ขณะที่กองทัพหน้าของ มองโกลกำลังทำศึกในโปแลนด์นั้นในเวลาเดียวกันทางตอนใต้ บาตูและสุโบไต ก็นำกำลังเข้าไปในฮังการี และเคลื่อนพลด้วยความเร็ว 40 ไมล์ต่อวันท่ามกลางหิมะที่ตกลงมา หลังจากดยุคเฮนรี่และคนของพระองค์พ่ายแพ้ กษัตริย์ เบลาที่ 4 ได้นำกำลังพลราว 70,000 นาย ออกจากกรุงเปสต์ เพื่อรวมกับกำลังเสริมจากเหล่าขุนนางและเผชิญหน้ากองทัพมองโกล
กองทัพฮังการีซึ่งมี ทหารรวมเกือบหนึ่งแสนนายเป็นฝ่ายรุกเข้าหาทัพมองโกล ซึ่งล่าถอยอย่างช้า ๆ ไปจนถึงที่ราบโมอี (Mohi) ใกล้แม่น้ำซาจ (Sajó River) ชาวมองโกลล่าถอยผ่านแนวไม้ไกลออกไป บนฝั่งตรงกันข้ามและหายไป เมื่อทอดพระเนตรดังนั้น กษัตริย์เบลาทรงรับสั่งให้ตั้งค่ายบนที่ราบโมฮีและให้นำเกวียนมาล้อมเป็นวง เพื่อใช้เป็นแนวป้องกัน ด้วยการสนับสนุนของหน่วยอาวุธยิง พวกมองโกลได้เข้ายึดสะพานเหนือแม่น้ำซาจ ได้ในวันที่ 10 เมษายน อย่างไรก็ตาม ชาวฮังการีได้เข้าโจมตีสะพาน ที่มีทหารม้าเบามองโกลคุมอยู่ พวกมองโกลตัดสินใจถอนกำลังจากสะพาน ปล่อยให้ฝ่ายฮังการีเข้าควบคุมเอาไว้ได้ จากนั้นกษัตริย์เบลาจึงเสริมแนวป้องกันค่ายด้านตะวันออกเอาไว้อย่างแน่นหนา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายมองโกลจะสูญเสียการควบคุมสะพานไป สุโบไตก็ได้พบจุดที่จะข้ามน้ำได้ บริเวณทางตอนใต้ ก่อนเช้าวันที่ 11 เมษายน เขาได้นำทหารม้า 30,000 นาย ลอบข้ามฝั่งไป ขณะที่บาตูนำกำลังเข้าโจมตีพวกฮังกาเรียนที่รักษาสะพานอยู่ สุโบไตรีบเคลื่อนกำลังขึ้นเหนือ และเข้าตีกองหลังของพวกฮังการี ในเวลา 7.00 นาฬิกา ทหารฮังการีเมื่อถูกตีกระหนาบจึงล่าถอยกลับเข้าค่าย
หลายชั่วโมงต่อจาก นั้น ชาวมองโกลได้โจมตีค่ายของกษัตริย์เบลา ด้วยเครื่องยิงหิน ถังน้ำมันระเบิด ธนูเพลิง แม้แต่ประทัด อาวุธเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักของชาวยุโรปมาก่อน เสียง และแสงที่น่ากลัวของมัน ทำลายขวัญและกำลังใจของทหารฮังการีเป็นอันมาก ขณะที่การโจมตียังดำเนินอยู่ ทันใดนั้น สิ่งประหลาดก็เกิดขึ้น ชาวฮังการีพบว่า กองทัพมองโกลที่กำลังล้อมค่ายของพวกเขาอยู่นั้น ได้เปิดช่องว่างทางตะวันตก ทหารฮังการีบางส่วนตัดสินใจหนีออกจากวงล้อมทางด้านนั้น และในที่สุดทหารจำนวนมากก็หนีตามออกไปจนไม่อาจควบคุมได้ ขณะที่ทหารฮังการีกำลังถอยทัพอย่างไม่เป็นกระบวนนั่นเอง ทหารมองโกลก็ปรากฏตัวขึ้น