ปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นทางสังคมมากมายตลอดทั้งปี บางประเด็นนำไปสู่กระบวนการแก้ไขที่สำคัญ บางประเด็นเป็นการตีแผ่กระจ่างแจ้งให้สังคมได้รับรู้ แม้ว่า โซเชียลฯ จะเต็มไปด้วยข้อเสียมากมาย ข่าวลือ ข่าวแอบอ้าง หรือข่าวที่ไม่เป็นความจริง แต่ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของคนยุคนี้ก็ได้คลุกคลีกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเลี่ยงไม่ได้
■ “ทวงคืนผัดกะเพราไม่ใส่ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน และหัวหอมใหญ่”
วันที่ 11 มีนาคม 2556 เพจหนึ่งในเฟซบุ๊กกลายเป็นกระแสสังคมออนไลน์ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กับเพจที่ใช้ชื่อว่า “ทวงคืนผัดกะเพราไม่ใส่ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน และหัวหอมใหญ่” ที่มีจุดประสงค์ออกมาเรียกร้องและทวงคืน เมนูอาหารยอดนิยมตลอดกาล ผักกะเพรา ที่พบว่าในปัจจุบัน ไม่ใช่ผัดกะเพรารสชาติดั้งเดิมอีกต่อไป มีการใส่วัตถุตดิบผิดแปลกจากเดิม เช่น ถั่วฝักยาว, ข้าวโพดอ่อน หรือแม้กระทั่งไม่มีใบกะเพราในผัดกะเพรา เพจดังกล่าวเป็นที่นิยมเป็นชั่วข้ามคืน หลายคนเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของผู้ตั้งเพจ ที่รู้สึกเหมือนเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ปัจจุบันไม่มีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวอยู่แล้ว
■“น้องก็อต” ยามหนุ่มวัยเอ๊าะ
สมัยนี้ใครๆ ก็ดังได้เพียงชั่วข้ามคืน ปรากฏการณ์ ยามหล่อ ช่วยทำให้ชื่อของ “น้องก็อต” ยามหนุ่มวัยเอ๊าะที่ถูกโพสต์แชร์เต็มโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานที่มหาวิทยาชัยเชียงใหม่ มีรายการโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ จับจองคิวตัวไปสัมภาษณ์กันให้เพียบ อีกทั้งยังมีแฟนเพจในเฟซบุ๊กที่เป็นช่องทางแจ้งเบาะแส “ยามหล่อ” อีกหลายคน แม้จะเป็นความโด่งดังแค่ข้ามคืน แต่หลังจากทุกอย่างลงตัว “น้องก็อต” ก็ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม เพียงแต่ว่ามีโลโก้ติดตัวเป็น หนึ่งในยามหล่อที่สุดในประเทศไทย
■“ปรากฏการณ์เพลงดัง กลายมาเป็นกระแสร้อนแรง”
ปรากฏการณ์เพลงดัง กลายมาเป็นกระแสร้อนแรงในโซเชียลฯ ก็พบเห็นได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเพลง “รักต้องเปิด(แน่นอก)” ที่โด่งดังเป็นพลุแตก เกิดการเต้นคัฟเวอร์ เต้นล้อเลียน หรือพวกไม่สร้างสรรค์..เต้นเปลือยอก(ปลอม) จนมีคลิปฉาวว่อนเน็ต จนโดนตราหน้าด่ากันเละ หรือจะเพลงที่ฮิตเว่อร์ “ขอใจเธอแลกเบอร์โทร” เพลงนี้คงต้องขอบคุณโซเชียลฯ ถ้าจุดเริ่มต้นไม่ได้ “คุณน้อง 2 หนุ่มเต้นสะบัด” ในสนามวอลเลย์บอล เพลงนี้คงจะไม่ได้เกิด รวมทั้งเพลงฮิตระดับโลก “ฮาเร็มเชค” นี่ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ความบ้าคลั่งที่โยกหัวส่ายสะโพกกันเมือง และตามมาด้วยคลิปเต้นของพวกพิเรนทร์
■“อั้ม เนโกะ”
เดือนกันยายน 2556 ชื่อของ “อั้ม เนโกะ” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานากับพฤติกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยคนนี้ จุดเริ่มที่กลับมาเฉิดฉายในวงสังคมได้อีกครั้งกับประเด็น ต่อต้านใส่ชุดนักศึกษา ที่มีติดโปสเตอร์ยั่วยวน มองว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นข้อบังคับ ก่อนจะมีการออกสื่อพูดชี้แจงประเด็นดัง รวมทั้งภาพขุดคุ้ยต่างๆ ที่ชาวเน็ตค้นหามาแฉ รวมถึงประเด็นทางการเมืองที่ไม่เห็นชอบกับการที่มหาวิทยาลัยหยุดการเรียนการสอน สอดคล้องกับการชุมนุมกลุ่ม กปปส. พยายามนำธงสีดำขึ้นสู่เสาธง สร้างประเด็นไม่หยุดหย่อน สำหรับนักศึกษาสาว(ไม่แท้) “อั้ม เนโกะ”
