพทย์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ประทับเหนือขนดนาคและมีเศียรนาคแผ่พังพานปกรูปพระปฏิมา หัตถ์แสดงปางสมาธิ มีผอบบรรจุโอสถหรือน้ำอมฤต สัตว์โลกที่เจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ สามารถพ้นจากโรคภัยได้ ด้วยการถวายเครื่องบูชาแก่พระปฏิมาไภษัชยคุรุ การสวดพระธารณีหรือมนต์ประจำ การออกพระนามและการตั้งจิตรำลึกแน่วแน่ในพระนามของพระองค์

 

(จากซ้าย) พระชัยเมืองนครราชสีมา, พระพุทธรูปมารวิชัย, พระพุทธรูปหยกรัสเซีย

 

ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1742-1760) โปรดให้สร้าง "พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภา" เป็นพระปฏิมาประธานใน "อโรคยาศาล" จำนวน 102 แห่ง ทั่วทั้งราชอาณาจักร ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันด้วย

5.พระหายโศก

พระพุทธรูปศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าจะทำให้หมดทุกข์หมดโศก

พระหายโศก พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย คว่ำหัตถ์ขวาเหนือพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงเบื้องล่าง หมายถึงการอ้างพระธรณีเป็นพยาน ประทับขัดสมาธิเพชร (พระบาทไขว้กันแลเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง) ด้านหลังที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ว่า "พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน 1 11+ 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศก ศักราช 1218" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2399 ในรัชกาลที่ 4 พระนาม "หายโศก" เป็นนามมงคลที่นำมาซึ่งความรื่นเริงยินดี ไม่มีความทุกข์โศก

6.พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย- ล้านนา อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 เชื่อว่าเป็นพระพุทธมงคลประจำบ้านเมืองจะปกป้องสิ่งไม่ดีทั้งปวง

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ พระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง สร้างขึ้นตามตำนานที่ปรากฏในนิทานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งแต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1945-1985 แม้ตำนานจะกล่าวว่า พระพุทธรูปมีความเก่าแก่และได้รับเคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 700 แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏน่าจะเป็นปั้น-หล่อขึ้นในช่วง 500-600 ปีที่ผ่านมา ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย

การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชาก็หมายถึง พระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้นด้วย ดังความของพระโพธิรังสี กล่าวไว้ว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"

7.พระชัยเมืองนครราชสีมา

พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 เชื่อว่าขจัดมารอุปสรรคอำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล

พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะแบบศิลปะอู่ทอง มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี ที่องค์พระโดยรอบ อาทิ คาถากาสลัก หัวใจพระรัตนตรัย และคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ เป็นต้น

"พระชัย" หรือ "พระไชย" นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้นมา เพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ ใช้เชิญไปในกระบวนเสด็จฯ เพื่อประทับแรมนอกพระนคร และอัญเชิญตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่า พระชัยพิธี สำหรับขจัดอุปสรรคต่างๆ และอำนวยพรให้พิธีกรรมสำเร็จผล

8.พระพุทธรูปมารวิชัย

พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 เชื่อว่าผู้ที่บูชาจะมีชัยชนะด้วยบารมี 30 ทัศน์แห่งพระพุทธองค์

พระพุทธรูปมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา จีวรแนบพระวรกาย ที่ฐานประดับรูปกองทัพพญาวัสวดีมารกำลังยกทัพมาจากเบื้องซ้ายและพ่ายแพ้กลับไปทางเบื้องขวาของพระพุทธองค์ โดยมีแม่พระธรณีบีบมวยผมหลั่งน้ำที่พระพุทธองค์ทรงกระทำบารมีไว้ท่วมกองทัพมารจนพ่ายแพ้ไป โดยปกติพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งแสดงพระหัตถ์ในอิริยาบถ "ภูมิสปรรศมุทรา" แสดงถึงพุทธประวัติตอนชนะมารบูชาเพื่อชัยชนะ และน้อมระลึกถึงบารมี 30 ทัศน์แห่งพระพุทธองค์

9.พระพุทธรูปหยกรัสเซีย

พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างฟาแบร์เช่ ประเทศรัสเซีย เชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภ

พระพุทธรูปสลักจากหยกประเภทเนฟไฟรต์ ซึ่งพบอยู่ทางแถบภูเขาซายานในไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย จำหลักเป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ไม่มีพระอุษณีษะ ลักษณะแบบไทยประเพณีแต่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ที่ใต้ฐานพระพุทธรูปจารอักษรสองบรรทัด ระบุผู้สร้าง และปีสร้าง บรรทัดบนเขียนว่า "FABERGE" บรรทัดล่างเขียนว่า "1914"

พระพุทธรูปสลักจากรัตนะหรือหินมีค่าหายาก ซึ่งเราเรียกกันว่า "พระแก้ว" พระหยกรัสเซียองค์นี้ มีสีเขียวเข้มดุจสีมรกต จึงเรียก "พระแก้วมรกต" ถือกันว่าเป็นของประเสริฐซึ่งหาได้ยาก บูชาเพื่อความดี ความงาม ความประเสริฐ และความมีโภคทรัพย์

ทั้งนี้ พระพุทธรูปทั้ง 9 องค์ ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาติ นับว่าเป็นสิ่งประเสริฐและหาชมยาก

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

ที่มา นสพ.มติชน 

Credit: http://variety.teenee.com/index000.htm
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...