ตำนานวันปีใหม่ (ทั่วโลก)
แต่โบราณเนิ่นนานมาแล้ว หลายชาติในโลกนี้ เริ่มวันปีใหม่ไม่ตรงกัน
ชาว ไอยคุปต์ ชาวฟินิเชียน และชาวอิหร่าน นับวันที่ 21 กันยายน
เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในขณะที่ชาวโรมันใช้วันที่ 21 ธันวาคม ชาวเยอรมันโบราณ กำหนดวันปีใหม่ ราวปลายเดือนพฤศจิกายน สมัยจักรพรรดิซีซาร์ ใช้ปฏิทินแบบยูเลียน จึงมีการ เปลี่ยนจากวันที่ 21 ธันวาคม มาเป็นวันที่ 1 มกราคม
ชาวคริสเตียน เริ่มวันปีใหม่วันที่ 25 มีนาคม
แต่อังกฤษสายแองโกลแซกซอน ใช้วันที่พระเจ้าวิลเลียม ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ คือวันที่ 25 ธันวาคม ต่อมาพระเจ้าวิลเลียม ก็กลับประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม ชาวอังกฤษใช้อยู่พักใหญ่ สิ้นรัชกาลพระเจ้าวิลเลียม ก็หันกลับไปใช้วันที่ 25 มีนาคม กันอีก พ.ศ.2125 หลายประเทศในยุโรปที่นับถือคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เปลี่ยนไปใช้ปฏิทิน แบบกรีกอเรียน พร้อมใจกันใช้วันที่ 1 มกราคม อีกครั้ง
ประเทศไทย สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ใช้วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนอ้าย
ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ที่เรียกว่า...ตรุษ ส.พลายน้อย เขียนเรื่องปีใหม่ไว้ในหนังสือ เกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย อธิบายว่า ถ้านับตามเกณฑ์จุลศักราช ก็ตกราววันที่ 13 เมษายน ในรัชกาลที่ 5 ประกาศวันขึ้นปีใหม่ตามระบบสุริยคติ คือวันที่ 1 เมษายน จนมาถึงรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2483 รัฐบาล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม
สมัยโบราณ ไม่เพียงกำหนดวันปีใหม่ไม่เหมือนกัน
ขนบประเพณีวันปีใหม่ก็ไม่เหมือนกัน อินเดียนแดง เผ่าเชโรกี เมื่อถึงวันปีใหม่ก็จะก่อกองไฟ แล้วเอา เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ ทุกอย่างโยนเข้าเผาในกองไฟ จากนั้นก็เริ่มใช้เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของใหม่ ก่อนคริสต์ศักราช 3 พันปี ชาวบาบิโลน(ดินแดนอิรักปัจจุบัน) จะมีพิธีบวงสรวงสุริยเจ้ามาดุ๊ก เรียกว่าพิธีแซกมัก ติดต่อกัน 11-12 วัน ชาวอิหร่าน มีความเชื่อว่า ไข่เป็นนิมิตดีแห่งชีวิต มีความหมายถึงการเริ่มต้น จึงนิยมส่งไข่ ซึ่งระบายสีเปลือกสวยงาม เป็นของขวัญ ในวันที่เรียกว่า...รื่นเริงไข่
ชาวยิวนิยมส่งไข่เป็นของขวัญวันปีใหม่ เหมือนกัน
ต่างกันตรงที่ไข่ชาวอิหร่าน เป็นไข่ดิบ ไข่ชาวยิวเป็นไข่สุก ส่งไปแล้วถึงเวลาหิว ก็ปอกเปลือกกินได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาก่อกอง ไฟต้มไข่ให้สุกเหมือนไข่อิหร่าน
ชาวกะเหรี่ยง มีธรรมเนียมไปล่าอ้น...!ในรู เอามาต้มยำทำแกง
จากนั้นก็ชวนเครือญาติไปเซ่นไหว้ต้นไม้ใหญ่ ที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่ ได้เวลาก็ยกเครื่องเซ่นกลับมากินกันในครอบครัว แต่การกินแกงอ้น ก็มีเงื่อนไข พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ลูกหลานล้อมวงกินก่อน ส่วนเขยให้รอคิว ของเหลือ หรือไม่เหล่าเขยก็ต้องออกไปล่าอ้นมาต้มยำทำแกงกินเอง แต่ก็ต้องอยู่ในกติกา เขยใหญ่ ได้กินก่อนเขยเล็ก
ชาวฮินดู ใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่
นิยมกินใบกะเพรา พวกเขาถือว่า กินใบกะเพรา จะมีสิริมงคลคุ้มครองให้โชคดี ตลอดปี ผู้เขียนเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าการกินใบ กะเพราจะกินแบบใบสดๆ หรือนำมาผัดกับเนื้อ! เช่น ไก่ผัดกะเพราของไทย มีผู้พยายามสืบค้นต้นตำนานความนิยมกินใบกะเพราของชาวฮินดู แล้วก็พบว่า เพราะ ชาวฮินดูนับถือเทวีตุลสิ มเหสีพระองค์หนึ่งของพระนารายณ์เทวีตุลสิโปรดประทับอยู่ในใบกะเพรา วันขึ้นปีใหม่ ชาวฮินดูจึงไปหา ใบกะเพรา มากิน เพราะเชื่อว่าเมื่อกินใบกะเพราแล้ว เท่ากับได้อัญเชิญเทวีตุลสิ ไว้คุ้มครองป้องกันให้ตัวเอง.
คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