■“ประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดเอง“
วันที่ 12 มีนาคม 2556 ประเด็น “ประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดเอง” ขณะกำลังวิ่งอยู่บนรางรถไฟสูงจากพื้นดินประมาณ 12 เมตร กลายเป็นกระแสวิจารณ์ เมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียล ภาพรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท ช่วงเวลา 10.00 น. ผู้โดยสารยังคงคับคั่ง รถไฟฟ้ากำลังจะเลี้ยวเข้าจอดสถานีสยาม แต่ประตูรถกลับเปิดออกก่อนจะถึงสถานี เป็นความผิดพลาดที่น่าตกใจ โดยเฉพาะกับพฤติกรรมผู้โดยสารคนไทยบางคนที่มักฝ่าฝืนยืนใกล้หรือพิงประตู แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้รับการชี้แจงออกมาในภายหลังว่า “เป็นความสับสนของพนักงานขับรถไฟฟ้า”
■คำว่า “ภาษีคนโสด”
วันที่ 6 กันยายน 2556 คำว่า “ภาษีคนโสด” ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วโซเชียลมีเดีย กลายเป็นข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ หนังสือพิมพ์ชั้นนำตีขึ้นหน้าหนึ่งคึกโครม จนทำให้บรรดา “คนโสด” ตื่นตัว!! “ฉันโสด..ทำไมถึงซ้ำเติมฉันได้” ซึ่งอย่างไรก็ตาม ภาษีคนโสด เป็นเพียงแค่แนวคิดให้เวทีเสวนา ที่มองว่าในอนาคตอาจจะต้องออกนโยบายให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปัญหาเรื่องแรงงาน และสังคมผู้สูงอายุในไทย อีก 10 ปีข้างหน้า โดย คนโสด คนไม่มีลูก ควรจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม นักวิชาการต่างๆ ก็ไม่เห็นด้วยกันแนวคิดดังกล่าว และไม่แนะนำให้มีการหยิบขึ้นมาใช้จริง เพราะเป็นการปัดภาระให้ผู้อื่น
■“สภากาชาดไม่รับเลือดตุ๊ด”
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 กลายเป็นประเด็นโด่งดังในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เมื่อมีคลิปวิดีโอด่าดุเดือด ชื่อ “สภากาชาดไม่รับเลือดตุ๊ด” หลุดออกมาเผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ชาย 3 คน เปิดฉากวิพากษวิจารณ์ด่ากราด วลีฮิต “ไม่รับเลือดตุ๊ด” เนื่องจากต้องการไปบริจาคเลือด แต่แพทย์กลับบอกว่า “ไม่มีนโยบายรับเลือดจากเพศที่สาม เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี” จึงทำให้กลุ่มคนเพศที่สามรู้สึกไม่พอใจและเหมือนถูกเหยียดเพศ เพราะไม่ว่าเพศใดก็มีความสุ่มเสี่ยงเท่ากัน
■เกิดเหตุท่อประปาขนาดใหญ่แตก สี่แยกมักกะสัน
วันที่ 17 ตุลาคม 2556 ท่ามกลางสภาพอากาศวิปริต อิทธิพลจากพายุนารี ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน เกิดเหตุท่อประปาขนาดใหญ่ สี่แยกมักกะสัน แตกระหว่างการเดินสายไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้มวลน้ำจำนวนมากไหลทะลักเอ่อท่วมถนน ตลอดใช้เวลาเป็นวันกว่าจะซ่อมแซมปิดท่อได้สำเร็จ แต่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในโซเชียลฯ เมื่อถูกนำมาตัดต่อล้อเลียน เรียกรอยยิ้มได้ตลอดทั้งภาพ เกิดภาพล้อเลียนเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก เช่น จา พนม ผุดขึ้นมาจากท่อ, สัตว์ประหลาดไคจูบุกกรุงเทพฯ หรือ ท่อประปากลายเป็นหมอสุกี้เพื่อสุขภาพ
■แนวคิดของ สพฐ. ที่จะดำเนินการ “ถอดวิชานาฏศิลป์”