พวกเขาควบม้าเข้ากระหนาบสองปีกของกองทัพฮังการีและระดมยิงธนูเข้าใส่ กองทัพฮังการีต่างแตกตื่นและสับสน จนแตกแถว กระจัดกระจาย เมื่อสุโบไตเห็นว่าพวกเขาเสียกระบวนทัพแล้ว จึงสั่งทหารม้าหนักเคลื่อนกำลังเข้าสังหาร ทหารม้ามองโกลควบม้าเข้าไปในหมู่ทหารฮังการี และใช้ทวนกับดาบโค้งสังหารทหารเหล่านั้นล้มตายไปนับไม่ถ้วน บันทึกกล่าวไว้ว่า นักรบยุโรปเกือบ 70,000 นาย ถูกสังหาร
ในวันนั้น หลังการสังหารหมู่จบสิ้นลง บาตูและสุโบไตได้รวมกำลังกับ คาดาน ซึ่งเพิ่งเสร็จภารกิจของตน ทั้งนี้สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพย่อยของคาดานได้เผาและปล้นสะดมตลอดทาง ในแถบโมลดาเวีย บูโควีนา และทรานซิลวาเนีย รวมทั้งเอาชนะกองทัพข้าศึกได้สามทัพ ในเวลาเดียวกับที่ สุโบไตและบาตูทำลายกองทัพกษัตริย์เบลา ที่โมอี แม่ทัพคาดานก็เข้ายึดป้อมที่แข็งแกร่งของ เฮอร์มานสตัดท์ (Hermannstadt) ได้ แม้ว่าพวกทหารและชาวเมืองที่รักษาป้อมจะต่อสู้ป้องกันอย่างไม่คิดชีวิตก็ตาม แม้จะพ่ายแพ้ แต่กษัตริย์เบลาก็ดูจะโชคดีกว่าดยุคเฮนรี่ พระองค์เสด็จหนีไปได้และล่าถอยไปยังออสเตรีย ทว่าพระองค์ก็ทรงถูกจับเป็นเชลยโดย ดยุคเฟรดเดอริค เจ้าผู้ครองออสเตรีย คู่อริเก่า หลังจากต้องแลกอิสรภาพของพระองค์ด้วยเงินค่าไถ่จำนวนมหาศาลรวมทั้งต้องเสีย หัวเมืองด้านตะวันตกให้กับดยุคเฟรดเดอริกแล้ว กษัตริย์เบลา ก็ยังต้องปะทะกับทัพของคาดาน ที่ดาลมาเตีย ในที่สุดพระองค์ต้องล่าถอยไปตั้งมั่นบนเกาะแห่งหนึ่งในทะเลเอเดรียติก ใกล้กับทราอู (Trau) ในโครเอเทีย
ชาวยุโรปต่างตื่น ตะลึงกับข่าวการพ่ายแพ้ของยุโรปตะวันออกในเวลาเพียงไม่กี่วัน ทั้งชาวโปลและชนชาติอื่น ๆ ต่างกล่าวพวกมองโกลไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นปีศาจ ชัยชนะของพวกเขามาจากอำนาจเวทมนต์ แต่ความจริงนั้น พวกมองโกลไม่ได้ใช้เวทมนต์อะไรเลย ชัยชนะของพวกเขามาจากมีระบบบังคับบัญชาที่ดี มียุทธวิธีการโจมตีที่ประสิทธิภาพและมีกองทัพที่มีระเบียบวินัย ซึ่งกองทัพยุโรปในยุคนั้นล้วนขาดสิ่งเหล่านี้
