ฮาโดรซอร์ นักกินพืชผู้รักสงบแห่งยุคครีตาเชียส

หลัง จากโลกเข้าสู่ยุคครีตาเชียสเมื่อราว 140 ล้านปีก่อน ได้มีการปรากฏขึ้นของไม้พุ่มและพืชดอก ซึ่งพืชเหล่านี้ได้กระจายพันธุ์ไปทั่วภาคพื้นทวีปจนกลายเป็นท้องทุ่งและได้ กลายเป็นอาหารชนิดใหม่ของเหล่าไดโนเสาร์กินพืช และไดโนเสาร์กินพืชกลุ่มใหม่ที่เข้าครอบครองท้องทุ่งของโลกยุคครีตาเชียสนี้ ก็คือ พวกฮาโดรซอร์

ฮา โดรซอร์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มไดโนเสาร์ปากเป็ด พวกมันปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางยุคครีตาเชียสและมีวิวัฒนาการมาจากพวกอีกัว นาดอนซึ่งเป็นไดโนเสาร์ออนิโธพอดที่แพร่หลายในช่วงต้นของยุคนี้ พวกมันมีริมฝีปากแบนกว้างเพื่อให้เหมาะสำหรับการก้มลงกินไม้พุ่มเตี้ย ๆ ตามพื้นดิน ขากรรไกรสั้น ปากมีลักษณะเป็นกระพุ้งแก้มและมีฟันบดเคี้ยวจำนวนมากสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเคี้ยวอาหารจำพวกพืชที่แข็งและเหนียว  มีลำตัวอวบหนา ขาคู่หลังใหญ่กว่าคู่หน้าและใช้หางในการทรงตัว ซึ่งจากลักษณะโครงสร้างบ่งชี้ว่าพวกฮาโดรซอร์น่าจะเดินโดยใช้ขาทั้งสี่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถยืนและอาจวิ่งด้วยขาหลังทั้งสองได้  

    (เอ็ดมันโทซอรัส)

ในยุคครีตาเชียสโดย เฉพาะช่วงปลายของยุคนั้น พวกฮาโดรซอร์เป็นไดโนเสาร์ที่มีจำนวนมากที่สุด โดยเฉพาะในซีกโลกเหนือซึ่งประกอบด้วย อเมริกาเหนือ เอเชียและยุโรป ซึ่งการที่พวกมันมีจำนวนมากทั้งยังอยู่ในช่วงปลายยุคนี่เอง จึงทำให้มีการค้นพบซากของมันในลักษณะที่พิเศษกว่าไดโนเสาร์ชนิดอื่น ๆ โดยนักโบราณชีววิทยาได้ค้นพบซากฟอสซิลของฮาโดรซอร์บางชนิดเช่น อแนทโทซอรัสและเอ็ดมันโทซอรัส ที่นอกจากจะชิ้นส่วนโครงกระดูกเกือบครบถ้วนแล้วยังมีเนื้อและผิวหนังติดอยู่ ด้วย ซึ่งซากที่พบนี้ได้บอกให้รู้ว่า ผิวหนังของพวกมันเต็มไปด้วยเกล็ดที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ แบบเดียวกับหนังกิ้งก่า

(อแนทโทซอรัส)

นอกจากจะมีจุดเด่นตรง ปากที่คล้ายเป็ดแล้ว ฮาโดรซอร์อีกหลายชนิดยังเพิ่มความแปลกประหลาด โดยบนหัวของมันจะมีหงอนลักษณะพิเศษสะดุดตา อย่างเช่น พาราซอโรโลฟัสที่มีหงอนยาวบนหัว โคริโธซอรัสที่มีหงอนรูปครึ่งวงกลม ลัมบิออซอรัสซึ่งมีหงอนเป็นรูปขวาน และชิงเตาเซารัสที่มีหงอนเป็นแท่งชี้ตรงไปข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่า หงอนรูปร่างประหลาดเหล่านี้น่าจะใช้ในการดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้ามแบบ เดียวกับพวกนกเงือก นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าพวกฮาโดรซอร์อาจจะใช้หงอนรูปร่างประหลาดเหล่านี้ ส่งเสียงสัญญาณเรียกพวกพ้องด้วย


(พาราซอโรโลฟัส)

(โคริโธซอรัส)

สำหรับพฤติกรรมของพวก ฮาโดรซอร์นั้น นักโบราณชีววิทยาได้ค้นพบซากจำนวนมากของพวกมันในบริเวณเดียวกันซึ่งแสดงให้ เห็นว่า พวกนี้อาศัยอยู่รวมเป็นฝูง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการเอาตัวรอด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ แต่ฮาโดรซอร์ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าพวกซอโรพอด คอยาว ทั้งยังไม่มีอาวุธอย่างเขา หนาม หรือมีเกราะไว้ป้องกันตัว ทำให้พวกมันกลายเป็นอาหารโปรดของบรรดานักล่าชนิดต่างอย่าง ไทรันโนซอรัส อัลเบอโทซอรัส และไดโนนิคัส  ดังนั้น การอยู่รวมเป็นฝูงขนาดใหญ่จึงทำให้พวกมันสามารถช่วยกันระวังภัยจากพวกนักล่า ได้ ทั้งยังกระจายความเสี่ยงที่พวกมันแต่ละตัวจะตกเป็นเหยื่อได้อีกด้วย

(ลัมบิออซอรัส)


(ชิงเตาซอรัส)

นอกจากจะอาศัยอยู่รวม เป็นฝูงใหญ่แล้ว ฮาโดรซอร์หลายชนิดยังสร้างรังสำหรับฟักไข่อยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นนิคมขนาด ใหญ่แบบเดียวกับพวกนกเพนกวินด้วย โดยฮาโดรซอร์ชนิดแรกที่ถูกค้นพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวคือ ไมอาซอร่า โดยนักโบราณชีววิทยาได้ขุดพบซากรังพร้อมไข่ของพวกไมอาซอร่า อยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลักฐานที่พบยังแสดงให้เห็นด้วยว่า นอกจากจะรวมฝูงกันทำรังแล้ว ไมอาซอร่ายังดูแลลูก ๆ ของมันเป็นอย่างดี ซึ่งนี่เองที่กลายเป็นที่มาของชื่อของมัน ที่แปลว่า กิ้งก่าคุณแม่ผู้แสนดี

(ไมอาซอร่า)

ฮาโดรซอร์จำนวนมากได้ สูญพันธุ์ไปก่อนถึงปลายยุคครีตาเชียส แต่ก็ยังมีอีกหลายชนิดที่ยังคงอยู่รอดได้จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของยุคดัง กล่าว อันแสดงถึงความสามารถในการเอาตัวรอดของไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้ ทว่าเมื่อการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่มาถึงเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว พวกฮาโดรซอร์ก็หนีไม่พ้นจุดจบเช่นเดียวพร้อม ๆ กับบรรดาสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนมหาศาลที่อยู่ร่วมยุคเดียวกับพวกมัน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...