วันที่ 14 ตุลาคม 2556 ประเด็นร้อนแรงสุดๆ เมื่อเหล่าดาราศิลปินคนดัง ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กออกมาต่อต้านแนวคิดของ สพฐ. ที่จะดำเนินการ “ถอดวิชานาฏศิลป์” ออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ โดยเห็นว่าเป็นวิชาที่ฉุดรั้งให้คุณภาพการศึกษาไทยด้านอื่นๆ ตกต่ำ จนกลายเป็นที่มาของวลีที่ว่า “กูเรียนรำ” มีคนดังหลายคนไม่เห็นด้วย เช่น ตุ๊กกี้ สุดารัตน์, ม้า อรนภา หรือ ดี๋ นิติพงษ์ ซึ่งภายหลังมีการชี้แจงว่า วิชานาฏศิลป์ แค่ถูกนำไปบรรจุรวมอยู่ในกลุ่มวิชาศิลปะ ยังคงมีการสอนขับร้องหรือฟ้อนรำ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่า นาฏศิลป์ เพียงเท่านั้นเอง
■เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ถูกจับจ้องเล่นงานด้วย
ปี 2556 เป็นปีที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ถูกจับจ้องเล่นงานด้วย “คลิปวิดิโอ” ปีนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก จนโด่งดังกลายเป็นประเด็นสังคมอยู่หลายกรณี เช่น คลิปตำรวจดินแดงวิ่งหนีประชาชน หลังจับได้ว่าพาเหยื่อสาวเข้าโรงแรม, คลิปตำรวจทองหล่อที่ถูกอ้างว่าก่อเหตุข่มขืนสาวชาวลาว, คลิปตำรวจจราจรยัดข้อหาฝ่าไฟแดง ทั้งที่ขับผ่านไฟเขียวมา หรือ คลิปภาพตำรวจรีดไถ่ประชาชน ที่ทำให้ขณะนี้ “กล้องวิดีโอ” กลายเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหวาดผวากันไปตามๆ กัน
■“เลิกเกรียน เลิกสั้นเสมอหู”
วันที่ 9 มกราคม 2556 ปัญหาเรื่องทรงผมของนักเรียนยังคงเป็นปัญหาได้ทุกยุคทุกสมัย กระทั่งมีการคำสั่งออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ “เลิกเกรียน เลิกสั้นเสมอหู” อนุญาตให้นักเรียนหญิงสามารถไว้ผมยาวได้ นักเรียนไว้ทรงผมแบบรองทรงได้ กรณีดังกล่าวก็กลายเป็นข้อถกเถียงในโซเชียลฯ บางส่วนเห็นด้วยกับการยกเลิก เพื่อให้เด็กแสดงตัวตนของตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง ผมสั้นหรือผมยาวก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเรื่องผลการเรียน ขณะที่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากทำให้เด็กไม่อยู่ในกฏระเบียบ ไม่เชื่อฟังคำสั่งของโรงเรียน
■พฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์
ปี 2556 เป็นอีกปีที่วงการศาสนาแปดเปื้อน พฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ ทั้งภาพและคลิปหลายเหตุการณ์กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม เช่น คลิปพระเณรคำฟุ่มเฟือย นั่งเครื่องบินเจ็ท ขับรถหรู หิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม คลิปพระสงฆ์ด่าผู้โดยสารหญิงบนรถไฟฟ้า เทศน์สอนหยาบคาย ก่อนจะไปโผล่มีประเด็นกับผู้โดยสารบนรถตู้อีกครั้ง หรือ ภาพถ่ายคล้ายคนนุ่งจีวร นั่งทานอาหารร้านดังในห้างกับสีกา รวมทั้ง คลิปเณรเต้นหรือภาพเณรกระทำอนาจาร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สังคมออนไลน์เมืองพุทธขยาดกับผู้ที่ละกิเลสไม่ได้แต่ห่มผ้าเหลือง
■ส.ส.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.กระทรวงคมนาคม
ส.ส.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.กระทรวงคมนาคม กลายเป็นนักการเมืองที่มีผู้คนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กพูดถึงและชื่นชอบให้การทำงานแบบลงพื้นที่และคอยรายงานผลดำเนินงานให้ประชาชนได้รับทราบอยู่เสมอผ่านทางเฟซบุ๊ก ภาพ ส.ส.ชัชชาติ นั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างไปกระทรวง หรือ นั่งรถไฟชั้น 3 ไปดูงานที่ต่างจังหวัด รวมทั้ง ยังเอาใจใส่เรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการขนส่งทั่วประเทศ ลงพื้นที่ไปแก้ไขด้วยตัวเอง แม้กระทั่งหลุดตำแหน่งเป็น รักษาการฯ ยังมีผู้คนหลายคนเสียดาย ถึงขนาดยกย่องให้เป็น รมว. คนเดียวที่ทำงานจริง เห็นผลงานจริง แม้อีกหลายมุมมองจะเห็นว่าเป็น การสร้างภาพ ก็ตาม