ทว่าเรื่องที่น่า พิศวงที่สุด ก็คือ การรุกรานของมองโกลต่อยุโรปได้หายไปอย่างฉับพลัน หลังจากชัยชนะที่ลีกนิตส์ กองทัพมองโกลภาคเหนือถอนทัพจากโปแลนด์และไม่เคยกลับเข้าไปอีก ชาวยุโรปยุคนั้น เชื่อกันว่า เนื่องจากพวกมองโกลเองก็ได้รับความเสียหายอย่างมากจากการรบจนไม่อาจทำสงคราม ต่อไปได้ และทุกวันนี้ชาวโปลยังคงเฉลิมฉลองในวันที่ 9 เมษายน ในฐานะที่พวกเขาสามารถปกป้องประเทศของเขาและอาจรวมถึงเยอรมันและยุโรปตะวัน ตกทั้งหมดจากการรุกรานของนักรบป่าเถื่อนจากตะวันออกเอาไว้ได้ แต่ความจริงมีอยู่ว่า ไคดูและบัยร์ดา ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะรุกเข้าไปในยุโรปมากกว่านี้ เนื่องจากไม่อยู่ในจุดประสงค์ของพวกเขา ซึ่งที่จริงแล้วพวกเขาทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ผลอย่างดีเยี่ยม ด้วยกำลังทหารม้าเพียงสองทูมัน หรือราว 20,000 นาย พวกเขาได้ทำลายกำลังของโปแลนด์ รวมทั้งขับไล่ทัพโบฮีเมียนของเวนเซสลาส ประสบความสำเร็จ หลังภารกิจเสร็จสมบูรณ์ พวกเขาเดินทัพลงใต้และรวมทัพกับกำลังหลักในฮังการี ก่อนจะพักทัพที่โมราเวียน
พวกมองโกลไม่ได้อยู่ ในฮังการีนานนัก ในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1241 การ์ข่านโอกาไตสวรรคต ในเอเชีย เมื่อทราบว่าข่านผู้ยิ่งใหญ่สวรรคต สุโบไตเตือนให้เจ้าชายทั้งสามในกองทัพระลึกถึงธรรมเนียมที่ต้องกลับไปร่วม พิธีพระศพของจอมข่าน ซึ่งเจงกีสข่าน ได้บัญญัติไว้ว่า หลังการตายของจอมข่าน แม่ทัพและขุนนางเชื้อพระวงศ์ทุกคนต้องกลับมองโกล เพื่อเข้าร่วมพิธีคัดเลือกจอมข่านคนใหม่ หลังการเรียกตัวกลับ กองทัพมองโกลเริ่มต้นเดินทางกลับเมืองหลวงคาราโครัม และเลื่อนการโจมยุโรปไปก่อน ทว่าพวกมองโกลก็ไม่เคยยกทัพกลับไปอีก อย่างไรก็ตาม สงครามในยุโรปตะวันออกก็ได้ผลทางอ้อมในการค้ำประกันความปลอดภัยของพรมแดนของ จักรวรรดิทางด้านนี้ ในเวลาต่อมาข่านบาตูได้ตั้งอาณาจักรโกลเดนฮอร์ด (Golden Horde) ขึ้น และครอบคลุมเนื้อที่ส่วนใหญ่ของรัสเซียกับยูเครน โดยมีเมืองหลวงชื่อ ซาราย (Sarai)
สำหรับสงครามในยุโรป ตะวันออกของกองทัพมองโกลแม้จะได้ผลในการค้ำประกันพรมแดน แต่เมื่อเทียบกับสงครามครั้งอื่น ๆ ที่พวกมองโกลเคยได้รับชัยชนะแล้ว การโจมตีที่น่าสยดสยองที่ลีกนิตส์และการสังหารหมู่ในสมรภูมิที่โมอีรวมทั้ง การทำลายล้างยุโรปตะวันออก ดูเหมือนมันจะเป็นสงครามที่ไร้ประโยชน์ เพราะแม้ชาวมองโกลจะได้รับชัยชนะแต่ก็ไม่ได้ใช้ผลของชัยชนะอย่างเต็มที่ พวกเขาไม่ได้ครอบครองดินแดนแห่งนี้ แต่กลับยกทัพจากไปโดยทิ้งไว้เพียงซากศพของผู้เสียชีวิตและบ้านเมืองที่พัง พินาศ ไม่ผิดอะไรกับมรดกแห่งฝันร้ายที่พวกมองโกลทิ้งไว้ให้กับชาวยุโรปทั้งมวล